ไม่พบผลการค้นหา
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ประกาศผลักดันรัฐทบทวน กฎหมาย E-Sports ห่วงรัฐตัดโอกาสสร้างรายได้เยาวชน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ประกาศผลักดันรัฐทบทวน กฎหมาย E-Sports พร้อมเปิดเวทีระดมความคิด ให้มีการรับฟังความเห็นรอบด้านทั้งในมุมของผู้ปกครองที่ห่วงใยลูกหลาน และผู้เกี่ยวข้องในแวดวง E-Sports โดยผลักดันให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาให้รอบด้านก่อนออกกฏหมาย โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า

เนื่องด้วยในขณะนี้อุตสาหกรรม Digital Entertainment กำลังเป็นดาวรุ่งในยุค Disruption ยิ่งสภาวะหลัง Covid ประเทศไทยจำเป็นต้องมองหาฐานรายได้ใหม่ๆ มาทดแทนธุรกิจที่ถูก Disrupt

ธุรกิจ E-Sports และ Gaming กำลังเติบโตเร็วมาก ทั่วโลกมีจำนวนคนเล่นเกมอยู่ถึง 2700 ล้านคน มียอดรายได้มากกว่าธุรกิจเพลงและหนังรวมกันถึงราว 2.5 เท่า Platform content ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง YouTube และ Netflix ยังมีรายได้รวมกันเท่ากับ 1 ใน 5 ของธุรกิจเกมเท่านั้น และธุรกิจเกมยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบ double digit ทุกปี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาไม่มีแม้แต่ปีเดียวที่ธุรกิจเกมมีการเติบโตอย่างติดลบแม้แต่ในปีที่มีวิกฤตเศรษฐกิจโลก เช่นในช่วง วิกฤต Dot Com, วิกฤตต้มยำกุ้ง, วิกฤต Subprime (Hamburger Crisis) หรือแม้กระทั่งวิกฤต Covid-19 ตัวล่าสุด

ในอเมริกา ในปี 2020 มีการคาดคะเนว่าธุรกิจเกมสร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 36,921 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากเทียบเป็นเงินบาทไทยก็สูงเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท ประเทศจีนเองก็มีการเติบโตด้าน gaming อย่างมหาศาล ถึงขั้นก้าวแซงอเมริกาไปแล้วในส่วนของรายได้ โดยในปี 2020 จีนจะทำเงินจากธุรกิจเกมสูงถึง 40,854 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้ มีสัดส่วนของรายได้ที่มาจากเกมเทียบเป็นสัดส่วนได้ประมาณ 0.2-0.25 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ของประเทศ บริษัทเกมเพียงบริษัทเดียวในประเทศจีน เช่น Tencent มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงเทียบเท่ากับ 75 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าของทุกบริษัททั้งหมดที่อยู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมกัน และมีมูลค่าพอๆกับ Annual GDP ของประเทศไทยทั้งประเทศ

ในความเป็นจริงประเทศไทยเองก็มีเงินสะพัดอยู่ในธุรกิจเกมถึงปีละราวๆ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งติดอันดับ 19 ของโลก แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ส่วนใหญ่รายได้กว่า 90 % จะถูกส่งกลับไปต่างประเทศหมด เนื่องจากเกมที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทยเป็นเกมที่ถูกผลิตมาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ทั้งๆที่เด็กไทยมีศักยภาพมากมาย ทั้งกลุ่ม Programmer , Game Developer , Digital Artist, Animator, Streamer , Publisher , Caster , Cosplay หรือแม้แต่ Light & Sound ฯลฯ ทั้งยังมีความได้เปรียบในส่วนของ production cost ที่ถูกกว่าประเทศอย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่นอย่างมหาศาล (ประมาณ 1 ใน 8)

เราจึงควรสนับสนุนทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้เป็นฐานรายได้ใหม่ให้ประเทศ ในขณะที่ฐานการผลิตอื่น ทั้งไฟฟ้า อิเล็กทรอนิค รถยนต์ ทยอยย้ายฐานออกจากไทยและในทางกลับกันความห่วงใยของพ่อแม่ผู้ปกครอง เรื่องเด็กติดเกมส์ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรับฟังและแก้ไข

ในฐานะของคนเป็นแม่ ดิฉันเข้าใจดี และมีความห่วงใยมากเช่นกัน แต่การแก้ปัญหาเรื่องนี้มิใช่การออกกฎหมายแล้วปัญหาเด็กติดเกมส์จะจบไป

โอกาสสร้างรายได้ ให้เด็กรุ่นใหม่

ตรงกันข้ามถ้าออกกฎหมายอย่างไม่เข้าใจ นอกจากจะแก้ปัญหาเด็กติดเกมส์ไม่ได้ ยังจะเป็นอุปสรรค์ขัดขวาง การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม E-Sports และ Games ที่จะเป็นโอกาสสร้างรายได้ ให้เด็กรุ่นใหม่และประเทศไทย อีกจำนวนมากมาย บริบทของโลกยุค Digital เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว เราต้องสนับสนุนให้เด็กไทยไปคว้าโอกาส สร้างรายได้ จาก Asset ใหม่ของโลกยุคใหม่ให้ได้ ไม่ใช่เป็นตัวถ่วงโอกาสและความเจริญของเด็กๆยุคใหม่ ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจ ชี้แนะ ในทางที่ถูก และสนับสนุนให้เขาเติบโตในทางที่ถูกที่ควรค่ะ

ดิฉันยกตัวอย่างแค่เรื่อง ความคิดที่จะห้ามการไม่ให้ Streaming เกิน 2 ชม. สมมติกฎหมายออกมา ก็ห้ามได้เฉพาะ Streamer ไทย เด็ก ๆ ไทยก็จะหันไปดู Streamer จากอเมริกา และอีกหลายประเทศได้อยู่ดี เพราะทุกอย่าง On-Line ดูกันได้ทั้งโลก ซ้ำร้ายเราก็จะคุมเนื้อหาความรุนแรงไม่ได้อีกด้วย

ดิฉันจึงเสนอให้รัฐบาลต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้รอบด้านก่อนการออกกฎหมายโดย เพื่อไทย จะจัดเวที “ตีป้อม เปิดแมพ ปล่อยของ” ใน EP.2 เร็วๆนี้ เชิญมาร่วมระดมความคิดกันอีกครั้งนะคะ