ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กล่าวถึงกระแสข่าว กมธ.ฝั่งพรรคเพื่อไทย หนุนให้เพิ่มงบประมาณที่ได้จากการปรับลด จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท แก่งบกลาง ว่า การที่พรรคเพื่อไทยยกมือเพิ่มงบประมาณให้กับงบกลางนั้น มีวัตถุประสงค์ของการใช้เงินไว้อย่างชัดเจนว่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถามว่า พรรคเพื่อไทยผิดอะไร
"ผมถามว่าถ้าไม่เอางบกลางที่ใช้ง่าย เพราะระเบียบในการเบิกจ่ายรวดเร็วควรใช้ในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน คุณจะไปผ่านกระบวนการงบประมาณหรือ เพราะชีวิตคนรอไม่ได้ นี่คือจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคก้าวไกลจะเห็นต่างก็เป็นสิทธิ์ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าการช่วยเหลือชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญ และเงินงบกลางส่วนนี้จะใช้ได้เฉพาะเรื่องโควิดเท่านั้น ถามว่านายกฯจะเอาไปซื้ออาวุธหรือรถถังได้หรืออย่างไร ดังนั้นพรรคก้าวไกลอย่าพูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” นายยุทธพงศ์ กล่าว
ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมาและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ 2565 กล่าวถึงกรณี กมธ. งบประมาณ 2565 มีมติให้นำเงินงบประมาณที่ปรับลดจำนวน 16,362 ล้านบาทไปไว้ที่งบกลางว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสร้างผลกระทบกับประชาชนอย่างหนัก กมธ.งบประมาณส่วนใหญ่จึงมีความเห็นตรงกันว่า การขอเพิ่มงบประมาณ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอมานั้นควรนำมาตั้งไว้ในส่วนของงบกลาง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนสูงสุด
ประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 144 กำหนดว่า ในการพิจารณางบประมาณ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำใดๆ ของ กมธ. มีส่วนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ โดย กมธ.งบประมาณในส่วนของพรรคเพื่อไทย เห็นตรงกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณในข้อวิตกกังวลนี้ และเห็นว่าการนำงบประมาณส่วนนี้ไปไว้ในงบกลาง จะตัดข้อสงสัยว่า ส.ส.หรือ กมธ.งบประมาณ มีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
“การตัดสินใจของ กมธ.งบประมาณ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ไม่เกี่ยวกับสถานภาพ หรือการยอมรับในตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้ ที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน และกำลังจะยื่นญัตติเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจในเร็ววันนี้ อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการกลัวจนเกินเหตุเหมือนที่ กมธ.งบประมาณในส่วนของพรรคก้าวไกลกล่าวอ้าง แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งผ่านการรัฐประหาร ผ่านการยุบพรรคและผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมามากว่า 20 ปี ให้เกียรติ ส.ส. ในการตัดสินใจประเมินความเสี่ยงทางการเมือง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว
ประเสริฐ กล่าวอีกว่า กมธ.งบประมาณในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตในการใช้งบกลางก้อนนี้ที่จะต้องใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ คือเป็นการใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น งบกลาง หรือ งบประมาณรายจ่ายด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร อยู่จะติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น
“พรรคเพื่อไทยขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า พรรคมีความอดทนอดกลั้นมาตลอดในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ที่ต้องการรักษาเอกภาพและบรรยากาศทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้ให้ดีที่สุด ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในกระบวนการทำงานเป็นสิทธิและความเห็นที่พรรคให้เกียรติพรรคร่วมฝ่ายค้านมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการไม่พูดข้อเท็จจริงให้รอบด้าน การพูดในที่ประชุมอย่างหนึ่งแล้วสื่อสารในโซเชียลมีเดียอีกอย่างหนึ่ง เป็นการสร้างความสับสน สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน อาจส่งผลต่อความหวังของพี่น้องประชาชนที่ต้องการเห็นพรรคร่วมฝ่ายค้านทำงานร่วมกัน เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สำเร็จ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว
ด้านภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า การแสดงความเห็นวิจารณ์การตัดคืนงบประมาณไปสู่งบกลาง เพื่อให้รบ.หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ ไปใช้ เพื่อแก้"วิกฤติโควิด"ที่กำลังรุนแรง กลับถูกมองด้วยความแคลงใจจากบางส่วน อยากเสนออีกแง่มุมมองให้พิจารณา มากกว่าโยนข้อหา กล่าวหาให้ร้ายกัน เพราะจะเป็นการบั่นทอนการ
ทำงานร่วมกันโดยไม่จำเป็น วิกฤติที่สุดวันนี้คือ "วิกฤติโควิด" ชีวิตและความทุกข์ปช.วันนี้สุดจะกล่าวการเสนอรวมทรัพยากรไปให้ผู้มีหน้าที่แก้ปัญหาให้ปช.มิใช่เรื่องผิดถ้ามีปัญหาเราคงต้องมาเล่นงานคนที่บกพร่องกันอีกครั้ง ไม่อยากให้เอา"การเมือง"มาใช้จน เป็นอุปสรรคที่ขวางความพยายามช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ปช.
