ไม่พบผลการค้นหา
'ธันวา ไกรฤกษ์' ฟ้องศาลปกครองกรณีกรมการขนส่งทางบก บกพร่องตรวจสอบรถปล่อยควันดำ

นายธันวา ไกรฤกษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบก ต่อศาลปกครอง กรณีบกพร่องในการตรวจสอบรถควันดำ ต้นเหตุปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 "เนื่องด้วยวันที่ 5 ก.พ. 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการยกระดับมาตรการต่างๆให้เข้มงวดขึ้นในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 มีระดับสูงกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ทั้งการตรวจสอบรถของ ขสมก.ก่อนออกให้บริการ และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีรถควันดำวิ่งเด็ดขาด รวมถึงกำหนดให้มีการพิจารณาปรับวิธีการ-ปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพประจำปี

จากนั้นวันที่ 1 ต.ค. 2562 คณะรัฐมนตรีก็มีมติคล้ายคลึงกันออกมาอีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้มีการกำชับต่อกระทรวงคมนาคมเป็นพิเศษว่า “ทุกพื้นที่หากตรวจพบรถควันดำที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย จะต้องงดใช้งานจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไข” ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่า สภาพอากาศและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันนั้น รถควันดำยังวิ่งเต็มบ้านเต็มเมือง โดยเฉพาะรถของขสมก.

นายธันวา ระบุว่า ล่าสุดวันที่ 14 ม.ค. 2563 นายกรัฐมนตรีได้หารือกับ รมว.คมนาคม และมอบหมายให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เอาจริงเอาจังในการตรวจจับและดำเนินคดีต่อรถควันดำ ซึ่งคาดว่าในวันที่ 21 ม.ค. 2563 (หลังจากวันที่ข้าพเจ้ายื่นฟ้อง 1 วัน) จะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาในรูปแบบเดิมๆอีกครั้ง เปรียบเสมือน'การดูหนังม้วนเดิมซ้ำซากไปมาไม่มีจบสิ้น'

ซึ่งแท้จริงแล้วการเข้มงวดกวดขันในการตรวจจับรถควันดำนั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้มีมติคณะรัฐมนตรี หรือไม่จำเป็นต้องรอให้นายกฯ สั่งแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว จึงเป็นข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดกรมการขนส่งทางบกถึงปล่อยปละละเลยปัญหามาตลอด จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนต่อสุขภาพร่างกายเป็นจำนวนหลายล้านคน

นายธันวา ย้ำว่า ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จึงขอยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งไปยังกรมการขนส่งทางบก ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยเร่งด่วน ดังนี้ 1.เข้มงวดกวดขันในการตรวจจับรถควันดำ ร่วมกับตำรวจจราจร กรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆตามความเหมาะสม 2.จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางของขสมก.ที่อู่รถก่อนออกวิ่งให้บริการ ให้ครบทุกจุด ทุกคันภายใน 30 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง