ไม่พบผลการค้นหา
อนุกรรมาธิการคณะที่ 2 ในกมธ.ป.ป.ช.จ่อเชิญตำรวจ-อัยการแจงคดี 'บอส อยู่วิทยา' พร้อมชวนติด #ดุลยพินิจลอดช่อง สะท้อนปัญหาระบบลอดช่องก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในสังคม

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการคณะที่ 2 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคริส โปตระนันทน์ และธีรเศรษฐ พัฒน์สราพงศ์ อนุกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุมอนุกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับกรณีคดีวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา

พร้อมกับกล่าวว่าที่ผ่านมาหลายองค์กรรวมถึงภาคประชาชนได้ตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากลในคดีนี้ หลังจากเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง และทางตำรวจมีความเห็นไม่แย้ง ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยว่าเกิดอะไรขึ้น ยังสามารถเป็นที่พึ่งพิงให้ประชาชนต่อไปหรือไม่ หรือจะเป็นไปตามวลีที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น และคนรวยมีทางออกเสมอ

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและกดดัน แต่อนุกรรมาธิการคณะ 2 เราจะตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบว่าอยู่ที่ต้นน้ำ คือตำรวจ หรือกลางน้ำ คืออัยการ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสงสัยมาก ทั้งความเร็วรถ การที่ตำรวจสั่งฟ้อง 3 ข้อหาจาก 5 ข้อหา อัยการสั่งฟ้อง 4 ข้อหา ยกเว้นคดีเมาสุรา โดยไม่มีการพูดถึงคดียาเสพติด รวมถึงคณะกรรมาธิการกฎหมาย ยุคสนช.มีส่วนผลักดันให้มีการช่วยเหลือหรือไม่ ยังไม่รวมถึงกรณีการเสียชีวิตของพยานใหม่ในคดี  

ธีรัจชัย กล่าวต่อว่า อนุกรรมาธิการคณะ 2 ตั้งประเด็นสอบไว้ว่าการสั่งไม่ฟ้องวรยุทธ ของเนตร นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการทำคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนช่วยเหลือหรือแก้ไขอะไรหรือไม่ ทั้งนี้อนุกรรมาธิการฯ จะดำเนินการตรวจสอบให้ถึงที่สุด เพื่อหาผู้กระทำความผิดว่ามีผลประโยชน์หรือมีการทุจริตอื่นใด อย่างไรก็ตามทางอนุกรรมาธิการฯ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับดคีดังกล่าวมาชี้แจงในการประชุมครั้งต่อไป        

ด้านคริส กล่าวว่า ขอลงลึกในส่วนของความเห็นแย้งทางอัยการ โดยอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ ที่มีความเห็นยืนยันว่าคดีนี้อดีตอัยการสูงสุด ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เคยสั่งให้ยุติไม่รับเรื่องร้องทุกข์ของวรยุทธแล้ว จึงไม่ทราบว่าเนตร ที่สั่งคดีไม่ฟ้อง ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดหรือไม่ หรือกระทำการส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่สำคัญกรณีการร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบสำนักงานอัยการ ข้อ 48 ระบุว่า การร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหาหรือบางข้อหาต้องเสนอพร้อมสำนวนและความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณา   

ขณะที่ ธีรเศรษฐ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์การใช้ดุลยพินิจทางกฎหมาย หรือดุลยพินิจลอดช่อง เพื่อให้สอดคล้องกับระบบวีไอพี จนเป็นที่มาของวลีคุกมีไว้ขังคนจน เพราะคนจนไม่มีโอกาสได้ต่อสู้ ระบบลอดช่องจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในสังคมและความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นจึงขอให้ร่วมกันติด '#ดุลยพินิจลอดช่อง' เพื่อร่วมกันสะท้อนภาพ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: