ไม่พบผลการค้นหา
ศาลแขวงโอซากาตัดสินคดีล่าสุดชี้ว่า การห้ามการสมรสในเพศเดียวกันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ คำตัดสินในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มชุมชนชาว LGBTQ+ ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว การจัดการทรัพย์สินมรดก ไปจนถึงสวัสดิการทางสังคม

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) ศาลแขวงโอซากาตัดสินกรณีฟ้องร้องของคู่รักเพศเดียวกันสามคู่ ซึ่งฟ้องเรียกร้องเงินชดเชยจากรัฐบาลจำนวน 1 ล้านเยน (ประมาณ 2.6 แสนบาท) ต่อคน ด้วยคำร้องว่ารัฐบาลขาดตกบกพร่องในการรับรองการสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งขัดกันกับรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่ระบุถึงสิทธิความเท่าเทียม

สำนักข่าว NHK รายงานว่า อย่างไรก็ดี ศาลแขวงโอซากากลับตัดสินคดีออกมาไปในทางเดียวกันกับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยศาลชี้ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศนั้น การนิยามการสมรสไม่ได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการครองชีวิตคู่ระหว่างคนเพศเดียวกัน

คำตัดสินของศาลแขวงโอซากาในครั้งนี้ ขัดกันกับคำตัดสินของศาลแขวงซัปโปโร ในจังหวัดฮอกไกโดเมื่อ มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา หลังจากศาลแขวงซัปโปโรชี้ว่า การขาดตกบกพร่องของรัฐบาลญี่ปุ่นในการดำเนินการรับรองการสมรสเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ ถึงแม้ว่าศาลแขวงซัปโปโรจะยกคำร้องในการเรียกร้องค่าชดเชยจากคดีในปีก่อนเช่นเดียวกันก็ตาม

ปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นเป็นเพียงชาติเดียวในสมาชิก G7 ที่ยังไม่มีการรับรองทั้งกฎหมายคู่ชีวิต และกฎหมายสมรสเท่าเทียมในระดับชาติ อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่ของญี่ปุ่นมีการออก “ใบรับรองการถือครองคู่ชีวิต” ซึ่งมอบสิทธิบางประการให้แก่คู่รักเพศเดียวกัน เช่น การอนุญาตให้เช่าทรัพย์สินร่วมกัน หรือสิทธิในการเข้าเยี่ยมในโรงพยาบาล

พฤติกรรมรักร่วมเพศในญี่ปุ่นกลายเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2423 ซึ่งถือว่าก้าวหน้ากว่าชาติอื่นๆ ในเอเชียกว่ามากในช่วงเวลาเดียวกัน ตรงกันข้ามกับในสิงคโปร์ที่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่นอนเพศเดียวกันยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมายมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์ทำการแก้ไขกฎหมายที่ถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

ในอีกทางหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2551 ศาลสูงอินเดียได้ตัดสินว่าการร่วมเพศในคนเพศเดียวกันนั้นไม่ใช่ความผิดทางอาชญากรรม แต่รัฐบาลอินเดียยังคงไม่รับรองการสมรสในเพศเดียวกันแต่อย่างใด ในขณะที่จีนเองก็ยังไม่มีการออกกฎหมายรับรองการสมรสในเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่าสังคมจีนจะเริ่มตระหนักรู้ถึงกลุ่มชุมชม LGBTQ+ มากขึ้น แต่จีนไม่ได้มีกฎหมายห้ามความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี กลุ่ม LGBTQ+ ในจีนยังคงถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องผิด และโซเชียลมีเดียจีนยังคงทำการเซ็นเซอร์เนื้อหาคนรักเพศเดียวกันมาอยู่เสมอ

ในปี 2562 ไต้หวันกลายเป็นชาติแรกในเอเชียที่รับรองการสมรสเพศเดียวกัน ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเองกำลังเข้าสู่การพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่สองโดยรัฐสภา ทั้งนี้ หากไทยสามารถผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ ไทยจะกลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการสมรสเพศเดียวกัน


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2022/06/21/asia/japan-same-sex-marriage-ban-gay-rights-court-intl-hnk/index.html?fbclid=IwAR3vD1JvTwtc95PSkGftZLFiKqtFk4jlphlhAjhNBzpAeXDsmV4tRtxU0O0