ไม่พบผลการค้นหา
‘สุทิน’ วิปฝ่ายค้าน รับหนังสือขอบคุณจากเครือข่ายวิสาหกิจโรงไฟฟ้า 13 แห่ง 8 จังหวัด หลังฝ่ายค้านอภิปราย ม.152 หนุนโรงไฟฟ้าชุมชน ชี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์แต่เกิดอุปสรรค แนะถ้าไม่รู้จริง ดู ‘อีสานโมเดล’ เป็นตัวอย่าง

วันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) รับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โครงการโรงผลิตไฟฟ้าชุมชน (ชีวมวล) เพื่อประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 13 แห่งจาก 8 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม ศรีษะเกษ มหาสารคาม อุดรธานี เลย เพชรบูรณ์ และสุโขทัย เพื่อขอบคุณที่สนับสนุนโครงการ และขอให้ผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน) ให้เกิดขึ้นจริง

ขณะที่ มนูญ เพิ่มพิณทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อก่อตั้งโรงกำจัดขยะชุมชน และโรงไฟฟ้าเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลเทคโนโลยีกำจัดขยะ ปัจจุบันระบบกำจัดขยะใช้ระบบแก๊สซิไฟเออร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วและใช้กันอย่างแพร่หลาย มีศักยภาพในการกำจัดขยะ 260 ตันต่อวัน เตาเก็บขยะสำหรับเผาด้วยความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส เป็นระบบเนกาทีฟ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ อากาศภายในไม่ออกสู่ภายนอก จึงไม่สร้างมลภาวะในชุมชนและมีความปลอดภัยสูง 

ด้าน สุทิน กล่าวว่า ตน และพรรคเพื่อไทยพร้อมผลักดันข้อเสนอเต็มที่ หลังจากที่อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 ตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการก่อตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐบาล ซึ่งมีขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคต่อคนในชุมชน นายทุนถือหุ้นในโรงไฟฟ้ามากกว่าประชาชน ซึ่งหลังจากอภิปรายในเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จ รัฐบาลกระตือรือร้นที่จะดำเนินการโครงการนี้ซึ่งต้องขอขอบคุณกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อย่างไรก็ดีขอให้หน่วยงานของรัฐ เข้ามาผลักดันสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชนของภาคเอกชน ซึ่งได้ทำการศึกษาและดำเนินการมานาน แต่พบทั้งข้อจำกัด การปิดกัั้นที่ไม่รู้จริง 

หากรัฐบาลต้องการดำเนินการ สามารถศึกษาโครงการจาก ‘อีสานโมเดล’ ที่ตนร่วมดำเนินการผลักดันกับชุมชน เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กมาก แบ่งหุ้นให้ชุมชน 80% เอกชนถือหุ้น 10% เป็นการลงทุนแบบเทิร์นคีย์ ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินลงทุน ประเทศได้ไฟฟ้าเพิ่มเติมในจุดที่ขาด เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล เป็นโครงการที่ดีที่กำลังจะเสียของ เป็นโครงการที่หลายรัฐบาลพยายามผลักดัน โดยเฉพาะรัฐบาลนี้มีความจริงจังขึงขัง ออกกฎระเบียบ หาผู้ยื่นเสนอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว แต่สุดท้ายโครงการไม่เกิด เพราะมีอุปสรรคหลายประการ ทำให้ชุมชนและประเทศเสียโอกาส เพราะทุกวันนี้ขยะเป็นปัญหาและค่าใช้จ่าย หลายหน่วยงานตั้งงบประมาณสูงมากเพื่อกำจัดขยะ หากปรับความคิด วิกฤตจะกลายเป็นโอกาส จะสามารถเปลี่ยนจากรายจ่ายกลายเป็นรายได้