ไม่พบผลการค้นหา
ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ-ผู้นำนศ. 7 มหาวิทยาลัย ยื่นฟ้อง 'ประยุทธ์'-ผบ.สส. ลักไก่เพิ่มโทษผู้ชุมนุมโดยไม่มีอำนาจ เชื่อเอาไว้คุมม็อบจับตา 8 ปี 'ประยุทธ์'

วันที่ 22 ส.ค. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำโดย นรเศรษฐ์ นาหนองตูม พร้อมผู้นำนักศึกษาจาก 7 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ณพกิตติ์ มะโนชัย นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 

LINE_ALBUM_220822_7.jpg

ทั้งหมดร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องแพ่งต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด​ (ผบ.ทสส.) เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกเลิกข้อกำหนดออกความตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ข้อ 5 และ วรรคท้าย

โดย นรเศรษฐ์ กล่าวว่า เนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับมีการระบุว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉินให้นำพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาบังคับใช้โดยอนุโลม เปรียบเสมือนการ “ลักไก่เพิ่มโทษ” ให้การชุมนุมสาธารณะมีโทษที่หนักขึ้น เดิมทีตามพ.ร.บชุมนุมฯ ถ้าชุมนุมสาธารณะและมีการแจ้งชุมนุมโดยไม่ชอบ โทษปรับจะไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าตามข้อกำหนดของประกาศฉบับนี้ จะถูกอัตราโทษจำคุก 2 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นการออกกฎหมายลำดับรองไปเพิ่มโทษให้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LINE_ALBUM_220822_5.jpg

ทั้งนี้ กลไกการร้องขอให้เลิกการชุมนุมตามพ.ร.บชุมนุมสาธารณะ ต้องกระทำผ่านศาลเท่านั้น คือต้องมาร้องต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด แต่ประกาศและข้อกำหนดฉบับนี้บอกว่าให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถออกแบบแผนต่างๆได้ในการสั่งให้เลิกการชุมนุมได้โดยไม่ต้องผ่านกลไกของศาล จึงเป็นเหตุที่มายื่นฟ้องวันนี้ 

พร้อมกันนี้จะขอให้ศาลทำการไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวสั่งไม่ให้บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ด้วย เพราะวันที่ 23 และ 24 สิงหาคมนี้ จะมีการชุมนุมสาธารณะติดตามกรณีที่ ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการปล่อยให้ใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง จึงไม่ทราบว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่มีการออกประกาศในลักษณะนี้ในช่วงเวลานี้

ด้าน เจนิสษา ในฐานะโจทก์และผู้นำนักศึกษา มองว่า ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวแสดงถึงความไม่เป็นธรรมต่อพวกตนและประชาชน เพราะนอกจากจะเป็นการลักไก่เพิ่มโทษแล้ว การอ้างว่าบังคับใช้เป็นไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้น ขอตั้งคำถามกลับไปว่า ต้องการควบคุมโรคหรือควบคุมสิทธิของประชาชนกันแน่