ไม่พบผลการค้นหา
‘อรรถวิชช์’ ยอมรับหลังศาลปกครองพิพากษาสูงสุดยกฟ้อง ปมแบ่งเขตของ กกต. พร้อมเดินหน้าในกติกาที่ถูกกำหนด

วันที่ 7 เมษายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในที่คดีที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. คดีที่นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.จ.สกลนคร คดีที่นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในจ.สุโขทัย และคดีที่นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จากจ.สุโขทัยยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กรณีขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ,จ.สกลนคร และจ.สุโขทัย ลงวันที่ 16มี.ค.2566 ตามลำดับ

โดยให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน ส.ส.1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของ กรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ตาม ประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในแต่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และจ.สุโขทัย มีจำนวนไม่มาก หรือ มีจำนวนไม่น้อย กว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส.1 คน จนเกินไป การที่ กกต.ออกประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง จ.สกลนคร 7เขตเลือกตั้ง และ จ.สุโขทัย 4เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) ที่กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน จึงพิพากษายกฟ้อง

'อรรถวิชช์' พร้อมเดินหน้าในกติกาที่ถูกกำหนด 

ภายหลังฟังคำสั่งศาลปกครองเสร็จสิ้น อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้ส ระบุว่า ศาลได้ยกฟ้องในประเด็นการร้องเรียนเรื่องของการแบ่งเขตของ กกต. โดยให้เหตุผลว่า การกำหนดเขตเลือกตั้ง เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะกำหนดได้ตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากนี้ก็พร้อมที่จะสู้ตามกติกาที่กำหนดออกมา แต่ส่วนตัวยังคงมีข้อสงสัยอยู่ ถึงการแบ่งเขตโดยใช้สัดส่วน ร้อยละ 10 หรือ 10% ซึ่งการใช้เกณฑ์ดังกล่าวไม่สอดรับกับการเลือกตั้งปี 2562 และยืนยันว่า การคำนวณสัดส่วนของ กกต. จะทำให้เกิดการสลายเขตเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ การที่ กกต. ใช้การคำนวณสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป กกต. จะสามารถเปลี่ยนสัดส่วนการคำนวณได้ตามอำเภอใจ ซึ่งอาจจะเป็นร้อยละ 8 หรือ ร้อยละ 9 ก็ได้ในครั้งต่อไป 

ทั้งนี้ อรรถวิชช์ ยังกล่าวว่า จากการสำรวจยังพบว่า ประชาชน เห็นด้วยกับสูตรคำนวณการแบ่งเขตแบบที่ 1 ของ กกต. น้อยมาก เมื่อเทียบกับ แบบที่ 3 ที่เป็นแบบเดิม ซึ่งสูตรคำนวณของ กกต. มองว่า ทาง กกต. ตั้งใจให้เป็นแบบนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และเขื่อว่า การแบ่งเขตแบบใหม่ จะทำให้ ส.ส. กับคนในพื้นที่เริ่มห่างกันมากขึ้น ซึ่งจริงอยู่ว่า ส.ส. เป็น ส.ส.ของคนทั้งประเทศ แต่ก็ควรมี ส.ส. ที่เป็นคนยึดหลักกับคนในพื้นที่นั้นๆ 

อย่างไรก็ตาม อรรถวิชช์ ย้ำว่า การยื่นร้องในเรื่องของการแบ่งเขต ครั้งนี้ ถือว่าจบกระบวนการแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะเดินหน้าสู้กันในกติกาที่ กกต. กำหนดต่อไป