ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งชัด กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ทรู-ดีแทค ตามประกาศปี 61 และ ปี 49 หากเสี่ยงผูกขาด เป็นเหตุให้ยกคำร้อง 'ณภัทร'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความชัดเจนเรื่องการพิจารณาดีลการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค เริ่มมีความชัดเจนขึ้นมาแล้ว หลังจากเป็นที่ถกเถียงจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ว่ามีอำนาจที่จะ "อนุญาต" หรือ "ไม่อนุญาต" การควบรวมหรือไม่ โดยประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่ ภัทร วินิจฉัยกุล นักกฎหมาย หรือ อดีตหนึ่งในซูเปอร์บอร์ด กสทช. ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยมีบอร์ดกสทช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดี เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และขอให้ทุเลาชั่วคราวคำสั่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 (“ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ”) 

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่รับการขอทุเลาชั่วคราวของ ณภัทร ที่ยื่นต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับหรือหยุดใช้ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ ไว้ก่อน 

โดยศาลปกครองกลางได้พิจารณาจากประกาศควบรวมปี 2561 ประกอบกับประกาศ เรื่อง ป้องกันการผูกขาดปี 2549 และได้ให้เหตุผลที่สำคัญในการยกคำร้องว่า “... หากผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) พิจารณาเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้ ดังนั้น ในชั้นนี้จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย...” ซึ่งคำสั่งที่ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้

ดังนั้น ถือว่าเจตนารมณ์ในการร้องของ ณภัทร ที่เรียกร้องให้ กสทช. ใช้อำนาจที่มีอยู่ในการพิจารณาสั่งไม่อนุญาตการควบรวมนั้น ได้บรรลุผลไปแล้วในขั้นแรก เพราะที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. และ กสทช.ชุดเดิม อ้างอิงแต่การนำเฉพาะประกาศปี 2561 มาอธิบายว่า ตนมีหน้าที่แค่รับทราบการขอควบรวมกิจการเท่านั้น และไม่มีอำนาจสั่งห้ามการควบรวมได้ จึงเป็นเหตุให้ ณภัทร ต้องมาฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางดังกล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนี้ไป ต้องจับตามองไปที่ กสทช. ชุดใหม่ ว่าจะพิจารณาดีลควบรวมนี้อย่างไร เพราะศาลปกครองได้ระบุอย่างชัดเจนแล้ว กสทช. มีอำนาจเด็ดขาดที่จะ "อนุญาต" หรือ "ไม่อนุญาต" ดีลการควบรวมนี้ ไม่ใช่แค่รับทราบและปล่อยผ่านไป และตามที่อนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช.ตั้งขึ้นมาก็มีเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ไปก่อนหน้านี้แล้ว 10 ต่อ 1 โดยระบุว่า กสทช.มีอำนาจที่จะพิจารณาไม่อนุญาตดีลนี้ได้ ดังนั้น คงต้องจับตาดูว่าภายในวันที่ 10 ก.ค. 2565 นี้ บอร์ด กสทช.จะมีมติเกี่ยวกับดีลควบรวมดังกล่าวนี้ออกมาอย่างไร