ไม่พบผลการค้นหา
ไทยสู้ศึกดึงกลุ่มศักยภาพสูง-มหาเศรษฐี-หัวกะทิโลก ตั้งเป้าสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เปิดตัว LTR Visa อย่างเป็นทางการ พร้อมดึงบุคลากรศักยภาพสูงจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนและพำนักอาศัยระยะยาว ย้ำว่าไทยคือศูนย์กลางแห่งภูมิภาค และเป็นจุดหมายหลักสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว และทำงานของชาวต่างชาติ โดยมีการตั้งกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มหลัก ให้ได้จำนวน 1 ล้านคน ในกรอบ 5 ปี 

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดตัววีซ่าประเภทใหม่ “Long – Term Resident Visa: LTR Visa” ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ย. 2565 ว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาตั้งฐานธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

เว็บไซต์ ThaiGov ระบุว่า LTR Visa มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านทักษะและความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ที่มีความมั่งคั่ง รวมไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของนักเดินทางท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเพื่อการทำงานจากทั่วโลก

“ประเทศไทย อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ที่ต้องเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเปิดประเทศรับชาวต่างชาติอีกครั้ง เรามีเป้าหมายไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง รวมถึงการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเข้ามา เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน และ LTR Visa ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย” ม.ล.ชโยทิตกล่าว

ด้าน ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า LTR Visa จะให้สิทธิประโยชน์กับบุคลากรชาวต่างชาติ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

1) ผู้มีความมั่งคั่งสูง ต้องมีทรัพย์สินมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐ/ปี และลงทุนในไทยไม่น้อยกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐ

2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐ/ปี กรณีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาล หรืออสังหาริมทรัพย์

3) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐ/ปี กรณีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือได้รับเงินทุน Series A

4) ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐ/ปี กรณีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีหรือมีความเชี่ยวชาญในสายงานที่เข้ามาทำในประเทศไทย

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ถือ LTR Visa จะได้สิทธิพำนักในประเทศไทย 10 ปี สามารถใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) และไม่ต้องยื่นขออนุญาตกลับเข้ามาในราชอาณาจักร (Re-entry permit) อนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย โดยลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 17 สำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ และมีผู้ติดตามได้ 4 คน

“วีซ่าประเภทใหม่นี้ คาดว่าจะดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี รวมถึงผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ เพื่อมากระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน และช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยบีโอไอรับหน้าที่กลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ขอวีซ่าประเภทใหม่นี้ ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอทางระบบออนไลน์ได้ที่ https://ltr.boi.go.th” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าว