ไม่พบผลการค้นหา
'สุวิทย์ เมษินทรีย์' ชี้ต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้ดีขึ้น รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นย้ำเรื่องค่าแรงต้องทำให้สอดคล้องกับความสามารถของทักษะแรงงาน ลั่นภารกิจกระทรวงอุดมศึกษาฯ พร้อมปั้นแรงงานไทยตอบโจทย์อุตสาหกรรม

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การยกระดับแรงงานไทย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้แรงงานนั้น มีหลายคนให้ความสนใจ โดยให้เหตุผลว่า ความมุ่งหมายของนโยบายนี้ ต้องทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือผู้ประกอบการต้องได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน 

โดยต้องทำให้พื้นฐานของการประกอบอุตสาหกรรมของประเทศไทย มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวความคิดการยกระดับประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ที่ต้องมีการพัฒนาทักษะของแรงงานให้มี Productivity (ผลิตภาพ) และ Skill (ทักษะ) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากทำเช่นนี้แล้ว จะเป็นหลักประกันว่า ผู้ใช้แรงงานจะได้รับค่าแรงที่เหมาะสมกับทักษะที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อาจเรียกได้ว่า "win-win situation"

สำหรับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมนั้น มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการยกระดับฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ด้วยการ "ยกระดับทักษะ" (upskill) ให้แรงงานมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัยได้มากขึ้น และการ "เพิ่มทักษะ" (reskill) เพื่อปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมทักษะให้แรงงานมีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคตให้ได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้แรงงานได้รับค่าแรงที่สูงขึ้นจากประสิทธิภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น

และตนได้หารือกับภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ทั้งสององค์กรต่างเห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยเอกชนจะร่วมกันชี้เป้าแรงงานและอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องยก���ะดับ ภาครัฐโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นั้น ตนตั้งใจที่จะสนับสนุนในด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานให้กับเอกชน ผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน และนักเรียน นักศึกษาที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อทำให้การยกระดับทักษะ และการเพิ่มทักษะ สามารถทำได้โดยเร็วและเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากเรื่องค่าแรงที่ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับระดับความสามารถทางทักษะแล้วนั้น อีกประเด็นที่สำคัญคือ มิติของพื้นที่ต่างๆ ที่แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ความเหมาะสมของกลุ่มอุตสาหกรรม ค่าครองชีพ ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน ฯลฯ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาอย่างครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกันทุกฝ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :