วันทำแท้งปลอดภัยสากล (International Safe Abortion Day) มีจุดเริ่มต้นมาจากขบวนการเรียกร้องสิทธิการทำแท้งอย่างปลอดภัยโดยเครือข่ายผู้หญิงในประเทศละตินอเมริกาตั้งแต่ปีค.ศ. 1990 ก่อนที่องค์กรเครือข่ายผู้หญิงทั่วโลกเพื่อสิทธิการเจริญพันธุ์ (Women's Global Network for Reproductive Rights - WGNRR) จะประกาศให้เป็นวันทำแท้งปลอดภัยสากลในปี 2011 เพื่อรณรงค์ให้สังคมทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของผู้ตั้งครรภ์ในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย
ความเคลื่อนไหวเรื่องกฎหมายการทำแท้งทั่วโลกเป็นอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา?
ในช่วงที่ผ่านมามีทั้งความก้าวหน้าและถอยหลังในเรื่องกฎหมายการทำแท้งของประเทศต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอย่างอาร์เจนตินา เอกวาดอร์ เม็กซิโก ออสเตรเลีย(ใต้) เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศไทย มีความก้าวหน้าในการปฏิรูปกฎหมายทำแท้งและการเข้าถึงการทำแท้ง ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกมากเป็นอันดับสองของโลกอย่างเม็กซิโกก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อศาลสูงสุดของเม็กซิโกมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรมอีกต่อไป คำสั่งนี้คาดว่าจะนำไปสู่การปล่อยตัวผู้หญิงที่ถูกจับเข้าคุกเพราะทำแท้ง และจะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายของแต่ละรัฐให้สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลสูงต่อไป
ประเทศที่เดินถอยหลังและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ หนีไม่พ้นรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านกฎหมายห้ามผู้ที่ตั้งครรภ์เกิน 6 สัปดาห์เข้ารับการทำแท้ง แม้ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนหรือการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวก็ตาม หลายคนวิจารณ์กฎหมายนี้ว่า 6 สัปดาห์เป็นช่วงเวลาที่น้อยเกินไป หลายคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์เสียด้วยซ้ำในช่วงเวลาอันสั้นแบบนี้
อีกหนึ่งประเทศที่เดินถอยหลังในเรื่องการทำแท้งคือ โปแลนด์ ที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาออกกฎห้ามทำแท้งในทุกกรณี ยกเว้นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนหรือเมื่อส่งผลต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์ แพทย์ที่ทำแท้งในกรณีอื่นๆ อาจถูกจำคุกถึง 3 ปี
เส้นทางการขับเคลื่อนเรียกร้องแก้กฎหมายการทำแท้งของไทย
ปัญหาสำคัญด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยคือ เมื่อเกิดการท้องไม่พร้อม ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้ ที่ผ่านมามีความพยายามในการเรียกร้องและเสนอให้แก้กฎหมายการทำแท้งที่ใช้มายาวนานกว่า 60 ปี
หลังจากสามปีของการผลักดัน ทวงถาม และติดตามอย่างต่อเนื่องโดยเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ และกลุ่ม RSA ให้ยกเลิกมาตรา 301 โดยยืนยันว่าการทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรมและผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร และให้ปรับปรุงมาตรา 305 เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย วันที่ 19 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากชี้ขาดว่ามาตรา 301 ที่กำหนดให้ผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดอาญา ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่รับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลอย่างสมบูรณ์ โดยสั่งให้แก้ไขภายใน 360 วัน และให้ปรับปรุงมาตรา 305 ให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์โดยไม่มีเงื่อนไข หากอายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ให้เข้ารับบริการปรึกษาทางเลือกเพื่อยืนยัน นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนากฎหมายทำแท้งในประเทศไทย
การทำแท้งในประเทศไทย ก้าวหน้าขึ้นแต่ยังไม่ถึงเส้นชัย
เครือข่ายคนทำงานด้านการสนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยจัดแถลงข่าวเนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่ากฎหมายอาญามาตรา 301 แม้จะมีการแก้ไขให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใน 12 สัปดาห์โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่หากเกินจากนั้นก็ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ การแก้ไขของรัฐบาลแม้จะก้าวหน้าขึ้นแต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะยังสะท้อนว่ากฎหมายยังมองผู้หญิงและคนที่สามารถตั้งครรภ์ได้เป็นอาชญากรอยู่ เป้าหมายของการขับเคลื่อนต่อ คือการรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 301 นอกจากนี้ยังเรียกร้องรัฐบาลให้จัดสรรบริการยุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ อย่างน้อย 1 โรงพยาบาลในทุกจังหวัด เพราะทุกวันนี้มีเพียงแค่ประมาณ 100 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่ให้บริการนี้
แม้กฎหมายจะก้าวหน้าขึ้น แต่ความเข้าใจทางสังคมยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสา RSA สะท้อนว่ายังคงมีอคติในหมู่ผู้ให้บริการ ในบางโรงพยาบาลยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง โดยสาเหตุหลักมาจากความเชื่อทางศาสนา และเกรงว่าการทำแท้งจะทำให้โรงพยาบาลเสียชื่อเสียง มีการตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องมีการผ่านมติที่ประชุมของพยาบาลก่อน เป็นต้น บางคลินิกที่เป็นสูตินารีแพทย์ เวลาผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไปปรึกษาเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ แทนที่จะแนะนำส่งต่อกลับบอกให้ผู้เข้ารับบริการไปหาข้อมูลเอง เพราะกลัวว่าจะมีบาปติดตัว
ในส่วนของผู้รับบริการ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้สิทธิของตัวเอง ไม่ทราบว่าสปสช.ให้สิทธิหญิงไทยในการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ฟรีในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ การไม่รู้กฎหมาย รวมทั้งไม่มีข้อมูลที่เพียงพอว่าที่ไหนให้บริการยุติการตั้งครรภ์บ้าง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยยังคงเลือกเข้ารับบริการทำแท้งเถื่อน ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายและการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทางอินเทอร์เน็ตที่อ้างว่ามียายุติการตั้งครรภ์
นอกจากนี้สถานพยาบาลที่ให้บริการยังคงมีน้อยและไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้มีสิทธิต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงบริการเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ข้อเรียกร้องในการรณรงค์ระดับนานาชาติ ‘28 September’
การเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติผ่านแคมเปญ ‘28 September’ ในปีนี้ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายผู้หญิงในหลายประเทศ ออกแถลงการณ์ถึงสหประชาชาติและรัฐบาลทั่วโลก ระบุภาพรวมการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ในช่วงโควิด-19 ว่าการล็อกดาวน์และกักตัวตามมาตราการของรัฐบาลในมุมหนึ่งมีความจำเป็นเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่อีกมุมหนึ่งส่งผลให้การเข้าถึงบริการทางสุขภาพในด้านอื่นๆ เป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ระยะเวลาในการเข้าถึงบริการมีความสำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในโลกคือการให้บริการทางแพทย์แบบทางไกล รวมถึงการให้รับประทานยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยทางเครือข่ายยืนยันว่าทางเลือกการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองนี้ควรจะเป็นสิ่งที่ทำได้โดยปกติในอนาคต และยังคงต้องมีบริการยุติการตั้งครรภ์ในคลินิกและโรงพยาบาลเป็นทางเลือกหลักด้วย
สำหรับปีนี้ทางเครือข่ายสนับสนุนการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยมีข้อเรียกร้องต่อสหประชาชาติและรัฐบาลทั่วโลกให้ยกเลิกกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่จำกัดการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม และผู้ต้องการทำแท้งจะต้องสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ในระดับชุมชน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตการใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเองในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยยาชนิดนี้จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาที่จำเป็น และจะต้องให้การดูแลหลังการทำแท้งด้วย
อ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2021/09/05/us/anti-abortion-movement-texas-law.html