เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง “นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการ” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,850 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 9 เม.ย. พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยมีสิ่งที่น่าพิจารณาคือ 5 อันดับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน พบว่า อันดับแรก หรือ ร้อยละ 57.2 ได้แก่ ปัญหาเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังเจอ อันดับที่สองหรือร้อยละ 52.5 ได้แก่ นโยบายที่พรรคการเมืองเสนอและทำได้จริง อันดับที่สาม หรือร้อยละ 44.1 ได้แก่ ผู้นำการเมือง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อันดับที่สี่ หรือ ร้อยละ 40.3 ได้แก่ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และอันดับที่ห้า หรือ ร้อยละ 38.0 ได้แก่ พรรคการเมือง
ที่น่าสนใจคือ นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการในมิติต่าง ๆ พบว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ใจกลุ่มคนที่ชอบนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ร้อยละ 78.6 อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ใจกลุ่มคนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์แก้ปัญหาธุรกิจ วิกฤตเศรษฐกิจได้ร้อยละ 73.8 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ใจกลุ่มคนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 73.2
อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ใจกลุ่มคนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่จิตใจดีไม่เป็นเหตุขัดแย้ง ร้อยละ 67.2
นอกจากนี้ อนุทิน ยังได้ใจกลุ่ม อสม. คนที่เห็นผลงานแก้วิกฤตโควิด นโยบายสุขภาพ ร้อยละ 62.3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใจกลุ่มคนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวของตัวเอง ร้อยละ 59.2
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ใจกลุ่มคนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถสื่อสาร ภาษาอังกฤษ ได้ดี ร้อยละ 52.4 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ใจกลุ่มคนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภาพจำในอดีต ร้อยละ 50.0 และ แพทองธาร ชินวัตร ได้ใจกลุ่มคนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่อายุไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ร้อยละ 47.7
รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการของประชาชนที่มีต่อผู้นำการเมืองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มและฐานของผู้นำการเมืองแต่ละคน การตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายตรงเป้าครอบคลุมทั้งความต้องการและพื้นที่จึงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนวันเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยเฉพาะผลงานและประสบการณ์ที่จับต้องได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนมาเป็นอันดับแรกในสิ่งที่ค้นพบในการสำรวจครั้งนี้