อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาเตรียมเดินทางไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ ที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลและกองทัพในวันที่ 10-12 ธ.ค.นี้ หลังจากที่แกมเบีย ในฐานะตัวแทน 57 ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ในการยื่นฟ้องศาลว่า ทางการเมียนมามีส่วนรับผิดชอบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาระหว่างการปฏิบัติการเมื่อปี 2017
เมียว ยุนต์ โฆษกพรรคเอ็นแอลดีของซูจี เปิดเผยว่า ซูจีต้องการไปขึ้นศาลเองโดยสมัครใจ ไม่ได้ถูกกดดันโดยกองทัพแต่อย่างใด และในช่วงที่ซูจีขึ้นศาล ผู้สนับสนุนเธอจะร่วมเดินขบวนให้กำลังใจซูจีกันในหลายเมือง รวมถึงนครย่างกุ้งและมัณฑะเลย์
แม้คนในเมียนมาจะยินดีที่ซูจีจะไปขึ้นศาล ICJ แต่นานาชาติค่อนข้างผิดหวังที่เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพจะไปเป็นตัวแทนให้การในศาล เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชียได้ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออนไลน์ว่า ยิ่งซูจีเต็มใจไปขึ้นศาลเอง ไม่ได้ถูกกองทัพกดดันให้ไปก็ยิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะทุกคนหวังว่าเธอจะปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างที่เคยสัญญาไว้ก่อนจะเข้ามาบริหารประเทศว่าจะยุติความขัดแย้งในเมียนมา ปกป้องสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการสมาคม แต่ถึงเวลาแล้ว เธอกลับไม่สนใจเรื่องนี้เลย และพรรคเอ็นแอลดีของเธอก็ยังพยายามนำนักกิจกรรมไปเข้าคุกด้วย
“เมื่อเกิดเหตุเลวร้ายกับชาวโรฮิงญา อองซานซูจีไม่พูดอะไรเลย นับตั้งแต่นั้นมา เธออยู่ข้างกองทัพมาโดยตลอด ในทุกโอกาส เพจเฟซบุ๊กของเธอก็เขียนว่าความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์เก็บข้อมูล และยูเอ็นเก็บข้อมูลไว้ เป็นเฟคนิวส์ (ข่าวปลอม) เธอใช้คำนั้นจริงๆ” อดัมส์ยังกล่าวว่า เขาไม่คิดว่าซูจีจะเป็นคนสั่งหรือรู้เห็นเกี่ยวกับการปราบปรามโรฮิงญาก่อนจะเกิดเหตุ แต่ตอนนี้เธอกลับ “ประทับลายนิ้วมือตัวเองลงไปที่เหตุเลวร้ายนี้”
(แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรทวอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย)
ฟ้อง ICJ แล้วได้อะไร?
แบรด อดัมส์ อธิบายว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เป็นศาลสากลให้รัฐบาลประเทศหนึ่งยื่นฟ้องร้องรัฐบาลอีกประเทศหนึ่ง ไม่ใช่การเอาผิดปัจเจกบุคคล (หากเอาผิดปัจเจกบุคคล จะฟ้องในศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC) ดังนั้น คดีนี้ถูกคาดหวังว่า ศาลจะตัดสินว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริงไหม และแกมเบีย ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้อง ได้ขอให้ศาลตัดสินให้เมียนมาว่าจะต้องยุติการโจมตีชาวโรฮิงญา หยุดผลักไสโรฮิงญาออกจากพื้นที่ พวกเขาต้องอนุญาตให้ชาวโรฮิงญากลับไปได้ และหากศาลตัดสินเช่นนั้น ก็จะมีผลผูกพัน เนื่องจากประเทศสมาชิกยูเอ็นทั้งหมดได้ตกลงที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว
“ทำไมอองซานซูจีไป…ผมไม่รู้จริงๆ” อดัมส์กล่าวต่อว่า ซูจีน่าจะมีทางโต้แย้งในศาลเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ 1. อาชญากรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น แต่หลักฐานเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นก็มีจำนวนมาก 2. อาชญากรรมเกิดขึ้นจริง แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งหากซูจีเลือกทางนี้ ก็จะเป็นการยอมรับที่สำคัญจากทางการเมียนมา แต่ “ไม่ว่าทางไหน เธอก็จะดูแย่หมด”
อาเซียนมีบทบาทเรื่องโรฮิงญาบ้างไหม?
