ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา 'คนต้องไม่หาย ออก​กฎ​หมายต้องเป็นธรรม'​ เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ย้ำต้องปฏิรูป​กระบวนการยุติธรรม 'เบญจา'​ ก้าวไกล เล็งแก้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ให้ก้าวหน้า

ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว วงเสวนา ‘คนต้องไม่หาย ออกกฎหมายต้องเป็นธรรม’ เนื่องในวันผู้สูญหายสากล (30 ส.ค. ของทุกปี)


ภรรยา ‘สุรชัย’ เผยร้องกับหน่วยงานรัฐไม่ได้ผล 

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ในฐานะภรรยาของ สุรชัย แซ่ด่าน นักกิจกรรมทางการเมืองผู้สูญหาย กล่าวว่า สุรชัยต่อต้านเผด็จการมานาน แต่เมื่อ 22 พ.ค. 2557 มีการรัฐประหาร ในฐานะผู้เห็นต่างก็ลี้ภัยไปประเทศเพื่อบ้าน และได้วิพากษ์วิจารณ์เผด็จการมาตลอด และได้ติดต่อกับครอบครัวทางไลน์เท่านั้น ต่อมาพบศพขึ้นที่ท่าน้ำ จ.นครพนม และมี 1 ศพที่หายไป คล้ายกับสุรชัย มากที่สุด คนที่รู้เห็นในวันที่ศพหายในวันนั้นคือผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าจำปา โดยผู้ใหญ่บ้านให้ปากคำกับตำรวจที่ไม่ตรงกัน 

ปราณี กล่าวอีกว่า ตนได้ไปร้องกับกรรมการสิทธิมนุษยชนในปี 2562 ซึ่งขอความอนุเคราะห์ว่าการที่สุรชัยลี้ภัยทางการเมือง และไม่ได้ต่อสู้คดี และสามารถฟ้องกลับได้ ตนจึงต้องถูกศาลสั่งปรับคดีที่สุรชัย ถูกกล่าวหาว่าไปปราศรัยบนเวทีอาเซียน และได้ไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ 

ปราณี เสริมว่า ตนไปร้องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้ผลเช่นกัน เรียกร้องความเป็นธรรมกับทุกหน่วยงานก็ยังเงียบ คงต้องรอได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ถึงจะมารื้อฟื้นเรื่องนี้ใหม่ หากสิ้นปี 2566 ครบ 5 ปียังไม่สามารถพบเจอศพ สุรชัย คงต้องทำเรื่องต่อศาลในการยุติค่าปรับ


‘อัญชนา’ กางสถิติ ‘อุ้มหาย-ทรมาน’ ใน จชต. 

อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และผู้ทำงานรณรงค์ในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีขัดแย้งมาตั้งแต่ 2547 รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งกฎอัยการศึกให้อำนาจในการควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับใน 7 วัน ทำให้เกิดประเด็นเรื่องการสูญหายและการซ้อมทรมาน 

อัญชนา กล่าวอีกว่า ข้อมูลมีบันทึกไว้ 33 กรณี ผู้ที่สูญหายรายล่าสุดคือปี 2555 คือ ‘ฟาเดล เสาะหมาน’ ซึ่งในกรณีคนหายนี้ไม่ได้มีกระบวนการเยียวยาโดยระบบ แต่เป็นการเยียวยาที่ต้องผ่านการพิจารณาต่างๆ นานา ไม่ได้มีการค้นหาว่าผู้กระทำคือใคร แม้ครอบครัวผู้สูญหายรู้ว่าเป็นใคร แต่ไม่มีความกล้าระบุตัวบุคคลที่ทำให้สูญหายได้ เกิดความเหลื่อมล้ำ กระบวนการเยียวยาเมื่อปี 2557 บางกลุ่มได้รับเยียวยา และบางกลุ่มไม่ได้รับการเยียวยา ทำให้เกิดสภาพครอบครัวที่แตกสลาย 

อัญชนา เสริมว่า ส่วนการซ้อมทรมาน มีหลายๆ กรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้เสียหาย ซึ่งได้ทำการบันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2554 พบ 45 ราย และต่อเนื่องสิบกว่ารายมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ในส่วนของกฎหมายที่ออกมาล่าสุด ตนมองว่าอย่างน้อยก็เป็นกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำทรมานได้ หรือบุคคลได้ที่กระทำทรมานต้องฉุกคิดว่าจะส่งผลต่ออาชีพการงานของเขาหรือไม่ และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำง่าย 

“ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ หากเทียบเคียงกับเอกสารของสหประชาชาติ เราสามารถนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมานมาบังคับใช้กฎหมายได้ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ด้วย เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ใช้กฎหมาย และผู้ได้ประโยชน์จากกฎหมาย” อัญชนา กล่าว 

อัญชนา กล่าวอีกว่า การแต่งตั้งกรรมการกฎหมาย แต่งตั้งโดยสภาผู้แทน แต่ว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ ระดับปลัดกระทรวงต่างๆ แทบจะไม่มีเวลาว่างมาพิจารณาประเด็นละเอียดอ่อน เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ทำให้กฎหมายไม่สามารถใช้ได้จริง ขณะที่การทรมานและอุ้มหาย เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ 


‘เบญจา’ ชี้ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร​ (ส.ส.)​ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ผ่านในสภา แต่มีการปรับแก้ในชั้นวุฒิสภา (ส.ว.) ในอนาคตอยากเห็นการแก้ไขให้ก้าวหน้ามากขึ้น 

"กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นยาบรรเทา ที่สามารถช่วยเรื่องความยุติธรรมในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ แต่ต้องรวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง เจ้าหน้าที่รัฐ อัยการ และตุลาการ ทั้งหมดต้องถูกปฏิรูปทั้งกระบวนการ เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดมันยุติธรรม และอำนวยความยุติธรรมของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง" เบญจา กล่าว