ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังได้ประกาศอีกว่า สหรัฐฯ เตรียมจะต้อนรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนทั้งสิ้น 100,000 ราย ถึงแม้ว่าผู้อพยพหลายรายต้องการจะยังคงอยู่ในดินแดนใกล้เคียงกับบ้านเกิดของตนเองอย่างยูเครน นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะมอบเงินช่วยเหลืออีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) เพื่อความช่วยเหลือด้านอาหาร ยารักษาโรค น้ำ และทรัพยากรอื่นๆ
ตลอดทั้งวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 มี.ค.) ผู้นำของชาติสมาชิก NATO ได้ร่วมกันหารือเพื่อยกระดับมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียจากการรุกรานยูเครนเพิ่มเติม รวมถึงการหารือเพื่อการตอบรับกับแนวโน้มการใช้อาวุธเคมี ชีวภาพ หรือแม้แต่กระทั่งนิวเคลียร์จากทางรัสเซียในยูเครน ทั้งนี้ ไบเดนได้เตือนไปยังรัสเซียว่าการใช้อาวุธเคมี “อาจกระตุ้นเร้าให้เกิดการตอบโต้ในลักษณะดังกล่าว” โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า NATO จะตัดสินใจอีกครั้งในวิธีการตอบโต้ หากรัสเซียมีการใช้อาวุธเคมีจริง
จากการหารือของ NATO ยังคงไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือยูเครนทางด้านการทหารโดยตรง ทั้งนี้ เซเลนสกีได้กล่าวย้ำว่ายูเครนต้องการความช่วยเหลือทางด้านการทหารเพื่อป้องกันตนเองจากการรุกรานของรัสเซียมากที่สุดในตอนนี้ “หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของเครื่องบินทั้งหมดของคุณ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของรถถังทั้งหมดของคุณ เราไม่สามารถซื้อพวกมัน เมื่อเราได้มันมาทั้งหมด มันจะให้ความมั่นคงกับเรา 100% เช่นเดียวกันกับพวกคุณ”
ที่ประชุม NATO ย้ำว่าจะมีการส่งความช่วยเหลืออื่นๆ เข้าไปยังยูเครนเพิ่มเติมอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี NATO ยืนยันว่าตนจะระมัดระวังไม่ให้ความช่วยเหลือของตนกลายไปเป็นการยกระดับความขัดแย้งในพรมแดนของยูเครน “NATO ได้เลือกทางเลือกในการช่วยเหลือยูเครนในสงครามนี้ โดยปราศจากการเข้าไปร่วมสงครามต่อรัสเซีย” เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยืนยัน
สหรัฐฯ ได้ส่งความช่วยเหลือมายังยูเครนคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปหลายแห่งส่งอาวุธป้องกันตนเองจำนวนมากมายังยูเครนเพื่อใช้ตอบรับกับการโจมตีของรัสเซีย โดยหลังจากการหารือของ NATO ไบเดนได้ออกมาระบุว่า “NATO ไม่เคยแน่นแฟ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมามากเท่าวันนี้” เพื่อตอกย้ำว่าชาติพันธมิตรตะวันตกยังคงร่วมมือกันต่อต้านการทำสงครามที่ไร้ความชอบธรรมของรัสเซียในครั้งนี้
ในทางตรงกันข้าม สำหรับมาตรการการคว่ำบาตรทางพลังงานต่อรัสเซีย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแหล่งเงินทุนหลักของรัสเซียในการทำสงครามในยูเครนนั้น โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งเป็นชาติอันดับแรกของยุโรปที่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียยังคงรักษาท่าทีในการประกาศการคว่ำบาตร เนื่องจากการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียของเยอรมนีจะทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีเองพบกับหายนะได้
สำหรับมาตรการป้องปรามและปกป้องตนเองของ NATO ที่ประชุมได้อนุมัติที่จะส่งกองกำลังเข้าไปยังฮังการี สโลวาเกีย โรมาเนีย และบัลแกเรีย ระหว่าง 1,000-1,500 กอง เพื่อคอยรักษาความปลอดภัยให้กับชาติสมาชิก NATO ในฝั่งยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ดี NATO ย้ำว่าตนจะไม่ส่งกองกำลังเข้าไปยังยูเครนเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเข้าไปมีความขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรงในสงครามครั้งนี้
ที่มา: