ตรีชฎา ศรีธาดา คณะทำงานทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตามที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ออกมาชี้ให้เห็นว่าถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเหตุต้องออกจากตำแหน่ง จะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองได้ เพราะที่ผ่านมา ตลอด 6 ปี เศรษฐกิจไทยย่ำแย่มาตลอด เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุด และมาย่ำแย่เพิ่มเติมในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด ทั้งนี้เพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจ การลงทุนในประเทศไทยจึงลดลงมากมาตลอดซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เคยยอมรับเองว่าการลงทุนหายไปมาก หากมีเหตุต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงอาจช่วยเรียกความมั่นใจให้กลับมา อีกทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง หยุดการประท้วงของคนจำนวนมากได้
ดังนั้น รองโฆษกพรรค พปชร. น่าจะศึกษาก่อนวิจารณ์ว่า สิ่งที่นายพิชัยพูดไม่ได้เป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างไร เพราะการที่ศาลตัดสินตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นหลักการของกฏหมายอยู่แล้ว เป็นการยุติปัญหาและยุติความขัดแย้ง ซึ่งสัญลักษณ์ของความยุติธรรม หากไม่เข้าใจก็ไม่ควรจะออกมาวิจารณ์ แต่ก็เข้าใจได้ว่าอาจจะแค่การโต้แก้เก้อ เพราะคนจำนวนมากเริ่มเห็นด้วยกันมากว่าพล.อ.ประยุทธ์ ควรจะออกจากตำแหน่งได้แล้ว
ตรีชฎา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เกษียณอายุราชการมานานแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลวงเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นการรับผลประโยชน์เกิน 3,000 บาทหรือไม่ การอ้างว่าเป็นบ้านหลังที่อาศัยอยู่่ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นบ้านรับรองได้เพราะใช้อาศัยอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกว่าบ้านพักอาศัย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ น่าจะต้องตอบ 5 ประเด็นที่น่าจะทำผิดในเรื่องนี้ และพรรคเพื่อไทยได้เสนอไว้แล้ว แต่พลเอกประยุทธ์กลับไม่กล้าตอบ
"พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า S&P ยังคง rating เดิม แสดงถึงความไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจเลย สาเหตุของการคงเรตติ้งมาจากทุนสำรองระหว่างของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง เนื่องจากไทยสะสมทุนสำรองมานานเป็นสิบกว่าปีแล้ว ไม่ได้เกิดจากสมัยพลเอกประยุทธ์ จึงทำให้มีเรตติ้ง BBB+ แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะดี ซึ่งหากถามประชาชนทั่วไปจะทราบดีว่าเศรษฐกิจปัจจุบันหนักหนาสาหัสขนาดไหน ธุรกิจ SMEs ปิดตัวกันจำนวนมาก โรงงานก็ปิดตัว คนก็ตกงานมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าในอนาคตหนี้เสียในระบบธนาคารมากขึ้น ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น มีการไหลของเงินตราต่างประเทศออกนอก เรตติ้งก็อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ดังนั้นจึงควรเข้าใจที่มาของเรตติ้ง" ตรีชฎา กล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงติดลบอยู่แต่รัฐบาลกลับขายฝันว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นแล้ว ทั้งที่ปีหน้าคาดว่าจะโตได้ 3.5-4.5% ตามที่รัฐบาลคาดการณ์หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ และถึงโตได้ก็ยังไม่เท่าที่กับการที่จะติดลบในปีนึ้ที่อาจจะติดลบประมาณ 6-7 % ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเป็นอย่างน้อยที่จะกลับมาที่เก่าที่ยังคงแย่อยู่ ไม่ได้ฟื้นตัวได้จริงอย่างที่โม้ และล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจาเผยแพร่ ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 กันยายน มีจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.34 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขณะที่รองโฆษกพลังประชารัฐยังมาบอกว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณดีต่อเนื่อง สถานะคลังแข็งแกร่ง หนี้ยังไม่น่ากังวล ทั้งทีความเป็นจริงสวนทางกัน
นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ยังคงไม่ได้อ่านคำเตือน รวมถึง คำแนะนำ ที่นายพิชัยเสนอมาตลอด และเสนอไปจำนวนหลายข้อแล้ว รวมถึงทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ก็ได้นำไปทำบ้างแล้ว การที่รองโฆษก พปชร. บอกว่านายพิชัย ไม่เคยแนะนำ ก็น่าจะกลับไปอ่านคำแนะนำจำนวนมากที่นายพิชัยเสนอมาตลอด แสดงว่าปิดหูปิดตาไม่เคยอ่านข้อมูลเลยทั้งที่สื่อลงข่าวจำนวนมาก
"อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดโลกทัศน์เพื่อรับฟัง และ ศึกษาสิ่งที่ได้แนะนำ ไม่ใช่เอาคนที่ไม่มีต้นทุน หรือ เอาคนที่ไม่มีใครรู้จักมาตอบโต้แบบมั่วๆเสมอ ซึ่งจะยิ่งทำให้พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลเสื่อมลงยิ่งขึ้น และประชาชนจะยิ่งออกมาไล่มากขึ้น" ตรีชฎา กล่าว
ตรีชฎา กล่าวว่า รวมถึงข้อแนะนำที่นายพิชัยเคยเสนอไว้แล้ว เช่น การช่วยเหลือสภาพคล่อง SMEs ที่กำลังจะตายในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท, ทำค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง, การปรับประเทศสู่ระบบดิจิตอล (Digitalization) ที่เสนอมานานแล้ว แต่รัฐบาลไม่ยอมทำจนมีปัญหา 5 ทูตออกมาวิจารณ์ และ หอการค้าเพิ่งจะเสนอ, การหารายได้เข้ารัฐในรูปแบบอื่นนอกจากภาษี, การสร้างธุรกิจใหม่ๆทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างบริษัทยูนิคอร์น เป็นต้น และอีกเพียง 2 วันที่ประชาชนตั้งหน้าตั้งตารอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาเป็นหมู่หรือเป็นนายกฯ และวันนั้นกลุ่มน้องๆ นักศึกษานัดหมายกันไปชุมนุมด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไปติดตามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะยังมีความยุติธรรมให้กับประชาชนและคนรุ่นใหม่หรือไม่ อีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง ไม่ว่าจะออกมาเป็นหัวหรือก้อย รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ฝืนอยู่ต่อไปลำบาก เหมือนเป็ดง่อยไร้เสถียรภาพในสายตาประชาชน