ไม่พบผลการค้นหา
รฟท. เร่งเวนคืนที่ดิน-โยกย้ายผู้บุกรุก สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ทางด้านประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ระบุ พร้อมไป แต่ยังรอความชัดเจน หลังเรื่องเงียบ หวังเยียวยาที่อยู่ใหม่-ค่ารื้อถอน ออกไปประคองตัว

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท หลังจากที่ลงนามในสัญญาไปเมื่อเดือน ต.ค.2562 กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการ

โดยตามข้อกำหนดได้แบ่งการส่งมอบพื้นที่ออกเป็น 3 ช่วงหลัก คือ ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. ขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปี หลังลงนาม ช่วงสถานีดอนเมือง-พญาไท 22 กม. ขยายเวลาได้ไม่เกิน 4 ปี ส่วนสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ หรือช่วง Airport Rail Link ระยะทาง 28 กม. รอโอนโครงการ


ชุมชนแนวเขตเวนคืนที่ดิน-ผู้บุกรุก ยังรอความชัดเจน

แม้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเจ้าของโครงการที่จะต้องรับผิดชอบในการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนจะระบุว่า การดำเนินการยังสามารถเดินหน้าได้ตามแผน แต่ในส่วนของประชาชนที่จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ทั้งในส่วนของผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดิน รวมถึงผู้ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาตตลอดแนวเขตทางรถไฟ หรือผู้บุกรุก กลับบอกว่ายังไร้ความชัดเจนจากการรถไฟฯ สวนทางระยะเวลาเริ่มตีคู่ขนานเข้าใกล้มาเรื่อย ๆ

ขอเสียงหน่อย รถไฟ
  • มนูญ ขวัญทอง

มนูญ ขวัญทอง หนึ่งในประชาชนที่อาศัยริมเขตทางรถไฟหลังกรมทางหลวง ระบุว่า ถ้าให้ออกจากพื้นที่ก็พร้อมที่จะออกไป แต่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เนื่องจากขณะที่การรถไฟฯ ผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่ได้มาแจ้งความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ทั้งในกรอบของระยะเวลา และการเยียวยาและดูแลกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดความกังวลว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

“ถ้าถามว่าความพร้อมมันไม่มีความพร้อมหรอก เพราะว่าไปก็ไม่รู้จะอยู่ตรงไหน แต่ถ้าถึงเวลาที่เขาไล่จริงๆ ก็ต้องไป ที่ผ่านมาเขาก็แค่มาถามที่อยู่ตรงนี้มีที่กว้างเท่าไหร่ เขามาวัดๆแล้วก็ถามเรียกร้องค่าเสียหายเท่าไหร่ ประมาณนี้ ผมก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรไปก็บอกว่าแล้วแต่จะให้ แล้วเขาก็ไปแล้วหายเงียบไปเลย” มนูญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อาศัยริมเขตทางรถไฟระบุว่า แม้เกือบทั้งหมดจะไม่ได้เรียกร้องอะไรจากการรถไฟฯ แต่หากมีความเป็นไปได้อยากให้การรถไฟฯ ดูแลในส่วนของค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงที่ทำมาหากินด้วย

ขอเสียงหน่อย รถไฟ
  • รัตนา แก้วอ่วม

เช่นเดียวกับ รัตนา แก้วอ่วม กล่าวว่า ค่อนข้างมีความกังวลในการประกอบอาชีพหากต้องไปอยู่ที่อื่น เพราะเดิมอยู่ที่นี่ค้าขายไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่หากย้ายออกยังไม่รู้อนาคตข้างหน้าว่าการไปอยู่ที่อื่นจะประกอบอาชีพอย่างไร จากปัญหาเรื่องสุขภาพ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบต่อการประกอบอาชีพค้าขายโดยตรง ดังนั้นถ้าหากจำเป็นที่จะต้องย้ายออกจริง อยากให้การรถไฟฯ ช่วยเรื่องค่ารื้อถอน ค่าขนย้ายบางส่วน ซึ่งขอให้มีความชัดเจนโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทุกคนได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า

“ก็คงจะเป็นค่ารื้อถอน ค่าขนย้ายอะไรอย่างเนี้ยค่ะ สมมติเราปลูกอย่างเนี้ย ลงทุนไป บางทีเป็นค่าขนย้ายให้เราเป็นค่าดำเนินการไปที่นึงอะไรอย่างนี้ค่ะ” รัตนา กล่าว

ขอเสียงหน่อย รถไฟ
  • ละเอียด สถิตย์

ขณะที่ละเอียด สถิตย์ ประชาชนในชุมชนหลังกรมทางหลวงที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่บุกรุก ระบุว่า ตอนนี้ความชัดเจน 50 : 50 เพราะเดิมการรถไฟฯ บอกว่าจะประชุมใหญ่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีความคืบหน้าอย่างไร ทำให้เกิดความกังวลว่าสรุปแล้วจะต้องย้ายออกหรือไม่ต้องย้ายออก เพราะหากต้องไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน

“ยังไม่ชัดเจนตรงนี้ ตรงนี้ไม่ชัดเจน ก็อยากให้แทงลงมาเลยว่าชัดเจน เราจะได้ซ่อมแซมบ้านได้ คาราคาซังมาตั้งหลายปีแล้วอ่ะ” ละเอียด กล่าว

คมนาคม มั่นใจส่งมอบพื้นที่ทันกำหนด

กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เฉพาะการโยกย้ายผู้บุกรุกที่มีผลกระทบกับโครงการช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ มีผู้บุกรุก 267 หลังคาเรือนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีผู้บุกรุก 302 หลังคาเรือน ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนการยกเลิกสัญญาเช่า 213 สัญญา จะดำเนินการให้เสร็จภายใน ธ.ค. 2563 ส่วน พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน พ.ศ 2562 หรือในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีรายงานว่าจะดำเนินการทำสัญญาเวนคืนที่ดินได้ภายในเดือน ต.ค. 2563

ขอเสียงหน่อย รถไฟ

แม้ว่าการส่งมอบพื้นที่จะขยายระยะเวลาได้สูงสุด 4 ปี แต่จนถึงปัจจุบันการลงนามในสัญญาเริ่มต้นโครงการนี้ล่วงเลยมาแล้ว หรือจะครบ 1 ปีเต็มในเดือน ต.ค. ปีนี้ ซึ่งหากการดำเนินการส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดจากความไม่ชัดเจน อาจจะไปสู่ความล่าช้าของโครงการที่อาจพ่วงมาด้วยค่าเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ด้วย


ขวัญ โม้ชา
ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Voice Online
0Article
0Video
0Blog