ไม่พบผลการค้นหา
มหากาพย์ มาตรา44 ปิดเหมืองทองอัครา ท่ามกลางการจับตารัฐบาลไทยยุคคสช.ส่อเสียท่า อาจจ่ายค่าโง่งวดเข้ามาทุกขณะ

เมื่ออนุญาโตตุลาการนัดหารือรอบแรก 18 พ.ย. นี้ 'วอยซ์ ออนไลน์' ขอพาย้อนชมไทม์ไลน์โดยละเอียด เป็นข้อมูลประกอบการติดตาม ว่าด้วยสัมปทานเหมืองแร่ ถึงอัครา-คิงเกตส์ ดังนี้

  • ปี 2530 บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทคิงส์เกต คอโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ได้อาชญาบัตรพิเศษ จากรัฐบาลไทย เพื่อขุดสำรวจเหมืองแร่ทองคำ
  • 13 ส.ค. 2536 จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อได้รับสัมปทานเหมืองแร่ชาตรี ถือเป็นเหมือแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้สัมปทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก พร้อมด้วยอาชญาบัตรพิเศษหาแหล่งแร่ทองคำ ตามสายแร่ไล่จากตอนบนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ถึงรอยต่อจ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก โดยประทานบัตร 14 แปลงแรก กินเนื้อที่ 1.1 แสนไร่
  • ปี 2543 ได้รับประทานบัตร ชาตรีใต้ 5 แปลง คลุมพื้นที่ 1.4 พันไร่ หมดอายุปี 2573 เดือนพ.ย. 2544 ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ ชาตรีใต้
  • 29 พ.ย. 2550 William Paterson เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าหารือรมว.อุตสาหกรรม ถึงความคืบหน้าซึ่ง บริษัทอัครา ขอประทานบัตรเหมืองแร่เพิ่มเติม
  • ปี 2551 ได้รับประทานบัตร ชาตรีเหนือ 9 แปลง คลุมพื้นที่ 2.5 พันไร่ หมดอายุปี 2571 เดือนพ.ย. 2551 ดำเนินการผลิตเชิงพานิชย์ ชาตรีเหนือ ซึ่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ยินยอม เพราะไม่มีการจัดทำรายงาน EIA
  • ปี 2553 สร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 โดยผิดวัตถุประสงค์การขอใช้พื้นที่ และผิดไปจากที่พิจารณาเห็นชอบตาม EIA โดยวันที่ 10 พ.ย. ตัวแทนภาคประชาชนฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก ให้มีคำสั่งถอนประทานบัตร 5 แปลงแรก และดำเนินคดีกับ 5 หน่วยงานรัฐที่ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้ความเดือดร้อน คือ รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ และอบต.เขาเจ็ดลูก
  • ปี 2556 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ นำผู้ได้รับกระทบจากการทำเหมือง ยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ก่อนที่แกนนำจะถูกบริษัทอัครา แจ้งความฐานหมิ่นประมาท
เหมืองทอง.jpg
  • 29 พ.ค. 2557 ศาลปกครองพิษณุโลก อ่านคำพิพากษา 6 ข้อ คือ

1) ยกฟ้องอธิบดีกรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2) เพิกถอนคำสั่ง ของอธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่อนุญาตให้เปลี่นยผังโครงการเหมืองแร่ชาตรีเหนือ

3)ให้อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผอ.สำนักงานอุตสาหกรรม จ.พิจิตร และผู้ว่าฯจ.พิจิตร ควบคุมบริษัทอัคร ไม่ให้ดำเนินการตามข้อสอง

4) ห้ามอธบิดีกรมอุตสาหกรรมฯ และอธิบดีกรมโรงานอุตสาหกรรม ออกคำสั่งหรือใบอนุญาตขยายโรงงานให้แก่บริษัทอัครฯ จนกว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง 5) ให้ อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผอ.สำนักงานอุตสาหกรรม จ.พิจิตร และผู้ว่าฯจ.พิจิตร กำกับดูแลไม่ให้บริษัทอัคราฯ เดินเครื่องจักรในส่วนขยายเพื่อประกอบกิจกรรม 6) ให้ อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผอ.สำนักงานอุตสาหกรรม จ.พิจิตร และผู้ว่าฯจ.พิจิตร ดำเนินการทั้งหมดภายใน 30 วัน

  • 22 ก.ย. 2558 กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) และภาคประชาชนคัดค้ำนการทำเหมืองแร่ 12 จังหวัด เข้าชื่อ 27,522 รายชื่อ ยื่นหนังสือคัดค้านถึงสำนักนายกฯ เรียกร้องให้ยุตินโยบายสำรวจ และระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง เพิกถอนประทำนบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษ นำไปสู่การตั้งคณะกรรมาการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาต่อไป
  • 10 พ.ค. 2559 คณะรัฐมนตรี มีมติประกาศสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ โดยกรณีของบริษัทอัคราฯ ให้มีการบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานและเตรียมเลิกประกอบกิจการ จึงให้ต่ออายุเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมกำรเลิกประกอบกิจการเห็นควรให้ต่ออายุ ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทออกไปจนถึงสิ้น พ.ศ. 2559 
  • 7 มิ.ย. 2559 ครม.มีมติ ปรับแก้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ให้รัดกุมขึ้น
  • ปลายปี 2559 ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง ฉบับที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ใจความว่าให้ ให้ผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตโลหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุสัมปทาน โดยให้ผู้ที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป
  • 31 พ.ค. 2561 นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บริษัท คิงเกตส์ คอนโซลิเดเต็ต ลิมิเต็ด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทกับประเทศไทย ต่อกรณี ปิดเหมือง บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมองว่าขัดต่อข้อตกการค้าเสรีระหว่าง ไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ต้องเข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีรายงานถึง การตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทฯ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจรจาและหาข้อยุติอย่างต่อเนื่อง
  • ต้นปี 2562 บริษัทซูริก อินชัวรันซ์ ออสเตรเลีย เข้าเจรจาไกล่เกี่ยกับ บริษัท คิงส์เกตฯ พร้อมชดใช้เงินให้รวม 2.5 พันล้านบาท เพราะยอมรับว่า ผลกระทบที่คิงส์เกตได้รับถือเป็น "ความเสี่ยงทางการเมือง"
  • 20 ต.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และอดีตหัวหน้าคสช.ที่ใช้คำสั่ง มาตรา 44 ปิดเหมือง ประกาศ "ผมรับผิดชอบเอง"
  • 2 พ.ย. 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นำเสนอหนทางแก้ปัญหา คือ การให้สัมปทานกับเอกชนเพิ่มเติม หรือเปิดให้สำรวจแร่เพิ่ม โดยเอกชนต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เพื่อแลกกับการถอนฟ้อง
  • 18 พ.ย. 2562 อนุญาโตตุลาการ มีกำหนดนัดพิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัทคิงเกตส์ฯ ครั้งแรก
ประยุทธ์-สภากลาโหม

บริษัทอัครา ผลิตทองคำบริสุทธิ์ปีละราว 1.3 แสนออนซ์ คิดเป็นรายได้กว่า 7 พันล้านบาท ชำระค่าภาคหลวงแล้วทั้งสิ้น 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วน รัฐส่วนกลางร้อยละ 40 อบจ.ในที่ตั้ง ร้อยละ 20 อบต.ในพื้นที่ร้อยละ 20 และอบต.ทั่วประเทศ ร้อยละ 20

ขณะเดียวกัน ยังมอบเงินอุดหนุนชุมชนและกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม ตกปีละ 37 ล้านบาท มีพนักงานรวม 1,100 คน เกือบทั้งหมดคือคนไทย โดย 3 ใน 4 คือประชาชนโดยรอบโครงการ

ทั้งนี้มูลค่าความเสียหายของบริษัทอัครา โดยอิงจากปริมาณการผลิตในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่า ปริมาณแร่ทอง 8.9 แสนออนซ์ มีมูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท และแร่เงิน 8.3 ล้านออนซ์ คิดเป็น 3.9 พันล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4.1 หมื่นล้านบาท 

ส่วนภาพรวมกำลังการผลิตและรายได้จากการเปิดสัมปทานเหมือง ทั้งหมดในประเทศไทย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ 2549 - 2557 ได้ดังนี้

ปี 2549 ปริมาณการผลิต 3.4 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 60.4 ล้านบาท

ปี 2550 ปริมาณการผลิต 3.4 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 77.9 ล้านบาท

ปี 2551 ปริมาณการผลิต 2.7 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 120 ล้านบาท

ปี 2552 ปริมาณการผลิต 4.8 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 363 ล้านบาท 

ปี 2553 ปริมาณการผลิต 4 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 388 ล้านบาท

ปี 2554 ปริมาณการผลิต 2.8 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 420 ล้านบาท

ปี 2555 ปริมาณการผลิต 4.8 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 829 ล้านบาท

ปี 2556 ปริมาณการผลิต 4.3 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 519 ล้านบาท

ปี 2557 ปริมาณการผลิต 4.4 ล้านกรัม รายได้ภาคหลวง 486 ล้านบาท