ขอเสนอข้อคิดให้...ผู้หวังดีต่อบ้านเมือง..."มีกันไม่มากนัก พยายามสงวน ข้อแตกต่าง และร่วมมือกันให้มากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า
"อย่าให้ความยึดมั่นของตน เป็นอุปสรรค ทำลายความร่วมมือกันของภาคประชาชนเลย เพราะหนทางข้างหน้า ยังอีกยาวไกล"
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ให้ความเห็นต่อกรณีกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมตินำงบประมาณกว่า 16,000 ล้านบาท จากการพิจารณาตัดลดงบประมาณหน่วยงานต่างๆให้นำไปเป็นงบกลางทั้งหมดว่า คำว่า ‘งบกลาง’ ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด คือ งบประมาณส่วนที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ บางท่านจึงเปรียบว่าเป็น ‘เช็คเปล่า’ของนายกรัฐมนตรี
“การพิจารณางบประมาณแผ่นดินนั้น กรรมาธิการส่วนใหญ่ยึดหลักการรีดไขมันออกจากส่วนต่าง ๆ ที่เห็นว่าอาจยังไม่มีความจำเป็นนักในปีหน้า โดยรีดไขมันออกมาได้ถึง 16,000 ล้านบาทเศษ แต่หน่วยงานต่างๆ ได้แสดงความจำนงเพื่อขอให้ ‘คืน’ งบประมาณที่ถูกปรับลดไปตั้งแต่ชั้นการพิจารณาโดยสำนักงบประมาณและชั้นกรรมาธิการฯ เข้ามาเป็นจำนวนมากกว่าแสนล้านบาท กรรมาธิการจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อคืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษนี้กลับไปอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มากที่สุด ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าควรให้ความสำคัญต่อการนำไปใช้บริหารจัดการสถานการณ์โควิดฯ ในปีหน้า แต่ความเห็นที่ไม่ตรงกัน คือจะคืนงบประมาณไปยังจุดใดที่จะตอบโจทย์นี้มากที่สุด”
สำหรับกรรมาธิการในส่วนพรรคก้าวไกล เห็นว่า การบริหารจัดการงบประมาณทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีและเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรียังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สถานการณ์หลายอย่างสะท้อนถึงความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการงบกลางนี้ และเห็นว่าควรคืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษกลับไปยังหน่วยงานที่จะนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โควิดฯโดยตรง
“อย่าง กองทุน สปสช.หรือ บัตรทอง ได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว จาก 142,000 ล้านบาทเศษ เหลือ 140,000 ล้านบาทเศษ ลดลงไป 2,000 ล้านบาทเศษ โดยมีการจัดสรรส่วนหนึ่งเพียง 600 ล้านบาทเศษ เพื่อนำไปใช้เป็นค่าบริการสาธารณสุขในกรณีโควิดฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่น่าจะเพียงพอต่อสถานการณ์ที่วิกฤติขึ้นเรื่อย ๆ ทางกองทุน สปสช.เองก็เล็งเห็นถึงปัญหานี้และได้ยื่นความจำนงเข้ามาเพื่อขอให้คืนงบประมาณในส่วนนี้กลับไปเพื่อใช้แก้ไขปัญหาโควิดฯ โดยทางพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วย
“อีกกรณีคือในส่วนของผู้ประกันตนฯ ซึ่งได้รับความดูแลโดยกองทุนประกันสังคม งบประมาณส่วนหนึ่งต้องถูกนำไปใช้เพื่อเป็นค่าชดเชยจากการขาดรายได้จากมาตรการควบคุมต่างๆ ของรัฐ และค่ารักษาพยาบาลทั้งจากกรณีเจ็บป่วยปกติและกรณีโควิดฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่เห็นได้ชัดและแน่นอนว่าจะต้องนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิดฯ ในปีหน้า ดังนั้น แค่สองกองทุนนี้ก็ควรที่จะคืนงบประมาณให้เขากลับไปเป็นหลักหลายพันล้านบาทแล้ว”
นอกจากสองหน่วยงานนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมายที่เห็นว่ามีความจำเป็นโดยตรง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชนทั้งหลาย ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งตัวอย่าง ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในภาวะวิกฤติที่ผ่านมาและในอนาคต ซึ่งการศึกษาของเด็กและเยาวชนถูกปล่อยปละละเลย บริหารจัดการได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
“แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากกลับมีมติคืนงบประมาณทั้งหมดกลับเข้าสู่งบกลางเพื่อให้นายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการได้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าจะมีเงื่อนไขกำหนดให้นำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิดฯก็ตาม แต่คงไม่สามารถรับรองและให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่า ท่านจะนำไปบริหารจัดการได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ เห็นได้อย่างชัดเจนจากการบริหารราชการแผ่นดินในปีที่ผ่านมา และจากการบริหารจัดการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งของความไม่เห็นด้วยของพรรคก้าวไกลต่อการที่กรรมาธิการงบประมาณฯ เสียงข้างมากได้เห็นชอบให้คืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษกลับเข้าสู่งบกลาง
“โดยที่ผ่านมาคงเห็นได้ชัดเจนว่า เราไม่ไว้วางใจท่านประยุทธ์ฯในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น เราจึงไม่อาจเห็นชอบต่อการคืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษนี้กลับไปเข้างบกลาง เพื่อให้ท่านประยุทธ์ฯ บริหารจัดการต่อไปได้อีก งบประมาณส่วนนี้ควรคืนกลับไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อสถานการณ์วิกฤติของบ้านเมืองในปีหน้ามากกว่า เช่น กองทุนบัตรทองและกองทุนประกันสังคม เป็นต้น”