ไม่พบผลการค้นหา
รอง ผอ.ชีววิถี ชี้ 'ความมั่นคงทางอาหาร' ต้องประกอบด้วย การเข้าถึงอย่างสะดวกและช่องทางที่หลากหลาย แต่ไทยมีปัญหาทั้งสองมิติซึ่งสะท้อนออกมาในภาวะวิกฤตโควิด-19 อย่างชัดเจน

ก้าวเข้ามาสู่สัปดาห์ที่ 3 ของการปิดบ้านปิดเมืองเพื่อตั้งป้อมสู้กับโควิด-19 อย่างเป็นทางการ และนอกจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจตามเกณฑ์กระทรวงสาธารสุข(สธ.) วัฒนธรรมการกินอาหารอันยั่งยืน มั่นคง เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศก็มีข่าวไม่เว้นแต่ละวันเช่นเดียวกัน 

ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นกินพื้นที่สื่ออยู่เกือบหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ก่อนจะมาต่อที่การปรับขึ้นราคาค่าธรรมเนียมกับร้านค้าจนเหมือนจะกลายเป็นการขูดรีดแทนการทำธุรกิจของแพลตฟอร์มส่งอาหารชื่อดัง หรือก่อนหน้านั้นที่ประชาชนมีความตื่นตระหนกพากันกักตุนสินค้าจนของบนชั้นวางหายเกลี้ยง ไม่ว่าจะดัชนีมาม่า ปลากระป๋อง หายวับไปในพริบตา 

ไข่ไก่

สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าสรุปแล้วประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารจริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เป้าหมายของประเทศคือการพยายามเป็นอู่ข่าวอู่น้ำของโลกด้วยซ้ำ แต่พอเกิดวิกฤตซึ่งไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตด้วยซ้ำ ประชาชนกลับต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่าเวลาปกติ ทั้งๆ ที่รายได้ลดลงหรือกลายเป็นศูนย์ไปแล้ว 

ล่าสุด 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' ได้สัมภาษณ์พิเศษในประเด็นดังกล่าวกับ 'กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา' รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี ที่ชี้ประเด็นหลัก 2 ประการกับสิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญหน้าในวิกฤตปัจจุบัน และหากจะโทษใครในวิกฤตนี้ก็คงต้องโทษเท่าๆ กัน คือโทษทั้งตัวเอง และโทษทั้งผู้กำหนดนโยบาย 

ชีววิถี
  • 'กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา' รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี

ถ้าอยู่ไกล ถึงมีเงินก็ไม่มีปัญญาซื้อ 

องค์ประกอบแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างความมั่นคงทางอาหารคือการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ไม่ว่าจะด้วยการซื้อหรือไม่ซื้อแบบไม่ทุลักทุเลมากนัก ซึ่งหมายความว่า 'ประชาชนต้องอยู่ใกล้กับอาหาร'

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง 'กิ่งกร' ใช้คำว่าประชาชนมีระยะห่างจากอาหารมากเกินไป ความห่างนี้มาทั้งในความหมายตรงตัวคือสถานที่ปลูกอาหารให้รับประทานนั้นอยู่ไกลเกินไป ยิ่งเมื่อเข้ามามองพื้นที่ในกรุงเทพมหานครจะยิ่งพบว่าพื้นเกษตรกรรมนั้นล้มหายตายจากแทบหมดแล้ว ความศิวิไลซ์ที่มาเยือนเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเป็นร้านสะดวกซื้อ 

ทัศนคติของประชาชนในปัจจุบันเองก็มองว่าอาหารเป็นสิ่งที่หากินได้ง่าย ยิ่งในประเทศไทยทุกอย่างยิ่งเอื้อเฟื้อแนวคิดนี้เข้าไปอีก ไทยมีร้านค้าที่เปิดกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า มีร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงแทบทุกหัวถนน ประชาชนจึงรู้สึกว่าตนเองมีความมั่นคงทางอาหารแล้ว คือรู้สึกปลอดภัยแล้วเมื่ออยู่ใกล้สถานที่เหล่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าทำไมโฆษณาที่พ่วงมากับการขายที่พักอาศัย จึงนำเสนอว่ารอบโครงการมีสถานที่เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