อดัมส์กล่าวว่า “ยอมรับเถอะว่าอาเซียนในฐานะสถาบันไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน มันยังเป็นคลับของเผด็จการ มันเริ่มจากคลับของเผด็จการ และยังเป็นคลับของเผด็จการอยู่ คุณมีฮุน เซน มีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม พรรคคอมมิวนิสต์ลาว ชัดเจนว่าเมียนมาไม่เห็นด้วยกับทุกมาตรการเกี่ยวกับโรฮิงญา คุณไม่สามารถออกมติเอกฉันท์ของอาเซียนในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนหรือมาตรการใดๆ”
อย่างไรก็ตาม มาเลเซียและอินโดนีเซียยังคงเป็นสองประเทศหลักที่พยายามผลักดันด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิของชาวโรฮิงญา โดยมาเลเซียและอินโดนีเซียลงมติสนับสนุนประณามเมียนมาในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยในอาเซียนเท่านั้น
ขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยคัดค้านทุกมตินานาชาติที่จะประณามหรือมีมาตรการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องโรฮิงญา อดัมส์กล่าวว่า “มันน่าละอายมากสำหรับไทย ทั้งที่ไทยรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในเมียนมา อาจจะรู้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยซ้ำ แต่กลับไม่กระดิกนิ้วเพื่อปกป้องโรฮิงญาเลย”
ดังนั้น อดัมส์จึงไม่คาดหวังว่า อาเซียนจะมีบทบาทสำคัญอะไรในการแก้ไขสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาได้มากนัก อาจจะมีการกดดันแบบทวิภาคีระหว่างเมียนมากับมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ไม่น่าเกิดขึ้นกับอาเซียน
อาเซียนพยายามกดดันให้เมียนมาอนุญาตให้โรฮิงญากลับประเทศ ?
อดัมส์ถามกลับว่า “ถ้าคุณเป็นโรฮิงญา คุณจะกลับไปทำไมตอนนี้?” เนื่องจากไม่มีใครสัญญาได้ว่า จะได้รับการปกป้อง หมู่บ้านถูกเผา กองทัพเดิมที่ขับไล่พวกเขาออกจากประเทศยังอยู่ในอำนาจ บ้านอาจไม่มีเหลือแล้ว ต้องกลัวเรื่องความมั่นคงปลอดภัยเหมือนเดิม ไม่มีงาน หลายคนสูญเสียที่ดินไปอย่างถาวร จึงเสี่ยงมากที่จะกลับไป
“แม้สถานการณ์จะย่ำแย่มากในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ แย่ที่สุดเท่าที่ในโลก คนก็ยังไม่อยากกลับ ซึ่งบอกได้ว่าพวกเขากลัวขนาดไหนที่จะกลับไป พวกเขาไม่ได้อยากอยู่ในบังกลาเทศในค่ายผู้ลี้ภัย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังมีชีวิตรอด อย่างน้อยพวกเขายังได้กินข้าวทุกวัน และไม่ต้องกังวลทุกคืนก่อนนอนว่าจะถูกกองทัพโจมตี”
(ชาวโรฮิงญาลี้ภัยออกจากรัฐยะไข่ของเมียนมาไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ)
วิกฤตโรฮิงญาบดบังความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเมียนมาไหม ?
“ถ้าคุณมองไปรอบโลก เรื่องนี้เป็นหนึ่งในความเลวร้ายที่รุนแรงที่สุดในโลกที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี” การปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา ส่งผลให้ 720,000 คนออกจากประเทศในเวลาไม่กี่เดือน มีการสังหารหมู่ ข่มขืน เผาบ้าน โจมตีหมู่บ้าน ดังนั้น เรื่องนี้ก็สมควรได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก แต่อดัมส์กล่าวว่า เขาก็เข้าใจความคับข้องใจกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง กะฉิ่น ฉาน มอญ เป็นต้น เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มที่เคยได้รับความสนใจ
เมื่อ 12 ปีก่อน อดัมส์ก็เคยเรียกร้องให้มีการประณามรัฐบาลทหารของเมียนมาที่ก่ออาชญากรรมรุนแรงกับชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จนทำให้หลายคนต้องลี้ภัยเข้ามาอยู่ในไทย และความขัดแย้งเหล่านั้นก็ยังไม่ยุติ ยังมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อดัมส์จึงเห็นว่า “มันควรจะเป็นไปได้ที่จะใส่ใจและสนใจเรื่องโรฮิงญา และสนใจกลุ่มชาติพันธุ์อื่นไปด้วยพร้อมๆ กัน”
สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนโดยรวมในเมียนมาดีขึ้นบ้างไหม?
อดัมส์กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา แย่กว่าตอนที่รัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดีขึ้นมาเป็นรัฐบาลตอนแรก แม้พรรคเอ็นแอลดีจะอ้างว่า พวกเขาไม่ได้ควบคุมกองทัพและตำรวจ รวมถึงถูกกองทัพกดดันอย่างมาก และรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ถูกแก้ไขให้รัฐบาลพลเรือนควบคุมกิจการต่างๆ แต่เขาก็มองว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงข้อแก้ตัวเท่านั้น
“เอ็นแอลดีเองก็ฟ้องคดีกับนักกิจกรรมหลายกรณี พวกเขาต้องการให้ผู้สื่อข่าวเข้าคุก นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังจากพวกเขา ถ้าพวกเขาปกป้องสิทธิมนุษยชนในส่วนของตัวเอง พวกเขาก็ยังสามารถแยกตัวเองออกจากกองทัพ แล้วก็ชี้นิ้วไปหากองทัพได้ว่า เราได้ทำเต็มที่เท่าที่จะทำได้แล้ว แต่กองทัพไม่ยอมให้ประเทศเคารพสิทธิมนุษยชนได้เต็มที่”
(วา โลน และจ่อโซอู ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สที่เคยถูกจำคุกจากการรายงานการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา)