ไม่พบผลการค้นหา
ผู้สูงอายุไทยจำนวนมาก มีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ขณะวัยทำงานมีภาระมากเกินจะเก็บออมไว้ใช้ยามเกษียณ นักวิจัยชี้ รัฐต้องแก้องค์รวม ไม่ใช่ดูเป็นส่วนๆ เพราะสุดท้ายก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

ปัญหาโครงสร้างแรงงานไทยสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในวิกฤตโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น แม้แสงไฟจะส่องไปยังกลุ่มประชากรวัยทำงานจำนวนมากทั้งในระบบและนอกระบบตามนิยามกฎหมายแรงงาน แต่อีกไม่น้อยที่ถูกหลงลืมได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน 

ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' สะท้อนปัญหาที่ซ่อนอยู่ในงานวิจัยดัชนีพลังผู้สูงอายุ (Active Aging Index: AAI) ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อย่อย 4 ประการ ได้แก่ สุขภาพ, การมีส่วนร่วมกับสังคม, ความมั่นคงในการดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่นอกจากจะพบข่าวร้ายว่าดัชนีผู้สูงวัยนี้มีแนวโน้มต่ำลงจากระดับ 0.7406 ในปี 2557 เป็น 0.7284 ในปี 2560 หรือแปลว่าคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยกำลังแย่ลงท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

เอื้อมพร พิชัยสนิธ
  • ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เท่านั้นยังไม่พอ หากวิเคราะห์กันในหัวข้อความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้สูงวัยซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเข้าไปแตะเรื่องสภาพคล่องและรายได้ สิ่งนี้ยิ่งขยายออกมาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างการทำงานที่เละแทะไปทั้งระบบตั้งแต่วัยที่ประชาชนยังไม่ก้าวขาเข้าวงการการทำงานด้วยซ้ำ 


เงินไม่พอดำรงชีวิต

ภายหลังจากการอธิบายปัจจัยบั่นทอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับดัชนี AAI ของผู้สูงอายุ อ.เศรษฐศาสตร์ พาเราไปสู่เหตุผลว่าทำไม ผู้สูงอายุจึงกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากโควิด-19 ด้วยปัจจัยสำคัญจากการไม่มีเงินเก็บเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในวัยที่การเข้าถึงงานเป็นเรื่องยาก ซ้ำสถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มคนเหล่านี้ยังเปราะบางต่อเหตุสุดวิสัยอย่างมากตั้งแต่ก่อนโลกจะรู้จักเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยซ้ำ

เงิน

เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอจะเลี้ยงชีพตัวเองในวัยเกษียณ ปัจจุบันสัดส่วนผู้สูงวัยในไทยกว่าร้อยละ 34 จึงยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเอง ขณะที่อีกร้อยละ 36-37 ไม่มีรายได้อื่นนอกจากการสนับสนุนจากบุตรหลาน และอีกราวร้อยละ 20 พึ่งเพียงเบี้ยยังชีพจากรัฐบาล ซึ่งตามข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นแบบระบบขั้นบันได แบ่งตามอายุประชาชน วัย 60-69 ปี ได้รับเบี้ยเดือนละ 600 บาท ขณะที่วัน 70-79 และ 80-89 ได้รับเบี้ยเดือนละ 700 และ 800 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสนับสนุนตรงนี้รายละ 1,000 บาท/เดือน

แม้เม็ดเงินที่กล่าวมาทั้งหมดจะเรียกว่าเป็นรายได้หลักของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2553) ของไทย มาตราที่ 3 ซึ่งระบุว่าเป็น "ผู้สูงอายุ" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินเหล่านี้เพียงพอจริงๆ กับการดำรงชีวิต 

"รายได้หลักเหล่านี้ไม่ได้แปลว่า พอ" ศ.ดร.เอื้อมพร ชี้

ด้วยเหตุแห่งความไม่พอนี้ เราจึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูว่าเหตุใดผู้สูงอายุจำนวนมากในไทยถึงไม่มีเงินเก็บหรือรู้จักเก็บเงินเพื่อรองรับการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งคำตอบจากนักเศรษฐศาสตร์ผู้วิจัยเรื่องคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยอธิบายให้ทีมข่าวฟังนั้นแท้จริงแล้วเป็นการเปิดโปงความไม่เข้ารูปเข้ารอยของโครงสร้างการผลิตแรงงานในประเทศ


วัยทำงานไม่มีเก็บ-วัยเกษียณไม่มีกิน

สถานการณ์ตลาดแรงงานของไทยในปัจจุบัน ศ.ดร.เอื้อมพร อธิบายโดยใช้คำว่า 'Mismatching' หรือการจับคู่กันแบบไม่เหมาะสม ไม่ลงรอย ซึ่งหมายความว่าในด้านนึงตลาดมีตำแหน่งงานจำนวนมากที่ต้องการหาคนงานเข้ามาทำแต่ประเทศกลับไม่มีแรงงานที่มีทักษะดังกล่าว ขณะเดียวกัน ทักษะของแรงงานที่กำลังว่างงานกลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้เกิดสภาพความไม่สมดุล ไม่ลงตัวขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว อ.เศรษฐศาสตร์ มธ.ชี้ว่า รัฐบาลต้องเลิกมองทีละส่วนและหันมาวิเคราะห์ปัญหาองค์รวม 

"เวลามองปัญหาตลาดแรงงานในภาพรวม ควรจะมองคนทุกรุ่น รัฐบาลต้องมีแนวนโยบายชัดเจน ผู้สูงอายุควรต้องเพิ่มทักษะด้านอะไร คนที่อยู่ในวัยทำงานควรจะพัฒนาทักษะไหน งานอะไรที่เหมาะสมบัณฑิตใหม่ และบัณฑิตในอนาคตต้องมองไปข้างหน้าอีก 10-20 ปี ทักษะไหนจะเป็นที่ต้องการ ส่วนจะทราบยังไง ก็ต้องมีการคุยกันระหว่างเอกชน นายจ้าง ภาคการศึกษา ซึ่งรัฐบาลอาจจะเป็นคนจัดการคุยนั้น เพื่อดูว่าแต่ละกลุ่มเหมาะกับอะไร ไม่ใช่มาดูเป็นส่วนๆ เพราะว่าในที่สุดมันจะทับกันเอง ผู้สูงอายุก็เหมือนไปแย่งงานเด็กจบใหม่ แย่งงานกันไปแย่งงานกันมา"

"เมืองไทยเวลาเราดูเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรามักจะดูเป็นเรื่องๆ แยกส่วน เหมือนหมอรักษาคนไข้ หมอหัวใจก็ดูแต่หัวใจ หมอไตก็ดูแต่ไต คือไม่ดูทั้งร่างกาย พอรักรักษาส่วนนึงเสร็จ ส่วนอื่นก็มีปัญหาอีก"

เศรษฐกิจ-แรงงาน-คนรุ่นใหม่-ค่าครองชีพ-ว่างงาน-สวัสดิการ-โพล-การจ้างงาน

นอกจากนี้หากมองย้อนกลับไปในรายช่วงชีวิตของประชากร จะพบว่าสาเหตุหลักที่ผู้สูงวัยไม่มีเงินเก็บเพียงพอต่อชีวิตในบั้นปลาย เป็นเพราะแม้แต่ประชากรในวัยทำงาน ก็ไม่ได้มีรายได้เพียงพอต่อการเก็บออม โดยเฉพาะในฝั่งแรงงานจบใหม่ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากครอบครัว 

ศ.ดร.เอื้อมพร ชี้ว่า ปัจจุบันคนที่เริ่มทำงานจำนวนไม่น้อย ไม่ได้มีตัวช่วยจากครอบครัวทั้งด้านที่อยู่อาศัยไปจนถึงรถยนต์ต่างๆ หรือเป็นการสร้างหลักฐานความมั่นคงของตัวเองจากศูนย์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาจากเงินเดือนปัจจุบัน ประกอบกับตั้งดูแลส่งเสียพ่อแม่รวมไปถึงลูกและครอบครัวจึงเป็นเรื่องยากที่จะเหลือเงินออมหรือถ้ามีเงินออมก็เป็นสัดส่วนที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพจริงในบั้นปลาย

"คนเหล่านี้พอเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีโอกาสจะออมตอนทำงานก็แปลว่าตอนเกษียณจะไม่มีเงินออม หรือมีเงินออมที่น้อย ที่ไม่สามารถทำให้เราหยุดทำงานได้แล้วกินดอกเบี้ยได้ ถึงบวกเงินที่ได้จากประกันสังคมหรือกองทุนเบี้ยยังชีพก็คงไม่พอ"

อาจารย์ มธ.เสริมว่า ยิ่งเมื่อไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วตามข้อมูลจากธนาคารโลกที่ประเทศมีตัวเลขประชากรเกิน 65 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 11 ในปี 2560 หรือคิดเป็นตัวเลขราว 7.8 ล้านคน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีแผนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานในการทำงานให้เหมาะสมกว่านี้ 

โดยชี้ว่า ในช่วงปี 2558 รัฐบาลเคยออกแนวมาตรการส่งเสริมเอกชนให้จ้างงานผู้สูงอายุโดยจะได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล แต่นโยบายดังกล่าวกลับมีกรอบการดำเนินการที่กว้างเกินไปและไม่มีรายละเอียดชัดเจน ภาคเอกชนที่สนใจจึงดำเนินการได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

พร้อมแนะว่า ถ้าจะให้ดี นโยบายนี้ควรจะระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าประชากรสูงอายุ "ที่อย่างเก่งทำงานอีกสัก 20-25 ปี" ควรจะทำงานประเภทไหน ในงานสายนั้นต้องการการพัฒนาทักษะแบบใดบ้าง แล้วไปจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าไปจ้างพร้อมฝึกอบรวมทักษะใหม่ให้ผู้สูงอายุอย่างเฉพาะเจาะจงแทน เช่นเดียวกับการเข้าไปดูแลประชากรทุกวัยให้สามารถเข้าถึงอาชีพการงานที่มั่นคงและเป็นที่ต้องการของตลาด

ขณะที่สำหรับการแก้ปัญหาประชากรผู้สูงปัจจุบันที่ไม่มีเงินเก็บเพียงพอไปแล้ว รัฐบาลต้องใช้แนวการแก้ปัญหาระยะสั้นผ่านการเยียวยาหรือแนวมาตรการจุนเจือเพิ่มเติมที่ทำได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;