ต่อคิวซื้อของ ประชาชน ซุปเปอร์มาเก็ต-กักตุน

อย่างไรก็ตาม วิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า อาหารยังต้องเป็นอาหารที่ต้องเพาะปลูก ดังนั้นการอยู่ใกล้อาหารไม่ได้หมายถึงการอยู่ใกล้สถานที่ขายสินค้าที่บริษัทรายใหญ่ไปรับมาแต่คือการอยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกอย่างแท้จริง วิกฤตหลายครั้งที่ทำลายสายพานการส่งอาหารมายังชั้นวางสินค้าบนร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความมั่นคงทางอาหารไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีร้านสะดวกซื้ออยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยของประชาชน 

กิ่งกร ย้ำว่า "ตอนนี้มันไม่ได้เป็นปัญหาว่าเราไม่มีปัญญาจะซื้อ แต่มันไม่มีคนขาย เราไปไม่ได้หรือมีความลำบาก เราก็เลยอยากจะให้มีอาหารใกล้ๆ ก็พากันกักตุน แต่ทีนี้เวลากักตุน คุณก็กักตุนได้แต่ของแห้ง ก็ซัดมาม่า ปลากระป๋องกันเป็นเดือน น่าจะไม่ไหว เพราะว่าแทนที่จะตายด้วยโควิด ก็อาจจะตายด้วยโรคไตก่อน"

นอกจากนี้ ระยะห่างที่ผู้คนมีกับอาหารยังมาในเชิงของความรู้ ทั้งความรู้ในการเพาะปลูกกินเองที่ห่างไกลตัวมากแล้ว ก็ยังไม่มีความรู้ว่าอาหารมันเพาะปลูกอยู่ตรงไหนด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกว่าเมื่อเกิดวิกฤตประชาชนเลยไม่รู้ว่าจะหาอาหารได้จากที่ไหน 


มั่นใจ 'นายทุน' สูงไป เลยไม่มั่นคง 

ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารคือความหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่การมีอาหารที่หลากหลายรับประทานแต่คือความหลากหลายในการกระจายสินค้า

กิ่งกร อธิบายว่าความไม่เอื้อเฟื้อที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในปัจจุบัน คือประเทศมีความมั่นใจในการจัดการกับอาหารระบบเดียวซึ่งมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ดูแลเพียงอย่างเดียว ประชาชนฝากความหวังกลุ่มทุนเหล่านั้นจะสามารถจัดการอาหารให้ได้ตลอดเวลา และเมื่อ "เรามั่นใจสูงเกินไป เราก็เลยขาดความมั่นคงในภาวะวิกฤต" 


รองผู้อำนวยการชีววิถีชี้ว่าปัจจุบันวงการค้าปลีกประเทศไทย มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 3 บริษัทที่ครองสัดส่วนตลาดถึงครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารทั้งหมด และ 1 ใน 3 ของบริษัทนี้ก็กำลังพยายามพูดคุยเข้าซื้อกับอีกบริษัทหนึ่งอยู่ตามข่าวที่เกิดขึ้นซึ่งหากมีการซื้อขายจริงก็จะทำให้บริษัทนี้กินส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกอาหารถึงร้อยละ 70 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารคือระบบการจัดการที่หลากหลาย ผสมผสาน มีทั้งรายใหญ่ รายเล็ก มีร้านสะดวกซื้อซึ่งสำคัญสำหรับประชาชนในเมืองใหญ่ แต่ก็จำเป็นต้องมีระบบที่เอื้อให้รายเล็กรายน้อยอย่างตลาดสดหรือรถพุ่มพวงด้วย ซึ่ง 'กิ่งกร' ก็แสดงความกังวลว่าประชาชนจะสามารถพึ่งให้รัฐบาลกำจัดการผูกขาดได้มากน้อยแค่ไหน

'กิ่งกร' ปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องศึกษาจากวิกฤตครั้งนี้คือวิธีการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เพราะ "นี่ไม่ใช่วิกฤตสุดท้าย เราจะมีวิกฤตชนิดนี้ ในลักษณะใกล้เคียงกันนี้่ไม่มีที่สิ้นสุด"