ประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายก่อสร้าง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางและขนาดใหญ่ในทุกพื้นที่ ตรวจสอบงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้มีความพร้อมที่จะช่วยระบายน้ำหลาก โดยกำชับให้ผู้รับจ้างเก็บวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ในจุดที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางน้ำ
สำหรับสถานการณ์วิกฤตน้ำที่เกิดขึ้น เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ หากมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านจุดก่อสร้าง สามารถดำเนินการได้ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ภายหลังกรมอุตุนิยมวิทยา และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนเตรียมรับมือพายุโซนร้อนซินลากูที่จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของไทยระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-4 ส.ค. 2563
“ได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างทุกคน ติดตามพยากรณ์อากาศ ประเมินสถานการณ์น้ำล่วงหน้า ปรับพื้นที่ให้มีความมั่นคงแข็งเรง จัดเตรียมกำลังคน ยานพาหนะให้พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที” นายประพิศกล่าว
ด้านโครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และอีก 2 จังหวัด คือ เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ หลายโครงการคืบหน้าไปมาก ดังนั้นหากฝนตกหนักในพื้นที่ใดแม้โครงการจะอยู่ระหว่างก่อสร้างก็จะสามารถระบายน้ำช่วยบรรเทาอุทกภัยได้ อาทิ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ระยะที่ 2 จ.สงขลา ซึ่งสัญญาที่ 1 งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมอาคารประกอบ จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้
ส่วนสัญญาที่ 2 งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมอาคารประกอบ จะแล้วเสร็จ 100% ในปี 2564 ในส่วนของสัญญาที่ 3 งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมอาคารประกอบ และสัญญาที่ 4 งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมอาคารประกอบ จะแล้วเสร็จใน 63
อย่างไรก็ตามในปี 2564 โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ สำหรับโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง จะแล้วเสร็จ 100% ในปี 2564 เช่นเดียวกัน
อ่่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :