ไม่พบผลการค้นหา
ความอ่อนแอของเศรษฐกิจเยอรมนี-จีน กระทบสหรัฐฯ หนัก นักวิเคราะห์ชี้อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอย่างเยอรมนี ที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 4 ของโลก กำลังเริ่มเคลื่อนตัวมาสู่สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในลำดับที่ 1 หลังตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรส่งสัญญาณความอ่อนแอ

ในไตรมาสที่ 2/2562 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของเยอรมนีหดตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่รายงานผลผลิตทางอุตสาหกรรมของจีน ยักษ์ใหญ่ฝั่งเอเชีย ก็ออกมาน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

'นิโคลัส อคิน' ผู้บริหารสูงสุดของ บริษัทพลังงานไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้เหมือนกับภาวะก่อนเศรษฐกิจถดถอยที่มีสอนกันอยู่ตามหนังสือเศรษฐศาสตร์ทั่วไป 

หนึ่งในปัจจัยบั่นทอนหลักมาจากการชะลอของการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และจีน ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจลำดับที่ 1 และ 2 ของโลก ที่ทำให้เกษตรกร เจ้าของโรงงานการผลิต ผู้ค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องแบกรับภาระมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกอย่างจีนและเยอรมนีจึงเป็นเหยื่อโดยตรงของสงครามการค้าครั้งนี้ ส่วนสหรัฐฯ ที่ไม่ได้พึ่งพิงการส่งออกก็ใช่ว่าจะไม่เจอผลกระทบเลย เพราะบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจทั่วโลกได้ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษพัฒนาสายการผลิตทั่วทุกมุมโลก และความไม่แน่นอนทางการค้านี้ก็ส่งให้เกิดความหวาดกลัวในการลงทุน

'อี สก็อต ซานติ' ผู้บริหารสูงสุดของ ทูวเวิร์คอิลลินอยส์ กล่าวว่า ความไม่แน่นอนมีแต่จะก่อตัวมากขึ้น และผู้ผลิตจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา

ผลสำรวจจากเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เผยว่า นักเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยละ 33.6 มองว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีร้อยละ 30.1 และอัตราส่วนนี้ยังนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555

ขณะที่ ค่าเฉลี่ยมุมมองการเกิดภาะเศรษฐกิจถดถอยของปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 18.3 เท่านั้น

ข่าวดีเล็กน้อยที่ยังเหลือให้สหรัฐฯ

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถูลู่ถูกังของแต่ละประเทศ สหรัฐฯ ดูเหมือนจะยังมีช่องว่างให้ได้พักหายใจบ้าง เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า สหรัฐฯ จะไม่ต้องเผชิญหน้ากับการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจแบบในช่วงปลายทศวรรษ 90  

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้งที่ผ่านมาในอดีตของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นในยุคด็อทคอม ช่วงปี 2543 - 2544 หรือช่วงความไม่มั่นคงทางการเงินในปี 2550 - 2552 ล้วนเกิดจาก การที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เฟด ก็เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนจึงมองว่า หากสหรัฐฯ จะเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริง ในครั้งนี้จะมีต้นเหตุมาจากการลงทุนภาคธุรกิจที่ตกต่ำ ไม่ใช่จากเหตุผลเรื่องอัตราดอกเบี้ยแบบเดิม

'อัลเลน ซิไน' นักพยากรณ์จากสถาบันด้านการตัดสินใจเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า หากรายรับของภาคธุรกิจลดลง จะส่งผลโดยตรงต่อเม็ดเงินในการลงทุนและเพิ่มความเสี่ยงเรื่องการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราการว่างงาน ซึ่งก็เริ่มมีสัญญาณให้กังวลบ้างแล้ว หลังรายงานผลกำไรของภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ก่อนคิดภาษีในไตรมาส 1/2562 ลดลงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่ ตัวเลขการลงทุนภาคธุรกิจก็ลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 2/2562 

'เจเน็ต เยลเลน' อดีตประธานเฟด กล่าวว่า เธอยังเชื่อมั่นในความแข็งแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะหลบเลี่ยงการชะลอตัวได้ แต่ "ความเสี่ยงมันเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระดับที่ฉันไม่ค่อยรู้สึกสบายใจกับมัน"

อ้างอิง; WSJ, Bloomberg, WP