การประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 ที่ยิ่งใกล้ถึงวันประกวดรอบสุดท้าย การแข่งขันก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเกณฑ์การตัดสินสำคัญที่จะทำให้ผู้เข้าประกวดมีโอกาสคว้ามงกุฎมิสไทยแลนด์เวิลด์ในปีนี้มากขึ้น นั่นคือ การแข่งขันรอบฟาสแทร็ก ‘Beauty with a Purpose’ หรือ ‘งามอย่างมีคุณค่า’ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของเวทีนี้
โดยโครงการส่วนใหญ่ของผู้เข้าประกวดปีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาและเด็ก เช่น 3 ตัวเต็ง อย่าง แผ่นฟิล์ม หมายเลข 6 กับโครงการ Hands to hands สอนหนังสือเด็กในค่ายพักคนงานก่อสร้าง, น้ำว้า หมายเลย 17 กับโครงการสร้างแรงบันดาลใจและค้นหาตัวตน Dare to Dream, และเนิส หมายเลข 18 กับโครงการ Music Reach Out ใช้ดนตรีบำบัดความเครียดของนักเรียนในห้องเรียน
โครงการเหล่านี้เกิดมาจากประสบการณ์ทำงานและพื้นฐานในชีวิตของพวกเธอที่พบเจอปัญหาในสังคม และต้องการที่จะเป็นหนึ่งพลังแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ขณะเดียวกันพวกเธอก็ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กไทย ฝากถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้แก้ปัญหาเหล่านี้ ผ่านการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่างๆ ดังนี้
แผ่นฟิล์ม - พมลชนก ดิลกรัชตสกุล หมายเลข 6 กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข จากการที่เธอได้ทำโครงการ Hands to Hands สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ในค่ายที่พักคนงานก่อสร้าง เธอได้พบว่าเด็กหลายคนไม่ได้รับการศึกษา หรือได้รับการศึกษาน้อยกว่าคนอื่น เพราะครอบครัวต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตามโครงการก่อสร้าง และหลายครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา แม้จะมีนโยบายเรียนฟรีก็ตาม
ขณะที่ เธอเองเกิดและเรียนหนังสือถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่จะย้ายเข้ามาเรียนต่อมัธยมปลายที่กรุงเทพมหานคร ทำให้เธอยิ่งได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด นอกจากนี้ เธอก็โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานด้านการศึกษา แต่เธอกลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างตั้งแต่เด็กจนโต
เธอเล่าให้ฟังต่อว่างบประมาณจำนวนมากต่อปีของกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ลงมาถึงโรงเรียนในต่างจังหวัด หรือโรงเรียนเล็กๆ อย่างเท่าเทียมกับโรงเรียนใหญ่ๆ ส่งผลให้อุปกรณ์การเรียนไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพเท่ากัน ครูในโรงเรียนไม่มีเพียงพอต่อการดูและเอาใจใส่เด็กๆ ครูหนึ่งคนต้องทำงานมากกว่า 1 งาน เช่น สอนหนังสือหลายวิชา อีกทั้งยังต้องทำงานธุรการ และกิจกรรมเสริมต่างๆ รวมทั้งคุณภาพของครูและความเชี่ยวชาญก็ไม่เท่ากัน เป็นสาเหตุที่ทำให้คำว่า “เด็กต่างจังหวัดจะมาสู้อะไรกับเด็กกรุงเทพฯ ได้” ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ และเป็นมายาคติที่ฝังอยู่ในความคิดของเธอตั้งแต่เด็ก
เธอเล่าต่อว่า ครั้งแรกที่ย้ายจากพิษณุโลกเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เธอรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติดูแลอย่างคุณหนู ขณะที่มองย้อนกลับไปชั้นมัธยมต้นที่บ้านเกิด ตนจะไม่มีทางได้รับอะไรอย่างนี้แน่ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนต่างจังหวัดคือรุ่นเก่าที่ใช้ได้บางเครื่อง แต่ที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นรุ่นใหม่ทุกเครื่อง เธอจึงตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่า แล้วทำไมเด็กๆ ในต่างจังหวัดไม่ได้รับตรงนี้ ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
เธอจึงอยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า อยากให้ภาครัฐกระจายโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท โดยการจัดสรรงบประมาณใหม่ นอกจากนี้ถ้าหากรัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ยังจะช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย ทั้งการกระจุกตัวและความแออัดของคนในเมือง แต่หากทำให้การศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกันทั้งในเมืองและชนบท บุคลากรและความเจริญก็จะกระจายตัวไปในชนบทอย่างเท่าเทียมกัน เยาวชนก็จะเรียนที่บ้านและสามารถสร้างความเจริญให้บ้านเกิดของตัวเองโดยไม่ต้องอพยพโยกย้ายเข้ามาแออัดกันในกรุงเทพฯ
เธอมองว่าจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ ยังนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพตามมา เช่น เด็กๆ ที่เธอไปสอนหนังสือมาในโครงการ ‘Hands to Hands’ หลายคนยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะนอกจากจะไม่มีเงินเรียน หรือเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่เท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่แล้ว ยังไม่มีเงินในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพด้วย บางคนถึงแม้จะมีบัตรทองสามสิบบาท ก็ไม่ครอบคลุมในการเบิกจ่ายยาอีกหลายโรค
ดังนั้นหากลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็จะลดความเหลื่อมล้ำในอีกหลายด้านไปตามๆ กัน ขณะเดียวกันโครงการอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลที่มีการวางโครงข่ายไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้จริง ดังนั้นหากปรับปรุงให้อินเทอร์เน็ตชุมชนเหล่านี้มีคุณภาพก็อาจจะสามารถเป็นสื่อการเรียนให้เด็กๆ เข้าถึงการเรียนที่มีคุณภาพเหมือนในเมืองได้อีกทางหนึ่ง
“อยากให้กระจายโอกาสทางการศึกษาหรือจัดสรรงบประมาณใหม่ให้กับน้องๆ ที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ให้มากขึ้นกว่านี้ อย่างฟิล์มเป็นเหมือนตัวแทนของเด็กต่างจังหวัด บางทีมันไม่ได้รับโอกาสและโอกาสทางการศึกษามันเข้าถึงยาก ถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ได้ มันจะไม่มีคำว่า เด็กกรุงเทพทำไมเก่งจัง ทำไมเราถึงสู้เด็กกรุงเทพไม่ได้ มันควรจะสู้ได้สิคะ แต่ทำไมการศึกษาที่มีคุณภาพถึงกระจุกอยู่ในแค่กรุงเทพฯ และปริมณฑล”
น้ำว้า - พรนัชชา อารยะสัจพงษ์ หมายเลข 17 เล่าว่าตัวเองเคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมา 3 ปี ได้พูดคุยกับนักเรียน แล้วพบว่าปัญหาในการศึกษาไทยอิงกับหลักสูตรมากกว่าตัวผู้เรียน ซึ่งมีวิชาบังคับมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญในโรงเรียนคือ เด็กควรได้มีเวลาหาความฝันของตัวเอง ทุกวันนี้เด็กไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียน หรืออยากทำงานอะไรกันเอง แต่กลับมาจากสังคม ค่านิยม และพ่อแม่ เช่น เรียนเก่งต้องไปเป็นหมอหรือวิศกร ทั้งที่บนโลกนี้ยังมีอาชีพอีกมากมาย และทุกอาชีพสำคัญเหมือนหมด
น้ำว้ายกตัวอย่างให้ฟังว่า เพื่อนของเธอเป็นเด็กเรียนเก่ง สอบติดแพทยศาสตร์ เพราะคิดว่าคนเรียนเก่งต้องเข้าหมอ แต่พอเรียนไปแล้วกลับรู้ตัวว่าชอบเภสัชศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้าคนเก่งเหล่านั้นได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบก็น่าจะเป็นบุคลากรสำคัญที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ขณะที่เด็กหลายคนเรียนตามพ่อแม่ พอจบไปทำงานก็ไม่มีความสุข ไม่สามารถสร้างงานออกมาได้เต็มศักยภาพ เธอเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในตัวเอง แต่เราจะค้นพบมันหรือไม่ ดังนั้นโอกาสในการค้นหาคุณค่าของชีวิต ค้นหาความฝัน และความสามารถในตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพื่อให้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง
ขณะเดียวกันเธออยากฝากให้รัฐบาลปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ให้ศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ตัวผู้เรียน เพื่อให้เด็กมีความสุขกับการเรียน และรู้จักตัวเองและความฝันของตัวเอง เธอมองว่าการศึกษาเป็นพื้นฐาน ถ้าทำให้เด็กเข้าใจตัวเองค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง เด็กเหล่านี้จะมีความสุขที่ตื่นขึ้นมาทำงานในทุกเช้า และเขาจะสามารถส่งต่อความสุข และความฝันนี้ให้ผู้อื่นกล้าคิดกล้าทำได้ต่อ
เธอจึงคิดว่าการที่ทำให้คนลุกขึ้นมาใช้ชีวิตตามความฝันใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ถือเป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และหากคนเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ คนเหล่านั้นก็จะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยใจรักในการพัฒนาตัวเองต่อไป เป็นหมอก็จะเป็นหมอที่เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยจะได้หมอที่มีคุณภาพ เป็นครูก็จะเป็นครูที่ใส่ใจนักเรียน พัฒนาวิธีการสอนของตัวเองอยู่เสมอ และส่งต่อความฝันช่วยเด็กหาตัวตนได้ต่อไป ประเทศก็จะก้าวหน้าไปมากกว่าเดิม เช่นเดียวกับโครงการของเธอ ‘Dare to Dream’ หนังสือไกด์บุ๊กที่ทำให้เด็กหาตัวตนและความฝันของตัวเองเจอ และการเวิร์คช็อปต่อยอดหนังสือให้เด็กๆ มาร่วมแชร์ความฝันกันเพื่อหาทางต่อยอดและลงมือทำตามความฝันได้อย่างมั่นใจ
“เด็กไม่รู้ตัวว่าชอบอะไร อยากจะเป็นอะไร หรืออยากจะเรียนอะไร อาชีพที่เด็กอยากเป็น ไม่ได้มาจากตัวเด็ก แต่มาจากสังคม มาจากพ่อแม่ มาจากค่านิยม ว่าฉันต้องเป็นหมอ ต้องเป็นวิศวะ ทั้งๆ ที่บนโลกเราในปัจจุบันมันมีอาชีพอีกมากมายซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน...เมื่อคนๆหนึ่งได้ค้นพบความฝันของตัวเอง เขาก็จะส่งต่อความฝันให้ผู้อื่นลุกขึ้นมา กล้าคิด กล้าฝัน และกล้าลงมือทำ การทำให้คนลุกขึ้นมาใช้ชีวิตจตามความฝัน ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
เนิส - ดุสิตา ทิพโกมุท หมายเลข 18 กล่าวว่า เธอเป็นครูในโรงเรียนอนุบาล ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอเกือบทุกห้องเรียนคือเด็กเป็นโรงซึมเศร้า เด็กๆ หลายคนมีปมตั้งแต่วัยเด็ก แต่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือความเศร้า อะไรคือความสุข ยกตัวอย่างพี่ชายของเธอเป็นโรคซึมเศร้ามาได้ 5 ปี ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะสูญเสียคนรัก แต่พอไปพบแพทย์และพูดคุยซักอาการไปเรื่อยๆ จึงได้รู้ว่าโรคนี้เป็นเพราะครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก แต่ที่บ้านและโรงเรียนไม่เคยรู้ เธอจึงถามตัวเองกลับว่า แล้วถ้าเด็กมีปัญหาที่บ้าน หรือมีการกลั่นแกล้งกันในห้องเรียน คุณครูจะปล่อยและไม่รับรู้เรื่องของเด็กหรือ? แต่เป็นเพราะสัดส่วนของเด็ก 1 ห้องมี ครู 1 คนต่อเด็ก 50 คน ซึ่งครูไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงแน่นอน และงบประมาณในการจ้างครูก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นปัญหาคือทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางสร้างความอบอุ่นให้กับเด็ก
เธอจึงอยากเรียนร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณใหม่ ให้ทุกโรงเรียนได้งบประมาณอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่โรงเรียนใหญ่ได้มาก โรงเรียนเล็กได้น้อยจนไม่เพียงพอ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน งบประมาณเหล่านี้ก็จะเอามาจ้างครูให้เพิ่มขึ้น จ้างครูที่มีประสิทธิภาพ และทุกโรงเรียนควรจะมีนักจิตวิทยาเด็กหรือครูที่จบด้านจิตวิทยาเด็กโดยเฉพาะ เพราะทุกวันนี้การเรียนวิชาการอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่เด็กควรได้รับการขัดเกลาจิตใจ บางคนกลั่นแกล้งเพื่อน (Bully) แต่ไม่รู้ตัว หรือบางคนที่เก็บตัวอยู่คนเดียวก็ไม่รู้ว่าเป็นความเศร้า พ่อแม่ก็ไม่รู้ ครูก็ไม่รู้
เธอยกตัวอย่างการศึกษาประเทศฟินแลนด์ มีเด็ก 20 คนต่อ 1 ห้องเรียน ครูจะสามารถมีเวลาเอาใจใส่เด็ก รู้ได้ว่าเด็กคนนี้ส่งสายตาอย่างไรให้เพื่อน เด็กคนนี้เจอปัญหาอะไรมา ซึ่งถ้าเด็กไม่มีความสุขก็จะไม่สามารถพัฒนาจิตใจได้ แล้วจะพัฒนาการศึกษาหรือทักษะอื่นๆ ได้อย่างไร หรืออย่างที่เธอเคยไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ทุกชุมชนจะมีโรงเรียน และมีการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ และชุมชนมาสังสรรค์กัน มีความอบอุ่น เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองให้เด็กสามารถเปิดใจเล่ากับครูได้ว่าไปเจออะไรมา
ขณะที่ โรงเรียนในประเทศไทยมีแค่สอนกับสอบ การที่มีเด็กจำนวนมาเกินไปต่อครู 1 คน แทนที่จะได้รับการศึกษากลับไม่ได้อะไรนอกจากความเหนื่อยล้า เด็กแต่ละคนได้รับการดูแลที่ไม่เท่าเทีย���กัน เด็กหน้าห้องได้รับการดูแลอีกแบบ หลังห้องได้รับการดูแลอีกแบบ ทั้งที่เด็กอาจจะอยากเรียน เด็กอาจจะคิดว่าเมื่อครูไม่ใส่ใจแล้วเด็กจะตั้งใจเรียนไปทำไม ขณะที่ความแออัดในห้องเรียนอาจจะทำให้โรงเรียนกลายเป็นการบ่มเพาะปัญหา หากมีกากลั่นแกล้งหรือความไม่เท่าเทียมในห้องเรียน ถ้าเด็กเยอะเกินแล้วครูใส่ใจเขาไม่ได้ เด็กอาจจะเก้บตัว และถอยออกไปเลยจากการศึกษา จะกลายมาเป็นปัญหาให้กับเด็กในอนาคต
โครงการที่เธอทำตอนนี้คือ Music Reach Out โดยการดึงทักษะทางการเล่นดนตรีของเธอ มาใช้ดึงความสนใจให้เด็กก่อนเข้าเรียนในเนื้อหา เช่น เล่นดนตรี ร้องเพลง และวาดภาพ เพื่อให้เด็กรู้สึกอยากเรียน ไม่ใช่ให้เด็กรู้สึกว่าเรียนเพราะต้องเรียน และการเปิดใจเด็กๆ ด้วยกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เห็นว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร ใครไม่ชอบใคร ปิดท้ายห้องเรียนด้วยการทำสมาธิ และทำให้เด็กรู้ถึงความสำคัญของเพื่อน และการแบ่งแยกในห้องเรียนจะลดลงไป และเห็นปัญหาของเด็กชัดเจนมากขึ้น
เช่น มีเด็กคนหนึ่งที่เก็บตัวเงียบๆ ชอบวาดภาพเศร้าๆ ที่มือ เช่น ภาพตัวเองร้องไห้ พอเธอสังเกตและเข้าไปคุยกับเด็กพบว่าพ่อแม่แยกทางกัน เธอจึงอยู่กับเด็กคนนี้อย่างใกล้ชิด 6 เดือน จนอยากไปโรงเรียน กล้าพูดมากขึ้น รูปที่วาดบนมือก็สดใสมากขึ้น แถมยังเริ่มเล่นเปียโนเพราะเธอ เธอเล่าให้ฟังว่าตอนแรกเธอเริ่มเล่นเปียโนเพลงเศร้าให้เด็กฟังเพื่อปลดปล่อยความเศร้าในตัวเอง จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาอารมณ์ของเธอ หลายครั้งปัญหาในบ้านที่ครูไม่สามารถเข้าไปแก้ได้ แต่ครูสามารถช่วยเหลือเด็กในโรงเรียนได้ ซึ่งเธอต้องการให้รูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้เป็นแบบอย่างให้กับอีกหลายห้องเรียนในประเทศ โดยการทำเทปการสอนนี้ส่งให้กับอีกหลายโรงเรียนดูเป็นตัวอย่างด้วย เธอเชื่อมาเสมอว่า ครูไม่ใช่แค่ Teacher แต่ยังเป็น Developer และ Care-taker สำหรับเด็ก
“ถ้าเด็กเขาไม่มีความสุข เขาไม่สามารถพัฒนาจิตใจเขาได้ เขาจะพัฒนาการศึกษา พัฒนาทักษะของเราได้ยังไง โรงเรียนควรจะเป็นศูนย์กลางความอบอุ่น”
การประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์รอบสุดท้ายจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคมนี้ที่ พาลาเดียม ฮอลล์ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลียร์ ประตูน้ำ เวลา 20.30 น. และผู้ที่ชนะการประกวดจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดมิสเวิลด์ 2019 วันที่ 14 ธันวาคมนี้ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งในการเก็บตัวและประกวดระดับโลก มิสไทยแลนด์เวิลด์จะต้องนำโครงการของตัวเองไปพรีเซนต์ในรอบ Beauty with a Purpose ต่อหน้าคณะกรรมการเช่นเดียวกับผู้เข้าประกวดอีกกว่า 160 ประเทศ และหากใครที่ผ่านเข้ารอบฟาสแทร็กนี้ก็มีภาษีที่จะคว้ามงกูฎฟ้ามาครองได้ไม่ยากเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :