คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลากว่า8 ชั่วโมงครึ่ง ในการไต่สวนพยานบุคคล 10 ปาก ในคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องกรณีถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคุณสมบัติการเป็น ส.ส. กรณีการถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อ โดยพยานทั้งหมดตอบข้อซักถามของศาล และให้คู่กรณีซักภามเพิ่มจนสิ้นกระแสความ และให้จ่ายค่าศาลคนละ 1,000 บาทถ้วน อนุญาตให้ถอดเทป คำให้การ และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 14.00 น.และให้คู่กรณียื่นปิดคำแถลงภายใน 15 วัน หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจ
หรับพยานบุคคล 10 ปาก ของนายธนาธร ประกอบด้วย 1.นายธนาธร 2.นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธร 3.นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยานายธนาธร 4.นายปิติ จรุงสถิตย์พงศ์ 5.นายทวี จรุงสถิตย์พงศ์ 6.น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม พนักงานบริษัทวีลัคฯ 7.น.ส.กานต์ฐิตา อ่วมขำ พนักงานบริษัทวีลัคฯ 8.นายณัฐนนท์ อภินันท์ ทนายความ 9.นายพิพัฒพงศ์ รุจิตานนท์ ทนายความ 10.นายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถของนายธนาธร
โดยนายธนาธร ให้การเป็นพยานปากแรก ชี้แจงว่า บริษัทดังกล่าวก่อตั้งมากว่า 10 ปี ตัวเองมาถือหุ้นช่วง 5 ปีหลัง จากการที่มารดาต้องการให้ภรรยาตัวเองมีธุรกิจบางอย่างดูแล และตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารและดำเนินการใดๆของบริษัท ก่อนที่จะโอนหุ้นตั้งแต่ วันที่ 8 ม.ค. 2562 แล้ว
โดยศาลและทนายความของ กกต.ฝ่ายผู้ร้อง เน้นการซักถามถึงการเดินทาง ตารางงานการนัดหมายของนายธนาธรและที่อยู่ รวมถึงการปราศรัยหาเสียงว่าอยู่ที่ไหนบ้างก่อนการปราศรัยที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งวันเดียวกันที่มีการโอนหุ้น โดยนายธนาธร ย้ำว่า จำรายละเอียดไม่ได้ แต่มีหลักฐานทุกอย่างที่จะนำมาแสดงต่อศาลได้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการจัดตารางงานและการเดินทางต่างๆ รวมถึง ส.ส.ของพรรคหลายคนอยู่ในพื้นที่ร่วมกับนายธนาธรด้วย
ขณะที่ศาลและฝ่ายผู้ร้อง มุ่งซักถามประเด็น การขายและโอนหุ้นของนางสมพร ซึ่ง นางสมพรให้การยืนยันถึงการซื้อหุ้นจากนายธนาธรและภรรยา ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 จ่ายเป็นเช็คเงินสด อย่างไรก็ตามบริษัทวีลัคฯ ขาดทุนต่อเนื่องและคิดจะปิดกิจการและไม่มีพนักงานเหลืออยู่แล้ว แต่ติดสัญญากับสายการบินแห่งหนึ่งที่จะต้องทำปิดต้นฉบับสุดท้ายปลายเดือนธ.ค. 2561
และหลังจากซื้อหุ้นจากนายธนาธรแล้ว จึงได้พูดคุยกับหลาน 2 คนคือ นายปิติและนายทวี และโอนหุ้นให้โดยไม่ได้ซื้อขายในวันที่ 14 ม.ค. 2562 เพื่อให้ดูแลกิจการ และหลังจากทั้งคู่ได้ทำการศึกษาแล้ว นำสู่การประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 มี.ค. 2562 มีการเสนอแผนธุรกิจที่ต้องระดมทุนเพิ่มกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งนางสมพร เห็นว่าจะเป็นการไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงตัดสินใจให้ทั้ง 2 คนคืนหุ้นกลับมา และดำเนินการในวันที่ 21 มี.ค. 2562 เพื่อปิดกิจการ โดยทำธุรกรรมที่บ้านนางสมพรทั้ง 2 ครั้ง
ขณะที่ นายปิติและนายทวี ก็ได้ให้การตรงกับนางสมพร ทั้งเวลาการโอนหุ้นทั้ง 2 ครั้งที่ไม่ใช่การซื้อขายหรือไม่มีการจ่ายเงิน, การประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการต้องระดมทุนเพิ่มและบุคคลที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม รวมถึงคำให้การของนางสาวลาวัลย์ ในฐานะฝ่ายบัญชีและผู้เตรียมเอกสารต่างๆ และน.ส.กานต์ฐิตา ซึ่วเป็นฝ่ายการเงิน ซึ่งทั้ง 2 ได้ลงชื่อรับรองการโอนและซื้อขายด้วย และให้การไปในทิศทางเดียงกัน
ส่วนนางรวิพรรณ ก็ได้ให้การถึงการขายหุ้นให้กับนางสมพร ตรงกับนายธนาธรและพยานปากอื่นๆที่อยู่ในเหตุการณ์
กรณีที่ศาลและฝ่ายผู้ร้องซักถาม เกี่ยวกับการยังไม่ขึ้นเช็คภายในวัน สัปดาห์หรือเดือนเดียวกันที่ได้รับเช็คนั้น นางระวิพรรณ ให้การว่า เนื่องเป็นการซื้อขายกันภายในครอบครัว จึงเชื่อว่าเช็คจะไม่เด้งอย่างแน่นอน อีกทั้งยังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ไม่สะดวกที่จะไปขึ้นเงิน และไม่ได้เร่งรีบใช้เงินสดด้วย จึงได้ขึ้นเช็คเป็นเงินสดในเดือนถัดๆมา