ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับกนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ทำวิจัยเก็บข้อมูลนร.-นศ.ในพื้นที่ม็อบทั่วประเทศเมื่อปี 2563 พบข้อมูลเกี่ยวกับเด็กมัธยมที่ทำให้ผู้วิจัยอึ้ง ดูเหมือนสังคมไทยดูเบา ไม่รู้จักคนรุ่นใหม่กันจริงๆ
ม็อบ16ตุลา สลายการชุมนุม

ความขัดแย้งทางการเมือง ‘ศักราชใหม่’ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน เราถูกเขย่าตั้งแต่ประเด็นต่ำสุดยันสูงสุด ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างการเมืองยันระดับวัฒนธรรม

ผู้ขย่มหลักคือ ‘เยาวรุ่น’ หรือวัยรุ่นตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย คนหนุ่มสาว กระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านี่แทบจะเป็น ‘สงครามระหว่างวัย’ ผ่านสโลแกนการเคลื่อนไหวแบบถึงรากถึงโคน ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ 

ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ความไม่เข้าใจกันที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ‘กนกรัตน์ เลิศชูสกุล’ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาเป็นทูตสันถวไมตรี นำเสนอตัวตนและบริบทของผู้คนหลากวัย ปัจจัยอะไรทำให้คนรุ่นต่างๆ เป็นเช่นที่เป็น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่เลี้ยงมากับมือแต่กลับเหมือนไม่รู้จัก แล้วอนาคตของสังคมไทยกำลังจะไปทางไหน

ความน่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้กนกรัตน์ศึกษาเกี่ยวกับ ‘คนเดือนตุลา’ ซึ่งล้วนอายุ 50-60 ปี ส่วนปัจจุบัน กนกรัตน์ศึกษาคนรุ่นใหม่หรือที่ใช้สัญลักษณ์แทนว่า ‘โบว์ขาว’ (สืบเนื่องจากกระแสผูกโบว์ขาวและชูสามนิ้วในโรงเรียนมัธยมก่อนหน้านี้) งานวิจัยชิ้นนี้พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ ‘สงครามเย็น (ในระหว่าง) โบว์ขาว’ กำลังจะวางแผงเร็วๆ นี้

ทำความเข้าใจ คน 3 รุ่น

การศึกษาของกนกรัตน์เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เยาวชน 350 คน ในพื้นที่การชุมนุม 27 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นเด็กมัธยมราว 150 คนที่เหลือเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จังหวัดที่เก็บข้อมูล ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี เชียงใหม่ สงขลา สุรินทร์ กาฬสินธุ์ เพชรบุรี และปัตตานี การสัมภาษณ์เลือกเป้าหมายหลายเพศสภาวะ เพศวิถี สถานะทางเศรษฐกิจ ประเภทสถาบันการศึกษา สาขาที่เรียน

"คุณจะไม่เชื่อว่า เขาเป็นคนอีกสปีชีส์หนึ่งที่เราไม่รู้จัก"

"ตอนเริ่มต้นไม่คิดว่าจะออกมาเป็นแบบนี้ เวลาพูดถึงคนรุ่นใหม่กับการเมือง เราจะเห็นภาพของนิสิตนักศึกษาเป็นหลัก แต่วันแรกไปที่กาฬสินธุ์ สุรินทร์ คนที่มาร่วมชุมนุมเป็นมัธยมปลาย 80-90% ทั้งที่เป็นจังหวัดเล็กมาก"

"สิ่งที่เด็กมัธยมสนใจมีตั้งแต่เรื่องปัญหาเศรษฐกิจระดับโลก มาจนถึงสตาร์ทอัพในประเทศ จนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโรงเรียน ซึ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความอึดอัด รุ่นเรามันก็อึดอัดประมาณนี้แหละ แต่อะไรทำให้เด็กมัธยมรุ่นนี้แตกต่างจากเรา"

หนังสือ โบว์ขาว

หนังสือเล่มนี้ปฏิเสธการแบ่งรุ่นแบบฝรั่ง แล้วหันมาพิจารณาบริบทสังคมการเมืองแบบไทย โดยแบ่งคนออกเป็น 3 รุ่นหลัก

1. คนรุ่นสงครามเย็น หรือเทียบได้กับรุ่น baby boomer

2. คนรุ่น inbetween (ในระหว่าง/หว่างกลาง) หรือ เป็นลูกของ baby boomer และเป็นพ่อแม่ของรุ่นโบว์ขาว

3.คนรุ่นโบว์ขาว หรือ นักเรียนมัธยม นิสิตนักศึกษา รวมไปถึงคนเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน 

ลักษณะคนรุ่นสงครามเย็น

1.เติบโตมาบนฐานคิดที่กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกของเขาเปลี่ยนแปลงช้า

2.อยู่ในสังคมที่มีลำดับชั้นทางสังคม เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีมาก่อนย่อมอยู่สูงกว่าผู้มาหลัง ฯลฯ

3.กังวลและตั้งคำถามกับประชาธิปไตย ไม่ว่าฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ฝ่ายขวาไม่ไว้ใจประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายซ้ายก็คิดว่าประชาธิปไตยเป็นตัวแทนของจักวรรดินิยมอเมริกา นำมาซึ่งความวุ่นวาย

4.เชื่อเรื่อง law and order ไม่ว่าฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาล้วนเชื่อในอำนาจการสั่งการแบบรวมศูนย์ เชื่อผู้มีบารมีที่มีความรู้ เป็น core value ของคนรุ่นสงครามเย็นทั้งซ้ายและขวา นี่คือหลักที่เขามีร่วมกัน ซึ่งมันตรงข้ามกับคนรุ่นโบขาวอย่างสิ้นเชิง

ลักษณะคนรุ่นโบว์ขาว

"โบว์ขาวเป็นสัญลักษณ์ถึงข้อเรียกร้องของคนอีกเจนเนอเรชันหนึ่ง ที่ไม่ได้พูดถึงเฉพาะการต่อต้านรัฐประหาร การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การเรียกร้องนายกลาออก รัฐธรรมนูญใหม่ แต่มันหมายถึงชีวิตของคนอีกเจนที่เรีกยร้องสิ่งที่จะช่วยปูพื้นฐานให้เขารอดได้ในโลกที่ยากขึ้นมาก มันเป็นเรื่องของคนที่กำลังจะจบมหาลัยอีกไม่กี่เดือนที่เขารู้ทันทีว่าไม่มีงานทำ เด็กที่กำลังเซ็นสัญญากู้ กยศ.เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เด็กที่กำลังเผชิญปัญหาที่ตัวตนของตัวเองแตกต่างจากคนอื่นๆ ในรุ่นก่อนหน้านี้ ความหลากหลายทางเพศ ความคิดที่แตกต่าง ความเชื่อเรื่องอาชีที่แตกต่าง ฐานคิดในการมีชีวิตอยู่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน"

1.เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลง เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนทุกวัน โลกวิ่งเร็วมากสำหรับคนรุ่นนี้

2.ไม่เชื่อเรื่องโครงสร้างลำดับชั้นทางสังคม (hierarchical structure) คนพวกนี้ถูกสอนให้เชื่อว่าคนเราเท่ากัน ลำดับชั้นมีปัญหาสำหรับเขาด้วยซ้ำ เพราะเขาคิดแตกต่างแต่ทำไมไม่มีสิทธิพูด

3.ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมืออันเดียวที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ดูจากการเลือกพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าเราจะชอบไม่ชอบอนาคตใหม่ แต่เขาเชื่อจริงๆ ว่าหนึ่งเสียงของเขาเปลี่ยนโลกได้

4.ไม่เชื่อการใช้อำนาจในการแก้ปัญหา เขาถูก abuse ถูกกดตลอด และเขาเรียนรู้ว่าในโลกที่เปลี่ยนเร็วมาก เครื่องมือแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ฟังก์ชันแล้วตั้งแต่เขาเกิดมา

ลักษณะของคนรุ่น inbetween

“เขาเติบโตมากับความเชื่อของคนสงครามเย็น โลกมันก็โอเคนะ โลกมันเปลี่ยนแปลงช้าๆ ลำดับชั้นทางสังคมก็ทำให้สังคมมันอยู่ได้ การใช้อำนาจเขาก็ถูกกระทำอยู่ประจำ แต่มันก็ยังช่วยให้เขามีชีวิตรอด ในร.ร. มหาลัย และการทำงานในช่วงแรก แต่เมื่อเขาอายุเริ่ม 30 เขารู้ว่าโลกเปลี่ยน เขา detect ความเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่าคนรุ่นสงครามเย็น และเขาก็พยายามสร้างลูกของเขาให้รู้ว่าในโลกที่ยากขึ้นจะอยู่ยังไง แต่เขาอาจยังอยู่ระหว่างกลางใน 3-4 เรื่อง”

1. อุดมการณ์ทางการเมือง เรียนรู้การเมืองแบบอำนาจนิยม ไม่ค่อยรู้จักหรือแน่ใจว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร

2. วัยกลางคน เป็นคนตรงกลางที่ลำบากมาก พ่อแม่ก็กดดัน เลี้ยงลูกยังไงให้ลูกเถียงทุกคำ ขณะที่ก็อยากเลี้ยงลูกให้ทันต่อโลก สร้างโลกใหม่ได้

3. อยู่หว่างกลางในอำนาจทางการเมือง ตอนนี้คนที่มีอำนาจมากที่สุดในทุกมิติสังคมคือ คนรุ่นสงครามเย็น ไม่ว่าในภาคธุรกิจ ระบบราชการ การเมือง คนรุ่นนี้ยังกุมอำนาจอยู่ ขณะที่คนรุ่นโบว์ขาวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่เด็กไม่มีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนแปลง

"คน inbetween นี่แหละที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนรุ่นโบขาวทำ เขาทำได้ในแง่ตะโกนให้เราได้ยินว่ามีปัญหา มันเป็นหน้าที่ของคนรุ่น inbetween"

“คน inbetween เติบโตในช่วงเศรษฐกิจบูมช่วงทศวรรษ 2530 ชีวิตดีมาก เรามีความหวัง ต่างกับคนรุ่นนี้มาก เราจบออกมาสื่อกำลังบูม เอ็นจีโอบูม เศรษฐกิจบูม ภาคราชการก็เงินเดือนขึ้น ชีวิตเราเต็มไปด้วยความหวัง แต่พอถึงตอนนี้เรารู้ว่ามันมีปัญหา แต่เราก็พยายามผลัดวันประกันพรุ่งที่จะเปลี่ยนแปลง เรารู้ว่าปัญหาของเด็กมีอะไร แต่เราไม่กล้า เรากลัว เราไม่รู้ และเราก็รู้สึกว่ามันแก้ไม่ได้หรอก ดังนั้น คนรุ่น inbetween คือพลังที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง จะดีจะร้าย ทุกอย่างจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อรุ่นสงครามเย็นหมดอายุขัยลงจากอำนาจทางการเมือง คนรุ่น inbetween ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้”

“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับคนตรงกลางอ่าน เพื่อให้รู้ว่าภารกิจใน 10 ปีนี้ หรือ 1-2 ปีนี้ที่เราเห็นการทะเลาะกันของคนสงครามเย็นกับคนโบว์ขาว เราจะทำอะไร”

ปัจจัยเงื่อนไขที่ทำให้ให้คนรุ่นใหม่ต่างออกไป

กนกรัตน์พูดถึงปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่แตกต่างจากคนรุ่นอื่นๆ อย่างมาก โดยแบ่งเป็น

1.คนรุ่นใหม่ไม่เห็นความหวังแม้แต่นิดเดียวต่ออนาคต

“เรื่องบริบททางเศรษฐกิจนี้ต่างกันมาก รุ่น babyboomer เศรษฐกิจเติบโต 4 ทศวรรษ คนพวกนี้ได้ benefit จากช่วงสงครามเย็น แล้วยังได้จากช่วงที่ญี่ปุ่นเอาการผลิตเข้ามาอีก รุ่น inbetween ก็เศรษฐกิจบูม ด้วย financial bubble คนรุ่นนี้ไม่มีอะไรเลย”

“จากการเก็บข้อมูล เด็กมัธยมกังวลมากที่สุดเรื่องเศรษฐกิจ 30-40% พูดเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เขาโกรธโรงเรียนมากที่ไม่สามารถทำให้เขารู้ได้ว่าตัวเขาเหมาะหรือควรเลือกเรียนคณะอะไร เรื่องนี้เป็นปัญหาคลาสสิค เราก็เป็นไม่เห็นเป็นปัญหา แต่เขาบอกว่า รุ่นอาจารย์ไม่ต้องกู้ กยศ.เรียน เรียนจบยังไงก็มีงานทำ การกู้ กยศ.เรียนแล้วเลือกผิด เหมือนติดหนี้โดยที่ไม่เห็นทางเลยว่าจะใช้หนี้ยังไง แล้วเด็กก็กู้ กยศ.เยอะมาก เป็นคนรุ่นใหม่ที่ vulnerable หรือเปราะบางทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะคนจน ธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในช่วง sunset ทั้งนั้น ลูกคนรวยคิดว่าจะทำอะไร ยังคิดไม่ออกเลย เขาถามว่า อาจารย์คิดว่าประเทศไทยมี start up ไหม เขาบอกว่ามี 3 ประเทศในอาเซียนที่ไม่มีสตาร์ทอัพ ไทย พม่า ลาว เด็กวิศวะเกรด 3.98 เขาบอกเลยว่า ไม่รู้ว่าจบ 3.98 มาเพื่ออะไร เงินเดือนจะเกิน 25,000 ไหม เงินเดือนนี้มันเท่ากับรุ่น inbetween”

2.โครงสร้างในโรงเรียนที่ suppressive (กดขี่) แต่ไม่มีประสิทธิภาพ

“เขาไม่ได้กังวลว่าจะโดนตัดผมหรืออะไร แคมเปญใส่ชุดไปรเวทสุดท้ายก็เลิกๆ กันไป เวลาไปสัมภาษณ์เขาบอกว่า ปัญหาไม่อยู่ตรงนั้น แต่โรงเรียนไม่มีประสิทธิภาพ แล้วใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการบังคับเด็กในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทำให้คนรุ่นนี้รับโรงเรียนไม่ได้ เพราะไม่ response ต่อปัญหาในอนาคตของเขา

3.ประสบการณ์การเมืองในโรงเรียน

“เรื่องนี้เซอร์ไพร์สมาก เด็กมัธยมที่สัมภาษณ์ 150 กว่าคน 30-40% มีประสบการณ์การเคลื่อนไหวในโรงเรียน และประสบความสำเร็จก่อนจะมีม็อบปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารกลางวัน ความสะอาดในโรงเรียน sexual harassment โดยครู ครูสอนไม่มีประสิทธิภาพ เด็กพวกนี้ทำแคมเปญทางการเมืองมาก่อนหน้านี้ ทั้งใช้ออนไลน์ ออฟไลน์ มีการประท้วงหน้าเสาธง มันมีคลื่นใต้น้ำที่เราไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับเด็ก ที่กระตุ้นให้เด็กรุ่นนี้ตื่นตัวทางการเมือง รุ่นเราสมัยมัธยมไม่มีแบบนี้แน่นอน”

4.การเปลี่ยนหลักสูตรรายวิชาหลังรัฐประหาร 2557

“มีสองวิชาที่ก่อนหน้านี้ไม่มีคือ วิชายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และวิชาศาสตร์พระราชา และการเปลี่ยนแปลงวิชาหน้าที่พลเมืองให้รวมสองเรื่องนี้เข้าไป เด็กทุกคนถูกบังคับให้ท่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกบังคับให้เขียน essay ทำไมเราจึงรักผู้นำในประเทศในหลายๆ มิติ เด็กก็ต้อง search google แล้วเจออะไรล่ะ จากที่ไม่รู้เลยรู้เลย เด็กไม่สนใจการเมืองเลยสนใจเลย”

เด็กมัธยมสร้างเครือข่ายเคลื่อนไหวผ่านโซเชียล ไร้องค์กรกลางแบบอดีต

เมื่อสอบถามถึงสถานการณ์ของโลกมัธยมผ่านนักเรียนมัธยมที่เป็นแกนนำเคลื่อนไหวจริง อย่าง ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ นักเรียนม.5 โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น เขาเล่าว่า เด็กมัธยมตื่นตัวกับเรื่อง ‘อำนาจ’ ในโรงเรียนมานานแล้ว แต่ปี 2563 เมื่อเกิด ‘กระแส’ ทางการเมือง ปฏิบัติการอย่างผูกโบว์ขาว-ชูสามนิ้วก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จากนั้นกลุ่มนักเรียนที่ทำกิจกรรมก็เริ่มรู้จักกัน อย่างตัวเขาเองรู้จักกลุ่มเด็กมัธยมโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียงที่จัดกิจกรรมราว 8-9 กลุ่ม และเขายืนยันว่าแต่ละภูมิภาคก็จะเกาะกลุ่มกันเองด้วย

เขาบอกว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่ตื่นตัวทางการเมือง อย่างน้อยก็โรงเรียนในตัวเมือง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ยืนยันได้ว่าเพื่อนๆ นักเรียนเอาด้วยจำนวนมาก เพราะจัดม็อบแล้วคนร่วมเยอะ เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหลักจาก ‘ศึกชูสามนิ้ว’ โรงเรียนและครูก็เริ่มปรับตัวมากขึ้นเช่นกัน

“ตอนแรกๆ ที่เกิดกระแสชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาว อาจารย์บางคนห้ามเด็ดขาด ใช้อารมณ์ แต่ช่วงหลังเขาไม่ทำอะไร เพราะทำไปแล้วมันกลายเป็นข่าวแล้วส่งผลเสียต่อโรงเรียน จึงพยายามไม่ห้ามปรามรุนแรงโจ่งแจ้ง อาศัยคุยกับนักเรียนทีหลัง บางที่ก็มีการหักคะแนน บางทีก็เจรจากันขอครั้งนี้ครั้งเดียวนะ”

สำหรับการชุมนุมที่ดูเหมือนเริ่มแผ่วลงหลังแกนนำถูกคุมขังยาวนานนั้น ขวัญข้าวให้ความเห็นว่า เยาวชนจำนวนมาก แม้ตื่นตัวแต่ก็ยังถูกกดทับ ถูกห้ามปรามจากครอบครัวอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อการชุมนุมเริ่มมีภาพความรุนแรง เด็กๆ มักถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วม

“คนที่มา ไม่ใช่แค่เด็กแต่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยอาจเริ่มชิน ข้อเรียกร้อง 3 ข้อก็ยังไม่สำเร็จและไม่ได้มีข้อเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม อาจเบี่ยงไปเรื่องรัฐสวัสดิการหรือเรื่องอื่นๆ ทำให้มองเห็นเป้าหมายไม่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้จะมาม็อบทำไม”

ขวัญข้าวเล่าต่อว่า เขาพยายามจะเคลื่อนไหวประเด็นการศึกษาต่อไป ไม่ให้เกิดความรุนแรงการละเมิดสิทธิในโรงเรียน เพราะมันเป็นเรื่องที่พวกเขาพบเจอทุกวัน ส่วนเรื่องการเมืองก็ยังพยายามเหมือนเดิม ที่ผ่านมาเขาไปทำประเด็นการเมืองมาก ทำให้ห่างจากประเด็นการศึกษาไปพอสมควร ตอนนี้การต่อรองกับโรงเรียนเรื่องทรงผมสำเร็จแล้ว ต่อไปที่พยายามทำคือ รณรงค์เสรีเครื่องแบบ โดยจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำที่ครอบครัวยากจนต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะกับเครื่องแบบ และทำให้นักเรียนไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่ภาคธุรกิจเรียกร้องคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงจะมีการผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ด้วย

เด็กที่เติบโตมาเป็นคอนเซอร์เวทีฟไม่มีหรือ ?

กลับมาถามกับคำถามกับผู้วิจัยต่อ ต่อคำถามเรื่องนี้ กนกรัตน์ให้แง่มุมที่น่าสนใจว่า เราต้องแยกระหว่าง youth กับ new generation ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา youth หรือเยาวชนต้องเป็นคอนเซอร์เวทีฟอยู่แล้ว (อนุรักษ์นิยม) ไม่ว่าในสังคมบุพกาล สังคมศักดินา สังคมเกษตร สังคมอุตสาหกรรม เด็กทุกคนจะถูกสอนให้เดินตามรอยเท้าของคนรุ่นก่อนหน้า เพราะเขาคือคนที่มาสานต่อ ในประวัติศาสตร์โลก โดยส่วนใหญ่ youth ยังเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องอำนาจของปีกอนุรักษ์นิยม เช่น กลุ่มจุงเกอร์ ในสแกนดิเนเวียเป็นทหารเยาวชนผู้จงรักภักดี ช่วยสร้างชาติปรัสเซีย

“การที่พูดว่า คนรุ่นใหม่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 เท่านั้น ต้นศตวรรษเรามีกลุ่มยังเติร์กในจักวรรดิออตโต เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาท้าทายสถาบันอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ หลังจากนั้นเราค่อยๆ เห็นการเติบโต อย่างในไทย 2475 ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นอีลีท ข้าราชการรุ่นใหม่ คนมีฐานะรุ่นใหม่ที่ไปจัดตั้งกลุ่มปฏิวัติในเมืองนอก แต่สำหรับ mass new generation หรือคนรุ่นใหม่ในระดับมวลชน เพิ่งมาเห็นในยุคสงครามเย็น”

คนรุ่นใหม่ลุกฮือ เพราะสถาบันอนุรักษ์ปรับตัวไม่ทัน

กนกรัตน์ยังวิเคราะห์ถึงเงื่อนไขที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นเป็นพลังผลักดันความเปลี่ยนแปลงว่า เป็นเพราะโลกเปลี่ยนเร็วมาก มากในระดับที่สถาบันอนุรักษ์นิยมที่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาก็ปรับตัวไม่ทัน นอกจากปรับตัวไม่ทันอาจเป็นกลไกต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นโลกหลังสงคราม ที่เศรษฐกิจถดถอยทั่วยุโรป คนรุ่นใหม่ก็เผชิญปัญหา ขณะที่พรรคการเมืองโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นคนแก่ทั้งนั้น ในสังคมไทยก็เห็นสภาพนี้ใน 2 ช่วงคือ 14 ตุลา 6 ตุลา แล้วก็ยุคปัจจุบัน สถาบันอนุรักษ์นิยมปฏิเสธที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง หรือตอบสนองต่อความคาดหวังของคนกลุ่มใหม่ๆ ที่เผชิญปัญหาโลกใหม่ๆ

“คนที่จะไม่เป็นอนุรักษ์นิยมคือคนที่จับสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว และรู้ว่าตัวเอง คนกลุ่มตัวเองจะไม่รอดแน่ๆ ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยน แล้วยังไม่เห็นการตอบสนองของโครงสร้างรัฐแบบเดิมที่ไม่แม้แต่จะเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยน รัฐอนุรักษ์หลายที่ก็พยายามปรับตัวเพื่อให้ทุกกลุ่มสามารถอยู่ได้และไม่ปะทุขึ้นมา แต่เมืองไทยไม่ปรับเลย”

"แม้ไม่อยากให้เครดิตกับอินเทอร์เน็ตมาก แต่ต้องบอกว่า โซเชียลมีเดีย มันเปลี่ยนคนรุ่นนี้อย่างมหาศาลจริงๆ สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนคือ trust ที่มีต่อคนรุ่นก่อนหน้านี้ เมื่อเขามีความรู้มากกว่า เข้าใจโลกมากกว่า อธิบายปัญหาปัจจุบันได้มากกว่า trust ที่มีต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเขามันน้อยลงมาก"  

"โครงสร้างในเชิงลำดับชั้นก็น้อยลง เราจะโทษทวิตเตอร์ก็ได้ว่าทำให้เด็กไม่มีสัมมาคารวะ แต่ประเด็นคือ เมื่อมันเปลี่ยนแล้ว มันไม่กลับมาเป็นแบบเดิม เราโทษมันได้ แต่แล้วยังไงต่อ คนรุ่นนี้มันไม่กลับมาเป็นแบบเดิมแล้ว ตราบใดที่ชราธิปไตย หรือการปกครองโดยคนชรามันไม่สามารถตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้" 

ปราบหนัก-ม็อบแผ่ว ความเป็นไปได้ของคนรุ่นใหม่ 3 แนวทาง

ปี 2564 ตั้งแต่รัฐเริ่มมาตรการการปราบปรามที่รุนแรงขึ้น และมีการกวาดจับแกนนำด้วยคดีมาตรา 112 และคดีอื่นๆ มีจำนวนมาก ไม่ได้ประกันตัว การชุมนุมก็เริ่มมีผู้เข้าร่วมน้อยลง คำถามย่อมพุ่งมายังผู้ศึกษาประเด็นคนรุ่นใหม่ว่า แล้วข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป กนกรัตน์ตอบเรื่องนี้ว่าอนาคตอาจเป็นไปได้ 3 รูปแบบหลัก คือ

แบบที่ 1.รัฐปฏิบัติการ จับ ปราบ กด แล้วพวกเขาก็หายไปจริงๆ เท่าที่ศึกษามาไม่เคยเห็นปรากฏการณ์การจับเป็นร้อยคนเช่นปัจจุบันนี้ดังนั้น การจับคนสักพันอาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับรัฐ

“เราอาจไม่เห็นม็อบในปีนี้ทั้งปี แล้วถ้าประสบความสำเร็จในการปราบทุกปีๆ เราจะไม่มีม็อบ แต่สิ่งที่เราจะเสียไปเลยคือ lost generation มันไม่ใช่แค่ไม่มีม็อบ แต่คนรุ่นนี้จะถูกทำให้เชื่อจริงๆ ว่า การเมืองเป็นเรื่องอันตราย แปลว่าอนาคตของเราจะไม่มีอะไรเหลือ คนที่มี creativity (ความคิดสร้างสรรค์) critical thinking (ความคิดเชิงวิพากษ์) จากที่สัมภาษณ์เด็กเหล่านี้ โดยเฉพาะแกนนำนี่จีเนียสทั้งนั้น นี่คือครีมของประเทศทุกคน แล้วเรากำลังจะทำให้เขาสูญหายไปเลย แล้วคนรุ่นนี้จะหยุดที่จะคิดแตกต่าง หยุดความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้พูดเล่นนะ ในทางจิตวิทยาเป็นเช่นนั้น และในทางสังคมมันแปลว่า เรากำลังแบนวิธีคิดที่จะช่วยให้ประเทศไทยรอด”

แบบที่ 2. ใน 1 ปีข้างหน้าอาจไม่เห็นม็อบ แต่สิ่งที่เราจะเห็นคือ ปัญหาไม่หายไปไหน และคนทุกคนต้องกินข้าวทุกวัน จ่ายคืนนี้ กยศ.ทุกเดือน เศรษฐกิจจะซึมยาว แปลว่า อีก 5 ปีคนรุ่นนี้จะเผชิญปัญหาหนัก และทุกเปิดเทอมเราจะเจอกับม็อบคนรุ่นใหม่ทุกปี

แบบที่ 3. เขาจะมีนวัตกรรมการเคลื่อนไหว engage (รวม) คนรุ่นอื่นๆ เพราะเขาเรียนรู้แล้วว่า ยังไงก็ตาม ความสำเร็จทางการเมืองไม่อาจเกิดขึ้นได้จากคนรุ่นใหม่เท่านั้น

“ปีที่แล้วเป็นความสำเร็จในการ disrupt การเมืองไทย เป็นการตะโกนให้ผู้ใหญ่ได้ยินปัญหา ประสบความสำเร็จมาก เสียงและประเด็นของเขา ดิฉันยังไม่รู้เลยว่ามีปัญหาเหล่านี้และต้องไปทำวิจัย ก้าวต่อไป ถ้าหยุดแค่นี้ปัญหาของเขาจะไม่ได้รับการแก้ ช่วงนี้เป็นการพักเหนื่อยของเขา”

“มีคนถามว่าทำไมเด็กไม่ประนีประนอม ถ้าดูข้อเรียกร้องคนรุ่นใหม่ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อนฝรั่งถามว่า นี่ radical หรือ มันไม่ใช่แม้แต่เสรีนิยม คนรุ่นนี้เขารู้สึกว่า ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมมากๆ แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับการผลักดันการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์โลก คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์นี่ยึดอำนาจรัฐ คนรุ่นหว่างกลางประนีประนอมมาก รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เราเลยมาเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่น ชุมนุมนิยม คนรุ่นใหม่เรียนรู้ทั้งสองแบบ สิ่งที่เขาเรียกร้องคือ การเปลี่ยนแปลงที่ประนีประนอมที่สุด ถ้าเราแยกระหว่าง จุดยืนทางการเมือง กับผลประโยชน์ของเขา จุดยืนทางการเมืองคือ ปฏิรูปสถาบัน, แก้รัฐธรรมนูญ, นายกฯ ลาออก แต่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ คือ การปฏิรูปการศึกษา, การปฏิรูปประสิทธิภาพของรัฐในการจัดสรรงบประมาณ, การปฏิรูปกลไกระบบการเมืองให้เขามีสิทธิตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เป็นข้อเรียกร้องที่โคตรประนีประนอม ต้องมองให้เห็นถึงสิ่งที่เขาเรียกร้องจริงๆ ไม่ใช่ดูที่เขาตะโกนเพราะความโกรธ ไม่พอใจ หาว่าเขาก้าวร้าว”

“พวกเขาประนีประนอมมากทั้งข้อเสนอและการเคลื่อนไหว”