ไม่พบผลการค้นหา
'บุรุนดี' ต้องการให้ประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมจ่ายค่าชดเชยช่วงยึดครองดินแดนและขอคืนทรัพย์สินที่ยึดไปในช่วงระหว่างปี 2442-2505

สื่อวิทยุฝรั่งเศสรายงานว่า วุฒิสภาของบุรุนดีผลักดันให้รัฐบาลอดีตเจ้าอาณานิคมจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุรนดีในช่วงอาณานิคม โดยทางการบุรุนดีมีแผนจะส่งเรื่องดังกล่าวถึงรัฐบาลของเยอรมนีและเบลเยี่ยมในเร็วๆ นี้

ทางบุรุนดีต้องการให้เยอรมนีและเบลเยียมร่วมกันจ่ายค่าชดเชยในช่วงระหว่างถูกปกครองจากทั้งสองประเทศเป็นจำนวนเงิน 42,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,290 ล้านล้านบาท)

นอกจากนี้ ทางการบุรุนดียังเรียกร้องให้ประเทศเจ้าอาณานิคมคืนเอกสาร ทรัพย์สมบัติ และงานศิลปะของชาติที่ถูกขโมยไปในช่วงระหว่างปี 2442 - 2505 (ค.ศ. 1899 - 1962) คืนให้แก่บุรุนดีด้วยเช่นกัน

เมื่อปี 2561 รัฐบาลบุรุนดีได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยนักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาเพื่อสืบสวนและศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศในช่วงการปกครองของอาณานิคม

'บุรุนดี' เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมเยอรมันตะวันออกในแอฟริกาตั้งแต่ปี 2433 และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 บุรุนดีก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเบลเยี่ยม จนกระทั่งประกาศอิสรภาพในปี 2505

ในช่วงระหว่างระหว่างถูกปกครองโดยเบลเยียมนั้น รัฐบาลอาณานิคมได้แบ่งชาวบุรุนดีเป็น 2 กลุ่มหลักคือ ชนเผ่าทุตซีและชนเผ่าฮูตู ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าในช่วงทศวรรษ 70 และสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 12 ปีนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งดังกล่าวมากถึง 300,000 คน

นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 40 - 50 รัฐบาลเบลเยียมยังดำเนินโครงการลักพาตัวเด็กที่มีเชื้อชาติผสมระหว่างบุรุนดีและคองโกอีกด้วย โดยเมื่อปี 2560 คริสตจักรของเบลเยี่ยมออกมาขอโทษต่อการกระทำของคณะศาสนาในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งคาดว่ามีเด็กกว่า 20,000 รายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว

'อัลลอยส์ บาตุงวานาโย' นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโลซานกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเมืองของบุรุนดีทุกวันนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกษัตริย์อัลแบร์ที่ 1 ของเบลเยียม ทรงมีพระราชโองการแบ่งประชากรออกเป็น 3 ชนเผ่าเพื่อปกครอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งในบุรุนดีและภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เนื่องจากประชากรบางส่วนถูกกีดกันออกจากชนชั้นปกครอง

เมื่อปี 2552 เบลเยียมได้ออกแถลงการณ์ขอโทษประเทศบุรุนดีต่อการกระทำดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมา หลายประเทศในแอฟริกาได้ออกมาเรียกร้องให้อดีตเจ้าอาณานิคมออกมาขอโทษและจ่ายค่าชดเชยให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียมทรงมีพระราชสาสน์แสดงความเสียพระทัยต่อความทุกข์และอับอายที่เกิดขึ้นกับชาวดีอาร์คองโกในช่วง 75 ปีที่ตกเป็นอาณานิคมเบลเยียม 

ขณะที่ในปี 2558 รัฐบาลเยอรมนีได้เปิดเจรจากับทางประเทศนามิเบีย โดยรัฐบาลนามิเบียเรียกร้องให้เยอรมนีจ่ายค่าชดใช้และขอโทษอย่างเป็นทางการสำหรับความสูญเสียอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างอาณานิคม

ที่มา DW / Bloomberg /The guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง