ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อเข้าสู่เดือน มิ.ย. เราคงเห็นหลายแบรนด์ หลายบริษัททั่วโลกมีการเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ‘เดือนไพรด์’ (Pride month) เดือนแห่งความหลากทางเพศ ที่กลับมีจุดเริ่มต้นจากผลพวงของความโหดร้ายในประวัติศาสตร์

ตั้งแต่เรื่องราวของมนุษยชาติถูกบันทึก และส่งต่อมาถึงปัจจุบันจนกลายเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ เรื่องเพศเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกส่งต่อผ่านความเชื่อมาว่า ธรรมชาติสร้างชายกับหญิงมาเป็นคู่ของกัน ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ถูกกีดกันออกจากสังคมมาโดยตลอด

แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น เมื่อการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมของ LGBTQIA+ ครั้งใหญ่ถูกบันทึกร่วมกับประวัติศาสตร์อื่นๆ จากเหตุการณ์การจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riot) ในวันที่ 28 มิ.ย. 2512 ตำรวจบุกเข้าจับกุมผู้คนในบาร์เกย์ของโรงแรมสโตนวอลล์ ในมหานครนิวยอร์ก ตามกฎหมายห้ามเสิร์ฟเหล้าให้ชายรักเพศเดียวกัน จากการกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นสายลับให้กับประเทศคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้บาร์เกย์กลายเป็นสถานที่ผิดกฎหมาย 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับพนักงานและผู้ใช้บริการ กระตุ้นให้กลุ่ม LGBTQIA+ ในสหรัฐฯ เริ่มตอบโต้กฎหมายที่กดทับตัวตนของพวกเขา การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศจึงร้อนระอุทั่วสหรัฐฯ โดยมีหนึ่งในนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงอย่าง มาช่า พี จอห์นสัน หญิงข้ามเพศผิวสีที่ทำงานเป็นแดร็กควีน ในบาร์เกย์ของโรงแรมสโตนวอลล์ ที่ขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีการเรียกร้องสิทธิทางเพศตลอดชีวีตของเธอ

หลังเหตุการณ์สโตนวอลล์ ผู้คนในชุมชนความหลากหลายทางเพศทั่วโลกกล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง และสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ มากขึ้น เดือน มิ.ย. จึงถูกเลือกให้เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ LGBTQIA+ ทั่วโลกได้เรียกร้องสิทธิและแสดงความเป็นตัวเองออกมา โดยไม่ต้องกลัวจะถูกกีดกันเหมือนในอดีต

ข้ามจากฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ มายังฝั่งตะวันตก อีกสัญลักษณ์หนึ่งของเดือนไพรด์คงหนีไม่พ้นธงสีรุ้ง โดยจุดเริ่มต้นของธงสีรุ้งที่ประดับประดาตามท้องถนน หรือโลโก้บริษัทต่างๆ ในเดือน มิ.ย. มีที่มาจาก ฮาร์วีย์ มิลก์ นักการเมืองที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ต่อสาธารณะคนแรกของสหรัฐฯ มอบหมายให้ศิลปินและนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ กิลเบิร์ต เบเกอร์ ออกแบบธงฉลองงานไพรด์ ในซานฟรานซิสโก ก่อนที่จะได้ธงสีรุ้งเพื่อสะท้อนเฉดสีที่หลากหลายเหมือนเพศที่ก็มีความหลากหลายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเฉลิมฉลองในเดือนไพรด์ ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่ม LGBTQIA+ คนอื่นๆ ก็สามารถร่วมเฉลิมฉลอง เป็นการสนับสนุน รับฟัง และตระหนักถึงการสิทธิที่กลุ่ม LGBTQIA+ ควรได้รับ ไม่ต่างอะไรไปจากทุกๆ คน เพราะเราล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์เท่ากัน

ในปีนี้เองทั่วโลกได้ร่วมเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเดินขบวน การจัดนิทรรศการ หรือประดับธงสีรุ้งตามสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศประกาศจัดงาน “นฤมิตไพรด์” ไพรด์พาเหรดครั้งแรกของกรุงเทพฯ ในวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 15.00 น. ณ ถนนหน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) สู่ถนนสีลม


Voice Online ร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้

BE PRIDE

BE PROUD

BE YOU!

#HappyPrideMonth2022


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2022/06/01/health/pride-month-explainer/index.html