ไม่พบผลการค้นหา
ผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์คลุกคลีกับการระบาดของโรคร้ายมามากกว่า 30 ครั้งทั่วโลก แนะนำ 7 วิธีที่ทำให้เธอรอดจากการติดเชื้อ

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCove) ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 100 รายขณะนี้สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งโลกอย่างมาก และโดยเฉพาะในประเทศจีนเองซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อดังกล่าว นอกเหนือไปจากความกลัวก็คือบรรยากาศของความสิ้นหวังของประชาชนที่ไม่รู้จะเอาตัวรอดจากการติดเชื้ออย่างไร 

ลอว์รีย์ การ์เร็ทต์ (Laurie Garrett) ผู้สื่อข่าวด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์คลุกคลีกับการระบาดของโรคร้ายมามากกว่า 30 ครั้งทั่วโลก และยังเป็นนักเขียนเจ้าของรางวัล Pulizer สาขา Explanatory Journalism ประจำปี 1998 ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการระบาดของอีโบลาในสาธารณรัฐซาอีร์ หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน เขียนบทความพิเศษใน เว็บไซต์ ForeignPolicy ชี้ว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาอาจจะได้รับการควบคุมได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หากรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ช่วงแรกของการเริ่มระบาด ออกมาตรการที่รวดเร็วทันท่วงที และไม่ปกปิดข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาเธอได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า "เราจะปกป้องตัวเองและคนในครอบครัวของเราจากโรคร้ายนี้อย่างไร"

จีน - ไวรัสโคโรนา - AFP

ช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) เมื่อปี 2002-2003 ลอว์รีย์มีประสบการณ์ตรงในการเดินทางไปทั่วประเทศจีนและฮ่องกงเพื่อสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคซาร์ส บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไปหา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่น

ลอว์รีย์ยืนยันว่าเธอไม่เคยกังวลเลยว่าจะได้รับเชื้อหรือไม่ แม้ว่าต้องอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วยก็ตาม เพราะเธอปฏิบัติตามสิ่งที่ควรทำอย่างเคร่งครัด ประกอบไปด้วย 7 ข้อที่สำคัญที่สุด ดังนี้

1. สวมถุงมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน จะเป็นถุงมือที่ใส่กันในฤดูหนาวหรือถุงมือสำหรับใส่นอกบ้านทั่วไปก็ได้ ควรใส่ไปทุกที่โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ 

2. หากอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องถอดถุงมือ ห้ามสัมผัสอวัยวะบนใบหน้าเด็ดขาด ไม่ว่าคุณจะรู้สึกคันบนใบหน้าหรือดวงตาแค่ไหนก็ตาม เอามือห่างใบหน้าไว้ดีที่สุด และต้องล้างมืออย่างทั่วถึงด้วยสบู่และน้ำอุ่นก่อนสวมถุงมือกลับคืนทุกครั้ง

3. เปลี่ยนถุงมือทุกวัน ซักให้สะอาดเป็นประจำ และห้ามสวมถุงมือที่อับชื้นเด็ดขาด

4. การสวมหน้ากากอนามัยซ้ำมากกว่าหนึ่งวันคือสิ่งที่น่าขยะแขยงอย่างมาก เพราะหน้ากากอนามัยจะเสื่อมคุณภาพทันทีเมื่อผ่านการใช้งานเพียง 1-2 ครั้ง จึงทำให้การสวมหน้ากากอนามัยไร้ประโยชน์ในการปกป้องเราจากเชื้อโรคทันทีที่ออกจากบ้าน และอาจจะไม่มีประโยชน์เท่าใดนักในการใช้งานภายในอาคารด้วยซ้ำ เพราะอนุภาคต่างๆที่ออกมาจากปากและจมูกของเราจะเคลือบอยู่ที่ผิวด้านในของหน้ากากอนามัย สังเกตได้จากกลิ่นเหม็นเมื่อสูดดม ซึ่งเป็นสิ่งที่แบคทีเรียชอบ

ตลอดการสัมผัสประสบการณ์ที่สถานการณ์โรคระบาดมากกว่า 30 ครั้งทั่วโลก ลอว์รีย์ชี้ว่าเธอสวมหน้ากากอนามัยน้อยมาก สิ่งที่เธอให้ความสำคัญที่สุดคือการอยู่ห่างจากฝูงชนเข้าไว้ อย่างน้อยที่สุดคือการอยู่ห่างจากคนรอบตัวอย่างน้อย 1.5 ฟุต หากพบว่ามีใครไอหรือจามเธอจะขอให้คนๆนั้นสวมหน้ากากอนามัยทันทีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื่อโรคสู่คนอื่นผ่านน้ำลายและเสมหะ หากคนๆนั้นปฏิเสธ เธอจะเดินหนีทันทีและอยู่ห่างออกไปอย่างน้อยที่สุด 3 ฟุต หรือถ้าเป็นไปได้ก็ออกไปจากสถานที่นั้นทันที และต้องไม่จับมือหรือกอดผู้อื่นด้วย

5. เมื่ออยู่ภายในบ้านร่วมกับสมาชิกครอบครัว ห้ามวางผ้าเช็ดตัวหรือผ้าขนหนูใดๆไว้ในห้องน้ำและห้องครัวเป็นอันขาด เตือนทุกคนในบ้านให้ใช้ผ้าส่วนตัวของตัวเองเท่านั้น ห้ามใช้ผ้าร่วมกับผู้อื่น หากสามารถติดป้ายชื่อลงไปบนผ้าส่วนตัวของแต่ละคนได้ก็ควรทำเพื่อป้องกันการใช้ผิด ซักผ้าเช็ดตัวหรือผ้าขนหนูสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะผ้าที่ใช้แล้วและเปียกชื้นคือแหล่งเพาะเชื้อชั้นดีของแบคทีเรียและไวรัส

6. ระวังเรื่องการจับลูกบิดประตูให้มาก ควรใช้ข้อศอกหรือไหล่ในการเปิดประตูเท่านั้น สวมถุงมือก่อนการจับลูกบิด หากต้องจับลูกบิดประตูก็ต้องล้างมือให้สะอาดทันทีหลังการสัมผัส เช่นเดียวกับการจับสิ่งของต่างๆรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ของเล่น อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว หากเป็นสิ่งของส่วนตัวอาจไม่ต้องกังวลมาก แต่หากเป็นสิ่งของส่วนรวมต้องล้างมือทุกครั้งหลังใช้ และห้ามสัมผัสอวัยวะบนใบหน้าเด็ดขาด

7. เมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ต้องใช้ช้อนกลางเท่านั้น ห้ามใช้ช้อนส้อมหรือตะเกียบส่วนตัวตักหรือคีบลงไปในจานอาหารรวมเด็ดขาด นอกจากนั้นก็ต้องไม่ดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้อื่น และพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในร้านที่สกปรก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง