วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ 'ขอคืนค่าประกันไฟฟ้า' หลังเปิดทำการไม่กี่ชั่วโมง ด้วยมีจำนวนผู้เข้าไปลงทะเบียนจำนวนมาก ก็ทำให้ระบบขัดข้อง แต่เรื่องที่สร้างความขุ่นใจให้กับประชาชนผู้รอลงทะเบียน คือ คำตอบของแอดมินทวิตเตอร์ของ กฟภ. ที่พาโลกโซเชียล งง สงสัย และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ในประเด็นเรื่องที่มีผู้สอบว่า 'เงินประกันเมื่อขอคืนแล้ว สิทธิประกันมิเตอร์ไฟฟ้าจะยังอยู่หรือไม่ หากได้เงินคืนมา แล้วหากมิเตอร์เสียหายภายหลัง ใครจะต้องจ่าย' และคำตอบที่ได้กลับระบุว่า "กรณีเงินประกันนี้ เมื่อขอคืนมาแล้ว สิทธิประกันมิเตอร์จะถูกยกเลิกไป หากมิเตอร์เสียหายผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีหากท่านไม่สะดวกจะยื่นเรื่องขอรับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าก็สามารถทำได้"
กลายเป็นคำตอบสะท้านโลกออนไลน์ กระทั่งเมื่อเย็นที่ผ่านมา นายจาตุรงค์ สุขะเสน รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟน.) ออกเอกสารชี้แจงเรื่อง "แอดมินตอบคำถามทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน" ข้อความระบุว่า ตามที่มีประเด็นข่าวการเผยแพร่กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าสอบถามเกี่ยวกับการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าสิทธิประกันมิเตอร์จะถูกยกเลิกหรือไม่ แต่ได้มีการส่งต่อข้อความผ่านช่องทางออนไลน์นั้น
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1.เงินที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามาลงทะเบียนขอรับเงินคืนนั้น เป็นเงิน "ค่าประกันการใช้ไฟฟ้า" ไม่เกี่ยวกับ "มิเตอร์"
2.จากเดินประชาชนมาขอใช้ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน คือ ค่าติดตั้งมิเตอร์และค่าประกันการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้า ที่จะเรียกเก็บตามขนาดของมิเตอร์ เช่น มิเตอร์ขนาด 5 แอมป์ ประเภทบ้านอยู่อาศัย จะมีการจ่ายค่าประกันการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้า 300 บาท เพราะการจะเรียกเก็บเงินผู้ใช้ไฟฟ้าต้องใช้ไฟให้ครบเดือนก่อน และเมื่อถึงกำหนดผู้ใช้ไฟฟ้าไม่จ่ายเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก็จะหักเงินส่วนนี้ไป
3.กรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระ กฟภ. จะมีกระบวนการและขั้นตอนการแจ้งเตือนเป็นระยะเวลา 28 วัน เช่นเดิมหากไม่มีการชำระค่าใช้ไฟฟ้าประจำเดือน จึงจะเข้าสู่การะบวนการงดจ่ายไฟฟ้า
4.แม้ว่าภายหลังที่ "คืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า" ไปแล้วก็ตาม หากพบว่า "มิเตอร์ไฟฟ้า" ของผู้ใช้ไฟฟ้านั้นๆ มีปัญหาจากการใช้งานตามปกติ กฟภ. ก็ต้องไปดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนให้ใหม่ เพราะมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นทรัพย์สินของ กฟภ.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีประชาชนเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ของ กฟภ. เพื่อลงทะเบียนขอรับเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าคืนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความหนาแน่นในการใช้งาน กฟภ. ขอความร่วมมือให้ประชาชนทยอยการเข้าไปลงทะเบียน เนื่องจากการลงทะเบียนสามารถเข้าไปใช้งานได้โดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดแต่อย่างใด
ด้านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เผยแพร่ในเฟซบุ๊กเพจ เรื่องความเข้าใจผิดต่อสิทธิ์ผู้ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ข้อความว่า กรณีมีการส่งต่อข้อมูลเรื่อง ผู้ขอคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้า จะถูกตัดสิทธิ์ต่างๆ เช่น ไม่สามารถค้างชำระค่าไฟฟ้าได้ รวมถึงประชาชนต้องเสียค่าซ่อมแซมเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (มิเตอร์) เอง หากเกิดชำรุดเสียหาย เรื่องนี้ กฟน. ชี้แจงว่าผู้ขอคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าไปแล้วจะยังได้รับบริการต่างๆ จาก กฟน. ดังเดิม
ทั้งนี้ เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ หลักประกันสำหรับกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้าเกินระยะเวลาที่ กฟน. กำหนด เมื่อดำเนินการขอคืนแล้วจะไม่ส่งผลต่อการทำธุรกรรมใดๆ ในด้านระบบไฟฟ้าของบุคคลผู้ขอคืนเงินประกัน ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด กฟน.จะยังมีกระบวนการแจ้งเตือน และงดจ่ายไฟฟ้าตามระเบียบดังเดิม ขณะเดียวกัน ในกรณี เครื่องวัดชำรุด หรือหมดอายุการใช้งาน กฟน.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนใหม่ โดยไม่มีการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :