ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับ และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ เผยปีนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 337 ราย และเสียชีวิตแล้ว 19 ราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับประปรายบางพื้นที่ และช่วงนี้มีกิจกรรมที่ประชาชนทำร่วมกันและอาจจะปรุงอาหารรับประทานกันเอง เช่น จัดงานบุญกฐิน งานประเพณี งานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารและรับประทานอาหาร โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมารับประทานดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย หลู้หมูดิบ เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ 

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 23 ต.ค. 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 337 ราย เสียชีวิต 28 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ พบผู้ป่วย 230 ราย คิดเป็นร้อยละ 68 ของผู้ป่วยทั้งหมด และเสียชีวิต 19 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ แพร่ กำแพงเพชร และน่าน ตามลำดับ 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ซึ่งโรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อนี้ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.การบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ หลังรับประทาน 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ จนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้

สำหรับวิธีการป้องกันโรค คือ 1.รับประทานหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง 

ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงต่อกาเกิดโรคไข้หูดับ คือ ผู้รับประทานหมูดิบหรือมีเลือดหมูดิบในอาหาร ผู้ที่สัมผัสกับสุกรที่ ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสุกร เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไตวาย มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคลดลง โรคนี้รักษาหายขาดได้ ดังนั้น หากมีอาการข้างต้นภายหลังจากรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที