ไม่พบผลการค้นหา
ประธานคณะก้าวหน้าเฟซบุ๊กไลฟ์จากพิษณุโลก ดูหน้างานชวนคนท้องถิ่นลงเลือกตั้งผู้บริหาร อปท.-ซัดกรณี 'ทายาทอยู่วิทยา' พิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล สะท้อนกระบวนการยุติธรรม พร้อมชักชวนปกป้องคนรุ่นใหม่ปิดทางรัฐใช้อำนาจข่มขู่คุกคามทำให้หวาดกลัว

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2563 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เฟซบุ๊กไลฟ์จากจังหวัดพิษณุโลก จัดรายการ "ก้าวหน้า Talk : คุณถาม เราตอบ" เป็นตอนที่ 2 พูดคุยในประเด็นทางการเมืองและสังคมหลายกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ การเดินหน้าเลือกตั้งท้องถิ่น, คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา อดีตผู้ต้องหาคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อ 8 ปีก่อน ที่ล่าสุดอัยการเพิกถอนคำสั่งฟ้องทั้ง 5 คดี รวมถึงการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในขณะนี้

นายธนาธร กล่าวในช่วงต้นว่า ที่วันนี้ตนเดินทางมาจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากภารกิจของคณะก้าวหน้าในเรื่องของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งตนมีความต้องการมาเห็นสภาพหน้างานจริง เพื่อนำไปต่อยอดสำหรับการทำนโยบาย และขอเชิญชวนทุกคนที่มีความสนใจในการพัฒนาบ้านเมืองและท้องถิ่นของตัวเอง ร่วมสมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้า ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครอยู่ในเว็บไซต์ของคณะก้าวหน้าในขณะนี้

ยกตัวอย่าง 'ทายาทอยู่วิทยา' สะท้อนกระบวนการยุติธรรมทำคนธรรมดาไร้ที่พึ่ง

จากนั้น นายธนาธรได้ตอบคำถามที่ประชาชนทางบ้านส่งเข้ามาผ่านช่องคอมเมนต์ โดยหนึ่งในคำถามที่มีการถามมากในวันนี้ คือกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา โดยนายธนาธรระบุว่ากรณีนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าประเทศไทยเป็นที่ที่น่าอยู่มากสำหรับ VIP หรือคนรวยและคนมีอำนาจ แต่สำหรับคนธรรมดา คนที่หาเช้ากินค่ำ ประเทศนี้ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับพวกเขา นี่คือสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน

ทั้งที่ความสำคัญของกระบวนการยุติธรรม คือการเป็นหลักประกันของความเสมอภาคและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม แต่ถ้าระบบยุติธรรมของสังคมไหนล่มสลายไปแล้ว สังคมนั้นจะไม่มีที่พึ่งและประชาชนจะไม่มีทางออก ในวันที่ศรัทธาในองค์กรทางการเมืองทั้งหมดเสื่อมลง อย่างน้อยที่สุดหากกระบวนการยุติธรรมยังศักดิ์สิทธิ์อยู่คนจะยังมีความหวัง แต่ถ้าสังคมสูญสิ้นซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม ความขัดแย้งจะหาทางออกโดยสันติไม่ได้

"นั่นคือสิ่งที่น่ากลัว เมื่อเราเอาความยุติธรรมมาถือฝักฝ่ายทางการเมือง มาทำให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง อภิสิทธิ์ชนในสังคมไทยไม่ต้องรับผิดรับชอบกับการกระทำของพวกเขา แล้วปล่อยให้คนเล็กคนน้อยติดคุกติดตาราง อันนี้น่ากลัวมาก ก็หวังว่ากรณีนี้จะเป็นกรณีที่พิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลชุดนี้ ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเอาจริงเอาจังกับการหาคนผิดมาลงโทษจริงหรือไม่" นายธนาธรกล่าว

จากนั้น ได้มีการส่งคำถามเข้ามา ถามว่าบทบาทของสื่อมวลชนต่อกรณีที่เกิดขึ้นควรจะเป็นเช่นไร ซึ่งนายธนาธรได้ระบุว่าสังคมที่เป็นประชาธิไตยนั้นไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่แข็งแรงได้ต้องประกอบไปด้วยส่วนอื่นๆ ด้วย รวมทั้งการทำงานของสื่อมวลชนที่ตรวจสอบอย่างอิสระ

สื่อมวลชนคือด่านแรก ที่จะเลือกว่าเรื่องไหนประชาชนควรจะรู้ เรื่องไหนเราอยากให้ประชาชนรู้ ควรจะเอาเรื่องไหนควรจะเป็นข่าว สื่อเป็นคนเลือกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเป็นข่าว สื่ออยากให้ประชาชนรู้และเข้าใจเรื่องไหน ถ้าสื่อไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็จะปล่อยข่าวที่มอมเมาประชาชน ข่าวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

สังคมประชาธิปไตยที่แข็งแรง สื่อมีสิทธิเสรีภาพ ต้องได้รับการปกป้อง มีสถานะพิเศษ ดังนั้นเพื่อจะตอบรับกับศรัทธาและสถานะพิเศษนี้ สื่อต้องเป็นคนทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องราวที่ประชาชนควรจะรู้ให้กับประชาชน เอาเรื่องราวที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้ประชาชนรู้มาบอกเล่าให้กับประชาชน นี่จึงเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแรง

ปรับ ครม. เปลี่ยนคนทำงานไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่เปลี่ยนหัวหน้าทีม ศก.

จากนั้น ได้มีการส่งคำถามเข้ามาขอให้นายธนาธรวิเคราะห์การปรับ ครม.ว่าจะสามารถนำพาบ้านเมืองไปต่อได้อย่างไร ซึ่งนายธนาธรได้วิเคราะห์ ว่าปัจจัยการปรับ ครม.ที่เกิดขึ้นมีเหตุมาจากปัจจัย อันประกอบไปด้วย

หนึ่ง ความล้มเหลวในการจัดการเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่พังทลายลง GDP ปีนี้มีแนวโน้มที่จะลดอย่างรุนแรง อาจจะถึงร้อยละ 10 พี่น้องประชาชนที่หาเช้ากินค่ำรู้ดีที่สุดว่ามีปัญหาอย่างไร เป็นส่วนให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับทีมเศรษฐกิจ

"ปัญหาคือเราต้องเข้าใจ ว่าเปลี่ยนคนทำงานกี่คนก็เหมือนเดิม ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่เหมือนเดิม และที่สำคัญเป้าหมายที่สำคัญที่ที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่เรื่องการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี แต่คือการสืบทอดอำนาจอยู่ให้นานที่สุด ดังนั้นการปรับ ครม.ไม่อาจแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เพียงแต่แก้ไขความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า"

สอง ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ฝ่ายบริหารและพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่มีพรรคไหนที่มีเสียงข้างมากในสภา ประชาชนอ่อนแอ อย่างที่ผลเกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ ที่พรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นเต็มไปหมด เสียงแตก ขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน ดังนั้น ความล้มเหลวของรัฐบาลในด้านหนึ่ง จึงเป็นความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญด้วย

ประเทศ ปชต.ไม่ปล่อยให้ ผบ.ทบ.พูดประเด็นการเมือง

จากนั้น ได้มีผู้ส่งคำถามเข้ามาขอความเห็นนายธนาธรกรณีผู้บัญชาการทหารบกออกมามีท่าทีต่อกรณีการชุมนุมของนักศึกษา ซึ่งนายธนาธรระบุว่าในประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็ง ผู้นำกองทัพไม่มีอำนาจออกมาให้ความคิดเห็นทางการเมืองเช่นนี้ แต่เพราะปัจจุบันกองทัพไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐบาล กองทัพไม่มีความยึดโยงกับประชาชน เราจะเห็นได้ตลอดว่าผู้นำกองทัพคนปัจจุบันแถลงข่าวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง 

และที่สำคัญ เราจะเห็นได้ชัดถึงกรณีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างชัดเจน ระหว่างการตอบรับนักศึษา-ประชาชนที่มารวมตัวหน้ากองทัพบกเพื่อถามถึงท่าทีดูถูกดูแคลนที่ออกมาจากอดีตรองโฆษกกองทัพบก ที่มีการปิดประตูใส่ แต่ขณะเดียวกันอีกฝั่ง ซึ่งนำโดยนายสาธิต เซกัล ขอเข้าพบ ผบ.ทบ. กลับมีการเปิดบ้านต้อนรับเป็นอย่างดี

"บทบาทของกองทัพที่ดีที่เหมาะสมในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย คือกองทัพออกมาให้ความเห็นทางการเมืองไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ไม่ใช่เรื่องของกองทัพ ภารกิจของกองทัพ ง่ายๆ สั้นๆ ตรงไปตรงมา คือสร้างกองทัพที่มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง พร้อมที่จะปกป้องประเทศหากมีการรุกราน เท่านี้เอง การบริหารประเทศเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของกองทัพ" นายธนาธรกล่าว

นักศึกษาแสดงออก-หาทางออกร่วมกัน

จากนั้น ได้มีการส่งคำถามเข้ามาถึงกรณีการชุมนุมของนักศึกษา ที่มีกรณีที่อาจตีความได้ว่าหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบันกษัตริย์ ว่านายธนาธรมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งนายธนาธรกล่าวว่า สิ่งที่นักศึกษาปราศรัยคือปัญหาที่คนรุ่นเราไม่กล้าพูดถึง นี่คือจุดสำคัญของสังคมไทย นักศึกษาได้ตั้งคำถามกับระบบระเบียบที่อยู่ในสังคมไทย แต่คนรุ่นเรามีวุฒิภาวะพอหรือไม่ที่จะเผชิญหน้ากับคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมา

"เวลาเราพูดเรื่องนี้เราไม่ได้พูดด้วยความมาดร้ายพยาบาท แต่เราพูดด้วยความหวังดี ว่ามีปัญหาที่นักศึกษา-คนรุ่นใหม่ได้พูดขึ้นมาแล้ว เรากล้ายอมรับมัน เรากล้าเผชิญกับความจริงหรือไม่ เรามีทางเลือกที่จะเอาเรื่องนี้ซุกไว้ใต้พรม ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาพูดไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วปล่อยปัญหานี้ให้คนรุ่นเขาจัดการเอง หรือเมื่อรับฟังไม่ได้-ใจไม่กว้างพอที่จะเปิดรับความคิดเห็นเหล่านี้ ก็จับพวกเขาเข้าคุกหรือไล่ให้ไปอยู่ต่างประเทศ กำราบปราบปรามพวกเขา

แต่อย่าลืมว่านี่คืออนาคตของประเทศ และเราไม่ได้พูดถึงคนหลักสิบหลักร้อย แต่เรากำลังพูดถึงคนเป็นหลักหมื่นหลักแสน ข้อเสนอที่เรียบง่ายก็คือการยอมรับการดำรงอยู่ของปัญหาอย่างตรงไปตรงมา การจะหาทางออกด้วยกันได้เริ่มจากการยอมรับว่ามีปัญหาอยู่จริง ถ้าไม่ยอมรับกันตรงนี้แล้วไม่มีทางหาทางออกร่วมกันได้" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธรยังกล่าวถึงกรณีการโหวตให้ตั้งกรรมาธิการให้รับฟังนักศึกษา ว่าดูก็เหมือนว่าจะดี แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือด้านหนึ่งตั้งกรรมาธิการขึ้นมาจะรับฟังความเห็น แต่อีกด้านหนึ่งจับยัดเยียดคดี ส่งตำรวจไปที่บ้าน ไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย 

ตกลงแล้วฝ่ายบริหารมีความจริงใจจะรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาจริงหรือไม่ สุดท้ายคุณไม่ได้ฟังเขาแล้วไปหาว่าเขาจาบจ้วง คำถามที่ต้องถามถือคุณเปิดใจกว้างพอไหมที่จะฟังในสิ่งที่เขาพูด เพราะสิ่งที่เขาพูดคือความจริงที่กระอักกระอ่วนในสังคมไทยที่ไม่มีใครอยากรับฟัง ไม่มีใครอยากพูดถึงในที่สาธารณะ

"คำถามคือเราจะจัดการกับความจริงที่ดำรงอยู่อย่างไร ที่ไม่มีใครอยากพูดในที่สาธารณะ แต่วันนี้มีคนออกมาพูดแล้ว เราจะจัดการกับเรื่องอย่างนี้อย่างไร ผมคิดว่าวิธีจัดการเรื่องอย่างนี้ที่ดีที่สุด คือการยอมรับการมีอยู่ การเผชิญหน้าอย่างเป็นผู้ใหญ่ อย่างมีวุฒิภาวะ อย่างตรงไปตรงมา ด้วยท่าที ด้วยความคิดที่ไม่อาฆาตมาดร้าย แต่ด้วยท่าทีที่ส่งให้เห็นถึงความปรารถนาดี ที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งนี้ไปด้วยกันอย่างสันติ" นายธนาธรกล่าว

สุดท้าย นายธนาธรยังกล่าวถึงกรณีการชุมนุมของนักศึกษาต่ออีก ว่านักศึกษาเหล่านี้ออกมาต่อสู้แทนคนที่ออกมาไม่ได้ เพราะหลายคนเป็นเสาหลักของครอบครัว หลายคนที่อยากจะออกมาจำเป็นต้องดูแลพ่อแม่ เนื่องด้วยสถานะต่างๆ และสภาพเศรษฐกิจจึงออกมาไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือทำให้ทุกคนหวาดกลัว ไปเยี่ยมตามบ้าน ข่มขู่ผู้ปกครอง ถ้าเราไม่ออกมาปกป้องพวกเขา ในที่สุดเขาท้อถอยและยุติการต่อสู้เพราะความหวาดกลัว ความเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิด นี่คือช่วงเวลาแห่งความหวัง เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้องพวกเขา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :