ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลไม่ออกโครงการใช้งบประมาณผูกพัน ขณะที่หัวหน้าคสช.ต้องงดเว้นในการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยอมรับเสียงประชาชน เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม พร้อมยันได้แคนดิเดตนายกฯของ พท. 3 ชื่อวันสุดท้ายของรับสมัคร 8 ก.พ.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยอ่านแถลงการณ์พรรค เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม น่าเชื่อถือเพื่อเป็นทางออกให้ประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยขอร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยที่จะมีโอกาสกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยการเลือกผู้แทนของตนเข้ามาบริหารประเทศ หลังจากที่ คสช. ได้ยึดอำนาจและปกครองประเทศมาเกือบ 5 ปียาวนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใดๆในรอบ 80 กว่าปีที่ผ่านมา 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่มีการบริหารของรัฐบาล คสช. ได้มีการกระทำหลายครั้ง ที่ส่อให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจและกลไกของรัฐ อันจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เช่น การที่ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ร่วมจัดตั้งและเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี โดยอาศัยช่องว่างตามรัฐธรรมนูญ การใช้งบประมาณอย่างมหาศาลทุ่มเทลงไปก่อนการเลือกตั้งไม่กี่เดือน 

โดยสังคมตั้งคำถามว่าเป็นการสร้างความนิยมก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้เล่นไม่ใช่เป็นกรรมการ ถ้ายินยอมเป็นนายกฯในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ และหากจะบริหารประเทศต่อไปก็จะอยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการสามารถจะใช้อำนาจหน้าที่เป็นคุณเป็นโทษต่อการจัดการเลือกตั้งได้ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แทรกแซงการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. และการเลือกปฏิบัติต่อพรรคเพื่อไทยโดยการไม่อนุญาตให้พรรคเพื่อไทยใช้สถานที่ราชการจัดเวทีปราศรัย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้อนุญาตให้พรรคการเมืองบางพรรคใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ เป็นต้น 

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าประชาชนรอคอยการเลือกตั้งมาเป็นเวลานานหลังจากที่เลื่อนมาแล้ว 5 ครั้ง และเห็นว่าการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและน่าเชื่อถือเท่านั้นที่จะเป็นทางออกที่แท้จริงให้กับประเทศ และเป็นหนทางนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งจะสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเกียรติภูมิของประเทศในเวทีโลก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องไม่ทำลายความหวังของพี่น้องประชาชนโดยการกระทำใดๆที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี ไม่เป็นธรรมและไม่น่าเชื่อถือ พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงดังต่อไปนี้ 

1) แม้รัฐบาลนี้จะอ้างว่า ตนเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐบาลต้องใช้อำนาจเสมือนเป็นรัฐบาลรักษาการ โดยต้องไม่ริเริ่มโครงการใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณผูกพัน หรืองบประมาณจำนวนมากในลักษณะที่จะสร้างความนิยมทางการเมือง ต้องไม่โยกย้ายและแต่งตั้งข้าราชการที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง 

2) หัวหน้า คสช. ต้องงดเว้นในการใช้อำนาจตามมาตรา 44 

3) คสช. และรัฐบาลต้องรักษาความเป็นกลางทางการเมืองโดยเคร่งครัดและไม่ใช้อำนาจ รวมทั้งไม่ใช้ข้าราชการและกลไกของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองหรือเลือกปฏิบัติหรือให้โทษต่อพรรคการเมืองใด นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งรัฐมนตรี ได้วางตนเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง การที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสองแห่งในภาคอีสาน ที่เพิ่งพ้นจากพงหนามของมาตรา 44 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สดๆร้อนๆขึ้นเวทีปราศรัยแนะนำผู้สมัครให้กับพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่นำพาต่อคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด 

4) กกต. ต้องใช้อำนาจของตนให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรมและน่าเชื่อถือ และต้องไม่ยอมให้มีการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. โดยเด็ดขาด พรรคขอเรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ยกเป็นกรณีตัวอย่างข้างต้นว่ามีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเป็นคุณแก่พรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ 

5) พรรคขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมกันทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรี และเที่ยงธรรม ด้วยการสอดส่องและเปิดโปงการทุจริตการเลือกตั้งทุกรูปแบบ 

6) พรรคเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างสร้างสรรค์ แข่งขันนำเสนอนโยบายให้ประชาชนตัดสิน และเมื่อประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนและผลการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม 

วอนทุกฝ่ายหาเสียงสร้างสรรค์ไม่ใส่ร้ายจมปลักอดีต

ด้านพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันพรรคเพื่อไทยพร้อมสู้สนามเลือกตั้ง อยากเรียกร้อง กกต. รัฐบาลดำเนินการเลือกตั้งเสรีเป็นธรรม ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธินำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ พร้อมสอดส่องพฤติกรรมทุจริตเลือกตั้ง

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ขอให้ทุกพรรครณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสร้างสรรค์อย่าใส่ร้ายอย่าจมปลักกับอดีตมาร่วมสร้างอนาคตร่วมกัน พรรคพร้อมเคารพการตัดสินและผลเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ระบุว่า จากการพูดคุยกับต่างชาติอยากเห็นเลือกตั้งน่าเชื่อถือ สิ่งใดที่ดีคงไม่ยกเลิกสำหรับโครงการของรัฐบาลปัจจุบัน สิ่งใดที่เห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ดีขึ้น ถ้าทุกคนเคารพเสียงประชาชนเชื่อว่าทุกอย่างไม่มีปัญหา

เลขาฯ พท. ยันได้ 3 ชื่อแคนดิเดตนายกฯ 8 ก.พ.

ด้าน นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่าในวันที่ 28 ม.ค.นี้ พรรคจะเชิญว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มาร่วมหารือรายละเอียดข้อควรระวัง เป็นการประชุมใหญ่เป็นการพูดทำความพร้อมเลือกตั้งตรวจสอบคุณสมบัติการเลือกตั้ง สำหรับนโยบายหลักที่พรรคจะประกาศนั้น การพูดคุยนโยบายแบเดิมคงไม่ง่ายตามกฎหมายแต่จะพยายามไปลงในทุกมิติ ส่วนจะการเปิดแคนดิเดตนายกฯ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่นั้น ทุกอย่างต้องจบในวันที่ 8 ก.พ.นี้ โดยการประชุมพรรคครั้งนี้จะเปิดผู้สมัคร ส.ส.แบบเขต ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกฯของพรรค ยังมีเวลาจนถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส.ในวันที่ 8 ก.พ. สำหรับแคนดิเดตนายกฯ ยังต้องสอบถามคณะกรรมการสรรหา กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรค สาขาพรรคก่อน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จะส่งแคนดิเดตนายกฯ 3 รายชื่อ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ควรลาออกหัวหน้า คสช. หรือไม่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ระบุว่า นายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่ถ้าทำอะไรไม่เป็นกลางในช่วงเลือกตั้งจะมีปัญหาได้ และไม่ขอให้ความเห็นว่าควรลาออกหรือไม่ เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี

พรรคเพื่อไทย 2966.jpg

จี้ กกต. แจงหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายชูศักดิ์ ยังฝากไปถึง กกต.กรณีหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ เพราะต้องยื่นแบบแสดงรายการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียถ้าเป็นผู้สมัครให้ยื่นที่ กกต.จังหวัดถ้าเป็นพรรคการเมืองยื่นต่อเลขาธิการ กกต. ขณะนี้ยังไม่มีผู้สมัคร ส.ส. แต่ก็มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จะยื่นแบบรายการต่อ กกต.จังหวัดแต่ก็ไม่รับ ทำให้ต้องรอจนถึงวันที่ 4 ก.พ.ที่เป็นวันรับสมัคร ทำให้ผู้สมัครเกรงว่าอาจเข้าข่ายหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ จึงยุติการแสดงความเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อน แต่ถ้าระงับไว้ก่อนจนถึงวันที่ 4 ก.พ. ก็เกิดช่องว่างทางกฎหมาย อีกทั้ง การใช้แอปพลิเคชันไลน์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะทำได้หรือไม่และต้องแจ้งต่อ กกต.ด้วยหรือไม่การแสดงความเห็นผ่านไลน์ นอกจากนี้ ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องยื่นหลักฐานการเสียภาษี 3 ปีติดต่อกันจนถึงวันรับสมัครเลือกตั้งในปีนั้น ซึ่งการยื่นภาษีในปี 2561 จะยื่นได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้ การที่ผู้สมัครบางคนยังไม่ได้แบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ในปีล่าสุดอาจมีปัญหาได้ จึงอยากทราบว่าจะใช้แบบเสียภาษีในปี 2558-2560 ได้หรือไม่

นายชูศักดิ์ ระบุว่า กรณีพล.อ.ประยุทธ์ เตือนให้พรรคการเมืองระวังงบฯการใช้หาเสียงนั้น นายชูศักดิ์ ระบุว่า กฎหมายเดิมให้พรรคการเมืองใช้งบฯได้ ร้อยกว่าล้านบาท แต่ขณะนี้ใช้เพียง 35 ล้านบาทของพรรคการเมือง ส่วนการติดป้ายหาเสียงสามารถทำได้แล้วโดยไม่ต้องรอการแจ้งจาก กกต.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :