ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์รวบรวมเหตุการณ์ #หมอลาออก และสรุปประเด็นจากการแถลงข่าวของ สธ. (6 มิ.ย.66) เกิดอะไรขึ้นกับวงการสาธารณสุขไทย ทำไมปัญหาที่เรื้อรั้งไม่ต่ำกว่าทศวรรษนี้ จึงแก้ไม่ได้สักที

6 มิถุนายน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ถึงกรณีกระแสหมอจบใหม่ทยอยลาออกจากวิกฤติการขาดแคลนบุคลากร  ทำให้แพทย์ที่มีอยู่ต้องรับภาระงานหนัก คุณภาพชีวิตย่ำแย่ สวัสดิการแย่ ค่าตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบอาวุโส ฯลฯ

จากข้อมูลของแพทยสภา ณ วันที่ 4 เม.ย.2566 พบว่า ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมดราว 68,000 คน ในจำนวนนี้ มีเพียง 24,649 คน หรือราว 36%  อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประชากรไทยขึ้นทะเบียนอยู่ราว 47 ล้านคน  หรือประมาณ 70% ของประชากรไทยทั้งหมด 

นพ.ทวีศิลป์ บอกว่าตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า แพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชากรถึง 2,000 คน ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดสัดส่วนแพทย์ 1 แพทย์ต่อประชากร 1,000 คน 

แต่หากลงลึกในรายละเอียด พบว่า ในปี 2565 กรุงเทพฯ มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:400 หรือพูดง่ายๆ ว่า กทม.มีแพทย์ล้นเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานไป 2 เท่า นั่นหมายความว่าแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกตัวใน กทม. และส่งผลให้ในต่างจังหวัดเกิดการขาดแพทย์รุนแรง   

ทั้งนี้ ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:3,000 หรือต่ำกว่ามาตรฐาน 3 เท่า และหากเป็นโรงพยาบาลอำเภอที่มีประชากรหลักหมื่น หลายแห่งมีแพทย์เพียง 1-2 คน หมายความว่าแพทย์ 1 คนต้องรับงานเกินมาตรฐานไปไม่ต่ำกว่า 10 เท่า ในขณะที่รับเงินเดือนปกติตามระเบียบราชการ

image2.png

วอยซ์รวบรวมเหตุการณ์ #หมอลาออก และสรุปประเด็นจากการแถลงข่าวของ สธ. (6 มิ.ย.66) เกิดอะไรขึ้นกับวงการสาธารณสุขไทย ทำไมปัญหาที่เรื้อรั้งไม่ต่ำกว่าทศวรรษนี้ จึงแก้ไม่ได้สักที 

ระเบิดเวลา :  สธ.ได้รับจัดสรรอัตรากำลังน้อยกว่าที่ควร 

นพ.ทวีสิน ระบุว่า โดยภาพรวม แผนการผลิตแพทย์ปี 2561-2570 ข้อมูลจากกระทรวงอุดมศึกษาฯ มีการผลิตแพทย์เพิ่ม 3,000 คนต่อปี ช่วงเวลา 10 ปีนี้จะมีแพทย์เพิ่มขึ้น 33,000 คน ขณะเดียวกัน สธ. ก็ผลิตแพทย์เพิ่มกว่า 10,000 คนด้วย

image3.png

เมื่อผลิตแพทย์แล้ว จะต้องมีการจัดสรรกำลังแพทย์ให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่ทำสัญญากับ สธ. ซึ่งมีทั้งกระทรวงกลาโหม กทม. กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นต้น โดยมีคณะแพทย์ 20 แห่งร่วมกันพิจารณา นั่นหมายความว่า สธ. ไม่ใช่ปลายทางเดียวของแพทย์หลังเรียนจบและได้รับใบอนุญาต

เมื่อจัดสรรกำลังแพทย์แล้ว พบว่า มีแพทย์ที่เข้ามาเติมใน สธ. น้อยกว่าตัวเลขที่ต้องการแทบทุกปี เช่น ปี 2566 มีแพทย์จบใหม่ (ไม่รวมเอกชนและต่างประเทศ) 2,759 คน โดย สธ. ได้ขอแพทย์จำนวน 2,061 คน ตัวเลข 2,759 คนนี้ต้องแบ่งสรรในหลายส่วน สรุปโควต้าคงเหลือมาที่ สธ. อยู่ที่ 1,960 คน  ขณะที่งานวิจัยสะท้อนว่า จำนวนแพทย์ที่เพียงพอสำหรับ สธ. คือ 2,555 คนต่อปี  

หากพิจารณาการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ที่ สธ. ได้มาย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า

  • ปี 2561 จัดสรรให้ 1,994 อัตรา
  • ปี 2562 จัดสรรให้ 2,054 อัตรา 
  • ปี 2563 จัดสรรให้ 2,031 อัตรา 
  • ปี 2564 จัดสรรให้ 2,023 อัตรา
  • ปี 2565 จัดสรรให้ 1,849 อัตรา 
image1.png

นพ.ทวีสิน ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ยากมากในการที่ สธ. จะได้รับการจัดสรรแพทย์ในจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับแพทย์ทั้งหมดที่ประเทศผลิตได้ ต้องถูกจัดสรรไปอีกหลายภาคส่วน อีกทั้ง  สธ. ก็มักได้รับการจัดสรรในลำดับท้ายๆ อยู่เสมอ

“พอคนน้อย ภาระงานไม่ได้น้อยลง แล้วยังเจอโควิดด้วย จะเห็นว่าที่ผ่านมา พวกเราทำงานกันมากมาย” นพ.ทวีสินกล่าว 

นอกจากนี้ เมื่อแพทย์จบ 6 ปี ตามกฎเกณฑ์แพทยสภาระบุว่า แพทย์ต้องไปทำงานเพิ่มพูนทักษะ ที่เรียกว่า ‘อินเทิร์น’ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี  ในโรงพยาบาล 117 แห่ง ( ข้อมูล ณ 16 ก.พ. 2566)  เพื่อให้มีประสบการณ์จริง  ทั้งนี้ ศักยภาพรวมในการรองรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ อยู่ที่ 3,128 คน ใน รพ. 117 แห่ง แต่จำนวนจัดสรรอยู่ที่ 2,150 คน หรือคิดเป็น 68.7%  ดังนั้น จึงไม่เพียงพอ ทำให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติม ทั้งโครงการ CPIRD (โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท)  ทั้งโอดอท (โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน) ทั้งนอกสังกัด ทั้งที่เรียนเอกชน แต่จำนวนก็ยังไม่เพียงพอ

เมื่อจำนวนจัดสรรแพทย์มาไม่เพียงพอ แต่ภาระงานกลับมีเท่าเดิมหรือมากขึ้น จึงเข้าสู่สภาวะงานล้นมือ ปัญหานี้สะสมมายาวนาน จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ

ทำไมหมอถึง ‘สมองไหล’

จากการสำรวจความเห็นของหมอและพบาบาล รวมถึงบุคลากรในวงการแพทย์ ที่เรียงแถวออกมาสะท้อนปัญหาในวงการแพทย์ พบว่า ปัญหาภาระงานล้นเกิน เวลาพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ สวัสดิการย่ำเเย่ ค่าตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง และเงินเดินออกช้า รวมถึงความกดดันเอารัดเอาเปรียบในระบบอาวุโส ฯลฯ 

ทั้งหมดนี้ ก่อเกิดความรู้ ‘ไม่ยุติธรรม’ ที่ไร้วี่แววความเปลี่ยนแปลง 

สำหรับข้อมูลการลาออกของแพทย์ ปี 2556-2565 พบว่า ช่วง 10 ปีย้อนหลัง มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน ลาออกรวม 4,537 คน เฉลี่ยปีละ 455 คน

  • แพทย์ใช้ทุนปี 1  ลาออก 226 คน เฉลี่ยปีละ 23 คน 
  • แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน เฉลี่ยปีละ 188 คน
  • แพทย์ใช้ทุนปี 3 ลาออก 858 เฉลี่ยปีละ 86 คน
  • แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน  เฉลี่ยปีละ 158 คน

นอกจากนี้ยังมีแพทย์เกษียณปีละ 150-200 คน รวมมีแพทย์ออกจากระบบราชการประมาณปีละ 655 คน

แพทย์หญิงนภสร วีระยุทธวิไล หรือ ‘หมอปุยเมฆ’ ตัดสินใจลาออกจากราชการ และออกมาโพสต์ข้อความแชร์ประสบการณ์ชีวิตในวงการแพทย์จนเป็นข่าวฮือฮา โดยระบุว่า 

“กระแสข่าว intern ลาออกจากระบบกันเยอะ ขอพูดในฐานะคนที่เพิ่งตัดสินใจลาออกมาละกัน งานในระบบหนักจริง แต่ถามว่าอยู่ในระดับทนได้มั้ย ทนได้ ไม่ตาย แต่ใกล้ตาย เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต’

“วินาทีที่ตัดสินใจลาออก คือ ตอนนั้นวน med อยู่เวรทั้งคืน มาราวน์เช้าต่อ ชาร์จกองตรงหน้าเกือบ 40 คนไข้ นอนล้นวอร์ดเสริมเตียงไปถึงหน้าลิฟต์ ภาพหดหู่มาก แถมเหนื่อยและง่วง ราวน์คนเดียวทั้งสาย สตาฟฟ์มา 10 โมง เดินมาถาม ‘น้องยังราวน์ไม่เสร็จหรอ ต้องเร็วกว่านี้นะ’ วินาทีนั้นตัดสินใจเลย ดอบบี้ขอลา’

“คือเข้าใจว่างานมันเยอะ หนักทั้ง intern ทั้ง staff แหละ (staff เองก็ไม่ไหว ลาออกก็เยอะ) และมันดูไม่มีทางออกให้กับปัญหานี้เลย รพ.ไม่มีแนวโน้มจ้างคนเพิ่ม ลดลงทุกปี บอกกระทรวงลดงบ คนทำงานหารหน้าที่กันจนไม่รู้จะหารยังไง เหมือนอยู่เป็นแรงงานทาสไปเรื่อยๆ อะ ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

ข้อมูลจาก สธ. เผยผลสำรวจโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานนอกเวลา ทำการสำรวจ 65 โรงพยาบาลสังกัด สธ.  ระหว่างวันที่ 15-30 พ.ย. 2565  พบว่า 

  1. ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 9 แห่ง  
  2. ทำงานมากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 4 แห่ง 
  3. ทำงานมากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 11 แห่ง 
  4. ทำงานมากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 18 แห่ง
  5. ทำงานมากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 23 แห่ง 

“มาตรฐานโลกบอกว่า ต้องต่ำกว่า 40 ชั่วโมง เป็นข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว แต่เขามีแพทย์เป็นแสนคน เราก็พยายามทำอยู่ เติมแพทย์เข้าไป จริงๆ ตัวเลขเหล่านี้เราลดลงมาแล้ว อย่างทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เดิม 9 แห่ง เราลดลงมาเหลือ 4 แห่ง เรามีแผนดำเนินการแก้ไขต่างๆ เพียงแต่เมื่อต้นน้ำน้อย แพทย์ยังไม่มากพอก็ยังเป็นปัญหา แต่ก็พยายามหาทางออกตลอด” นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

หลังการโพสต์ลาออกของ ‘หมอปุยเมฆ’ กลายเป็นกระแส มีบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งพยาบาลจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสภาพการทำงานจำนวนมาก เช่น 

เพจสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้โพสต์เรื่องราวของแพททย์หญิงท่านหนึ่งที่ต้องโหมงานหนักจนประสบอุบัติเหตุรถชน เพจระบุว่าแพทย์หญิงดังกล่าวทำงานเป็น staff ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งและประสบกับภาระงานที่มากเกิน ทั้งงานตรวจผู้ป่วย อยู่เวร ลงเวรดึก สอนนักศึกษาแพทย์ งานข้อมูลเก็บตัวชี้วัดที่ สปสช. กำหนด จนวันหนึ่งเธอต้องไปลงเวร ไม่ได้นอน และต้องไปประชุมตอนเช้าที่ต่างจังหวัด สุดท้ายประสบกับอุบัติเหตุรถคว่ำ  เธอยังเล่าต่อว่า ไม่เคยรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่เรียนจบเฉพาะทางมา น้ำหนักลดจาก 42 เหลือ 36.5 กิโลกรัม และความทุกข์อื่นๆ อีกมากมาย

เพจชมรมแพทย์ชนบท แบ่งสาเหตุการลาออกของหมอออกเป็น 2 ประเด็น 

  1. ประเด็นรอง คือ ที่พักเก่า สวัสดิการน้อย งานหนัก เงินน้อย เอกชนดึงตัว มีครอบครัว ขอย้ายกลับมาทำงานใกล้บ้าน
  2. ประเด็นหลัก คือ ความรู้สึกไม่เป็นธรรม เหมือนฟางเส้นสุดท้ายยของแพทย์ จากสภาพการทำงานที่ต้องแบกรับการเอารับเอาเปรียบในโรงพยาบาล และคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่จากภาระงาน ทั้งหมดนี้นำสู่การหมดควาอดทน และไม่รู้จะทำงานต่อไปทำไม 

แม้จะเกิดกับแพทย์บางกลุ่ม แต่ปรากฏการณ์นี้มีอยู่จริง ทางออกของเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การผลิตแพทย์ให้เพียงพอกับงานและความต้องการเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญคือ การบริหารจัดการในโรงพยาบาลที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ การมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เข้ามาแก้ปัญหาและมีระบบประเมินอย่างจริงจัง ไม่ใช่ผู้อำนวยการที่ย้ายทุก 1-2 ปี ดังเช่นที่เป็นมา 

ด้านทวิตเตอร์ของกลุ่ม Nurses Connect ออกมาเปิดสถิติพยาบาลวิชาชีพ ที่คาดว่าจะมีในระหว่างปี 2560-2580 ดังนี้ 

  • ปี 2560 มีพยาบาลในระบบ 153,260 คน จบใหม่ 9,069 คน ลาออก 6,795 คน
  • ปี 2565 มีพยาบาลในระบบ 168,402 คน จบใหม่ 10,014 คน ลาออก 7,017 คน
  • ปี 2570  มีพยาบาลในระบบ 189,469 คาดว่าจะผลิตพยาบาลได้ 10,190 คน และลาออก 7,017 คน
  • ปี 2575 มีพยาบาลในระบบ 212,302 คน คาดว่าจะผลิตพยาบาลได้ 10,190 คน และลาออก 7,197 คน
  • ปี 2580  มีพยาบาลในระบบ 229,138 คน คาดว่าจะผลิตพยาบาลได้ 10,190 คน และลาออก 7,161 คน

ทวิตเตอร์  Nurses Connect ระบุว่า สถิติการลาออกของพยาบาลที่สูงลิ่ว เกิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 

  1. ชั่วโมงการทำงานที่เกินจากกฎหมายแรงงานกำหนด
  2. ค่าตอบแทนน้อย
  3. ไม่มีกรอบกำหนดภาระงานที่ชัดเจน
  4. ถูกฝ่ายบริหารรังแกหากมีคนไปร้องเรียน

ทั้งนี้ ประเทศไทยผลิตพยาบาลได้ปีละประมาณ 10,000 คน แต่ลาออกปีละประมาณ 7,000 คน และพยาบาลจบใหม่ลาออกหลังจากทำงานได้ 1 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 48% นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพยาบาลไทยไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย

ประกอบกับเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา  เพจ Nurses Connect ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ว่า ขณะนี้ เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก เนื่องจากการสูญเสียบุคลากรจากภาระงานที่มากเกินไป จนถึงขั้นต้องบีบให้พยาบาลทำงานควบเวร เช้า บ่าย ดึก ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง และเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นอาจะสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปมากกว่านี้

image4.png
แนวทางแก้ไขปัญหาของ สธ. ที่อาจยังไม่เพียพอ 

จากปัญหาที่ไล่เลียงมาทั้งหมด นพ.ทวีศิลป์ ได้แถลงแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งที่ทำไปแล้วและกำลังดำเนินการ ดังนี้ 

  1. เพิ่มค่าตอบแทน มีการขึ้นค่าโอที สวัสดิการ ที่พัก และปรับปรุงหอพักมาโดยตลอด
  2. เรื่องความก้าวหน้า การศึกษาต่อ การเลื่อนระดับ การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น ได้หารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตลอด
  3. เรื่องภาระงาน มีแผนเพิ่มการผลิตแพทย์ ล่าสุด ได้ปรับกรอบอัตรากำลังใหม่ โดย ปี 2565-2569 วางเป้าผลิตแพทย์ไว้ 35,000 คน ซึ่วจะทำให้ ในปี 2569 มีแพทย์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 1 หมื่นคน 
  4. แนวทางเร่งด่วน กรณีแพทย์ทำงานนอกเวลา 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะวางแผนแก้ปัญหาภายใน 3 เดือน 


ที่มา:

https://www.thaipbs.or.th/news/content/328524   

https://www.facebook.com/supathasuwannakit/posts/pfbid0FFSv4jYnyF7cZSPnRrAuqdbnAdzy791XgDoE9DmPJn86a8KN9e42wPFeB1pxxrjKl 

https://twitter.com/search?q=%20Nurses%20Connect%20&src=typed_query 

แพทย์ที่ได้ร้บใบอนุญาต แยกสถาบัน ปี 2543-2565

http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/05.aspx