นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบหมายให้นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ เดินทางเยือนนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมหารือและกำหนดแนวทางการนำอี-คอมเมิร์ซมาช่วยแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทยกับผู้บริหารระดับสูงของอาลีบาบา เมื่อวันที่ 5-7 ธ.ค. ที่ผ่านมา
โดยผลการหารือกับไบรอัน หยาง , รองประธานฝ่าย Global Initiatives, ของอาลีบาบา กรุ๊ป และผู้บริหารระดับสูงของอาลีบาบา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ไฮไลท์หลัก คือ การร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้ปฏิรูปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากความยากจนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยไทยจำเป็นต้องพัฒนาปัจจัยแวดล้อมภายในประเทศ 5 ด้านให้เอื้อต่อการปฏิรูปฯ คือ
1. ปัจจัยแวดล้อมด้านสังคม ได้แก่ บุคลากรมีการศึกษาด้านดิจิทัล ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลาดมีการเชื่อมโยงเข้าถึงกัน โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและอินเทอร์เน็ตมีความพร้อม
2. ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ การมีแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Platform) แพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ (Digital Payment Platform) แพลตฟอร์ม โลจิสติกส์อัจฉริยะ (Smart Logistics Platform) รวมทั้ง แพลตฟอร์มเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Cloud Computing and Big Data Platform)
3. ปัจจัยด้านข้อมูล ได้แก่ การบริหารจัดการทรัพย์สินเกี่ยวกับข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล การปกป้องข้อมูล และจริยธรรมเกี่ยวกับข้อมูล
4. การประยุกต์และการนำโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลไปใช้งานจริง เช่น การจัดตั้งธุรกิจ ค้าปลีกดิจิทัล Digital Retail (เช่น Hema Supermarket) การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-Border e-Commerce) หรือการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เป็นต้น
5. ปัจจัยด้านการกำกับดูแล ได้แก่ การกำกับดูแลข้อมูล การกำกับดูแลแพลตฟอร์ม และการกำกับดูแลความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน (Collaboration Governance)
ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องเริ่มต้นจากบุคลากรที่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้ในเชิงลึก ตั้งแต่บุคลากรหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี อาจารย์/บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งบุคลากรด้านไอทีและเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรของไทยสู่การเป็นบุคลากรดิจิทัล และให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งอาลีบาบาพร้อมให้การสนับสนุนองค์ความรู้เชิงลึก โดยได้กำหนดหลักสูตร New Economy Workshop ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรภาครัฐในระดับผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”
นอกจากนี้ ประเทศไทยเตรียมนำ Taobao Village ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าออนไลน์ผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาช่องทางตลาดค้าขายสินค้าเกษตร/ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับเข้ามาทำงานในท้องถิ่น ถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสังคม
ซึ่งจากการลงพื้นที่ศึกษาเยี่ยมชมหมู่บ้านไป่หนิว เมืองหลินอัน ที่เป็นหนึ่งในต้นแบบหมู่บ้าน Taobao ที่มีการนำอี-คอมเมิร์ซ มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพ โดยความสำเร็จของหมู่บ้านไป่หนิว เกิดจากการที่ประชากรในหมู่บ้านมีหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ (Entrepreneurial Mindset) ศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเกี่ยวกับการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ รวมทั้ง เรียนรู้จากบุคคลต้นแบบที่ทำการค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จ
ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นด้านเงินทุนการเริ่มต้นกิจการ เช่น การให้เงินทุนสนับสนุนจำนวน 30,000 หยวน หรือการให้เงินกู้จำนวน 1-2 แสนหยวน โดยปราศจากดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการเริ่มต้นธุรกิจที่เข้าหลักเกณฑ์/เงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้ง การมีระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่สนับสนุนการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบ และสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคที่อยู่ในตัวเมืองและต่างพื้นที่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ภาพจาก Photo by rawpixel on Unsplash