ไม่พบผลการค้นหา
เพจ "หมอชนะ" แสดงข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชนที่เคยอยู่ในพื้นที่เดียวกับทหารชาวอียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะที่บางคนสงสัยทำไมแอปฯ "ไทยชนะ" ของรัฐบาลถึงไม่ส่งข้อความแจ้งเตือนแบบนี้บ้าง

เพจ "หมอชนะ" โพสต์ข้อความว่า ขณะนี้ระบบหมอชนะพบ 10 คน ที่ไปห้างแหลมทองในเวลาที่ทหารอียิปต์ไป แล้วได้ส่งข้อความเตือนไปเรียบร้อยแล้่ว หมอชนะหาเจอทั้ง 10 คนด้วยระบบ GPS Tracking พร้อมขอให้ทั้ง 10 คนไม่มีใครติดเชื้อ 


ทั้งนี้มีประชาชนเข้าไปสอบถามยังเพจดังกล่าวว่า ข้อมูลจากแอปฯ "หมอชนะ" นี้ เชื่อมกับข้อมูลจากแอปฯ "ไทยชนะ" ที่รัฐบาลทำขึ้นหรือไม่ ทางแอดมินเพจมาตอบกลับว่า การเก็บข้อมูลมาจากคนละที่กัน แต่สามารถใช้หมอชนะสแกนไทยชนะได้ โดยเช็กอินตามระบบแต่ไม่ต้องเช็กเอ้าท์

14-7-2563 12-05-30.jpg


แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" จัดทำขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ

แอปฯ "หมอชนะ" ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย และมุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การลงทะเบียนใช้แอปฯ จึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ยิ่งกว่านั้น คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยเมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที อีกทั้งการโค้ดแอปยังมีลักษณะเป็น "โอเพ่นซอร์ส (Open Source)" เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่น ๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย

ซึ่งหัวใจการทำงานของแอป อยู่ที่การรายงานผลเป็นค่าสีต่างๆ ตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น

  • สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
  • สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
  • สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
  • สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที