ไม่พบผลการค้นหา
นศ.ปริญญาเอกชาวอินโดนีเซีย ถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เหตุพัวพันการข่มขืน-อัดคลิปฯ เหยื่อกว่าร้อยคนในปี 2015-2017 แต่เหยื่อเกือบทั้งหมดไม่รู้ตัวเพราะถูกมอมยา ทั้งยังคิดว่าผู้ก่อเหตุเป็น 'คนดี' ที่ช่วยเหลือคนเมา ด้านสื่อระบุเป็นคดีข่มขืนที่มีผู้เสียหายมากสุดในประวัติศาสตร์

เรนฮาร์ด ซินากา หรือ 'เรย์' ชายชาวอินโดนีเซีย วัย 36 ปี ถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมตั้งเงื่อนไขให้จำคุกขั้นต่ำ 30 ปี จึงจะสามารถขอลดหย่อนโทษได้ หลังพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ซินากาก่อเหตุมอมยา ข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศชายอย่างน้อย 48 คนในเวลากว่า 2 ปี ทั้งยังบันทึกภาพและคลิปวิดีโอขณะก่อเหตุอีกเป็นจำนวนมาก

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'เอียน รัชตัน' หนึ่งในอัยการของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบคดี ระบุว่า กรณีของซินากาเป็นการก่อเหตุข่มขืนที่มีผู้เสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของอังกฤษ โดยเขาถูกตัดสินจำคุกจากความผิด 136 กระทง จากข้อกล่าวหาทั้งหมด 159 ข้อ ที่เกี่ยวพันกับการข่มขืน พยายามข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศ แต่มีผู้เสียหายเพียง 48 รายที่ขึ้นให้การในชั้นศาล

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาศัยหลักฐานเพิ่มเติมจากโทรศัพท์มือถือของซินากา รวมถึงดีวีดี 250 แผ่น และภาพนิ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของซินากาอีกราว 300,000 รูป เพื่อสอบสวนคดี ทำให้พบเบาะแสบ่งชี้ว่า ซินากาอาจก่อเหตุกับผู้ชายรวมกว่า 195 ราย

รอยเตอร์สระบุว่า ซินากามักเลือกเหยื่อที่เป็นลูกค้าของผับหรือบาร์ในเมืองแมนเชสเตอร์ โดยเลือกชวนเหยื่อผู้ชายที่อยู่ในสภาพมึนเมาอยู่แล้วไปพักที่ห้อง หรือบางรายก็ชวนไปดื่มเหล้าต่อ เมื่อไปถึงที่หมายก็จะนำน้ำผสมยาที่มีฤทธิ์ต่อประสาทให้เหยื่อกิน เพื่อให้เหยื่อไม่รู้สึกตัว และจำอะไรไม่ได้เลยเมื่อตื่นขึ้นในวันถัดมา เหยื่อหลายรายจึงคิดว่าพวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากซินากา ไม่ให้นอนหมดสติอยู่ข้างถนน แต่เหยื่อรายสุดท้าย รู้สึกตัวตื่นขณะที่ซินากากำลังลงมือก่อเหตุ จึงต่อสู้ขัดขืนและทำร้ายซินากาจนบาดเจ็บ 

ในตอนแรก ตำรวจจับกุมชายผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศในข้อหาทำร้ายร่างกาย เพราะชายคนดังกล่าวโทรศัพท์แจ้งเหตุกับหน่วยฉุกเฉิน แต่เมื่อตำรวจสอบปากคำเพิ่มเติมจึงพบเบาะแสการก่อเหตุละเมิดทางเพศของซินากา นำไปสู่การสอบสวนเพิ่มเติม และพบว่าซินากาก่อเหตุกับเหยื่อตั้งแต่เดือน ม.ค.2015 จนถึงเดือน มิ.ย.2017 ทั้งยังเคยคุยโอ้อวดกับกลุ่มสนทนาในแอปพลิเคชัน 'วอตซ์แอป' ว่าเขาเปลี่ยนใจผู้ชายที่ชอบผู้หญิงให้มารักเกย์ได้

อย่างไรก็ตาม ซินากาปฏิเสธข้อกล่าวหาข่มขืนระหว่างให้การในศาล โดยระบุว่าตนเองไม่เคยปิดบังว่าเป็นเกย์ ทั้งยังมีภาพลักษณ์แบบ 'เลดี้บอย' ผู้ที่ปรากฏตัวอยู่ในคลิปล้วนเป็นฝ่ายเข้าหาตนเองก่อน เพื่อมีเพศสัมพันธ์กันแบบสมยอม ทำให้ทนายความฝ่ายโจทก์ต้องนำคลิปวิดีโอขณะก่อเหตุมาเปิดให้คณะลูกขุนพิจารณา และพบว่าผู้ถูกล่วงละเมิดอยู่ในสภาพหมดสติ ซึ่งซินากาอ้างว่าเหยื่อทั้งหมดแกล้งทำเป็นหลับ และไม่กล้ายอมรับความจริงว่าตัวเองเป็นชายรักชาย แต่ผู้พิพากษาระบุว่า คำให้การดังกล่าวขัดแย้งกับสภาพของเหยื่อที่อยู่ในคลิปวิดีโอ ซึ่งไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เลย

'คนดี' ในความทรงจำ

ซินากาเป็นชาวอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาคริสต์ และมาเรียนต่อที่อังกฤษ ในระดับปริญญาโท สาขาสังคมวิทยา ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมิื่อปี 2007 ก่อนจะเรียนต่อระดับปริญญาเอก ด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในปี 2012 และส่งวิทยานิพนธ์ว่าด้วยพฤติกรรมของชายรักชายในเอเชียใต้เมื่อปี 2016 แต่ไม่ผ่านการพิจารณา จนกระทั่งเขาถูกจับกุมและดำเนินคดีในปี 2017 โดยที่ครอบครัวของเขามาร่วมฟังการพิจารณาคดีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

REUTERS-Montana House ที่เกิดเหตุข่มขืนชายนับร้อยคนในอังกฤษ-เรนฮาร์ด ซินากา

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานว่า ซินากาไปโบสถ์แห่งหนึ่งในแมนเชสเตอร์เป็นประจำ และคนรู้จักหลายคนมองว่าเขาเป็นคนสุภาพ ไม่มีพิษมีภัย ตอนแรกที่เขาถูกจับกุม มีคนให้สัมภาษณ์ว่า "น่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิด" จนกระทั่งตำรวจพบหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอและภาพนิ่ง รวมถึงคำให้การของเหยื่อรายสุดท้ายซึ่งถูกมอมยา ทำให้หลายคนรู้สึกตกใจและคาดไม่ถึง

คนรู้จักบางรายให้ข้อมูลว่า ซินากาเคยปรึกษาเรื่องการขอสถานะผู้ลี้ภัยในอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่าการเป็นเกย์ในอินโดนีเซียเป็นเรื่องที่คนในสังคมไม่ยอมรับและอาจเป็นอันตรายได้ แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าซินากายื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยจริงหรือไม่ ส่วนเพื่อนอีกรายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ซินากาไม่ได้ทำงานอย่างจริงจัง แต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายในอังกฤษ คาดว่าเป็นเพราะได้รับเงินส่งเสียจากพ่อซึ่งเป็นนายธนาคารอยู่ในอินโดนีเซีย

ส่วนตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ อาศัยข้อมูลจากคลิปวิดีโอและภาพต่างๆ ติดตามไปสอบปากคำเหยื่อของซินากาเพิ่มเติม พบว่าเหยื่อทั้งหมดไม่รู้ตัวว่าถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิด บ่งชี้ว่าซินากาวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยเลือกเหยื่อที่มีอาการมึนเมาดื่มสุราอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพาเหยื่อไปถึงที่พักก็จะให้ดื่มน้ำผสมยาที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับสาร GHB ซึ่งเหยื่อจะไม่รู้สึกตัวจนกระทั่งวันถัดมา หรือไม่ก็ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ 

ระหว่างที่เหยื่อหมดสติ ซินากาจะลงมือก่อเหตุและอัดคลิปวิดีโอหรือถ่ายภาพเป็นหลักฐาน เมื่อเหยื่อรู้สึกตัวในเวลาถัดมา มักจะมีอาการเมาค้าง หรือไม่สบาย รวมถึงมีคราบอาเจียนเปรอะเปื้อนตัว ซึ่งซินากาจะบอกว่าเหยื่อเมามาก เขาจึงพามาพักที่ห้องให้สร่างเมา เหยื่อบางคนจึงจำซินากาได้ในฐานะ 'ผู้มีน้ำใจที่คอยช่วยเหลือคนอื่น' และไม่รู้ตัวมาก่อนว่าถูกล่วงละเมิด เมื่อได้รู้ความจริงจึงได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก

เหยื่อหลายรายระบุว่า พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อรู้ความจริงว่าถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยซินากา เช่น ชายคนหนึ่งซึ่งตกเป็นเหยื่อของซินากาขณะยังเป็นวัยรุ่น บอกกับเดอะการ์เดียนว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อได้รู้ความจริง ทำให้เขาไม่อยากพบเจอผู้คน และต้องพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนคณะลูกขุนที่ได้ดูคลิปวิดีโอการก่อเหตุต้องเข้ารับการบำบัดจากนักจิตวิทยาเช่นกัน

อังกฤษคุมเข้ม GHB แต่ยังมีผู้ลักลอบใช้ยาก่อเหตุ

สำนักข่าวบีบีซีรายงานข่าวซินากาโดยระบุถึงสาร GHB ว่าเป็น 'อาวุธ' ที่ผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศใช้ พร้อมระบุว่า ยาดังกล่าวเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เที่ยวปาร์ตี้ในสหราชอาณาจักร รวมถึงกลุ่มชายรักชายและผู้มีรสนิยมแบบไบเซ็กชวล โดยยาชนิดนี้มักจะถูกเรียกสั้นๆ ว่า G มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม กระตุ้นประสาท ทั้งยังไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและรส แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการชัก อาเจียน หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของอังกฤษและเวลส์ระบุด้วยว่า ช่วงปี 2014-2018 มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยากลุ่ม GHB รวมทั้งหมด 120 ราย โดยมีข่าวโด่งดังเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ กรณีของ 'สตีเฟน พอร์ต' ฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 2016 จากการวางยา GHB กับเหยื่อเพศชาย 4 รายจนสลบและลงมือสังหาร

  • เฟซบุ๊กของสำนักงานตำรวจในแมนเชสเตอร์เปิดเผยข้อมูลการก่อเหตุของซินากา

กรณีดังกล่าวทำให้ตำรวจในสหราชอาณาจักรปราบปรามยา GHB ในตลาดมืดอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังมีช่องทางลอบขายยาหรือนำเข้ายาดังกล่าวเข้ามาในประเทศเหมือนเดิม สำนักงานตำรวจ Gretaer Manchester ที่รับผิดชอบคดีของซินากา จึงได้เปิดช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์ หรือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดโดยซินากา แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มเติม โดยเฉพาะพฤติกรรมการก่อเหตุ และหาทางสิบไปยังแหล่งที่เขาซื้อยา GHB มาใช้ก่อเหตุ เพราะการกำจัดต้นตอจำหน่ายยาดังกล่าวจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการก่อเหตุในอนาคตได้

แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่ออกคำเตือนเกี่ยวกับตัวยาที่ออกฤทธิ์ประเภทนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ 'ยาเสียสาว' รวมถึงอัลปราโซแลม เคตามีน มิดาโซแลม แต่ยังมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับตัวยาชนิดนี้เกิดขึ้นในไทยอยู่เรื่อยๆ เพราะยังมีผู้ลักลอบจำหน่ายในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งยังอาจเกี่ยวข้องกับคดี 'ลัลลาเบล' หรือพริตตี้หญิงที่เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วด้วย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ของไทย กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ตัวยาดังกล่าว จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท ส่วนผู้ขายต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท และผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ขณะที่ 'ผู้เสพ' ต้องโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ที่มา: BBC/ The Guardian/ Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: