คดีความดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2542 หลังจากที่ ทุงนาถ จตุรเวดี ทนายความชาวอินเดีย ถูกคิดค่าตั๋วรถไฟ 2 ใบของเขาเกินไปในราคา 20 รูปี (ประมาณ 9 บาท) โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่สถานีรถไฟค่ายทหารมถุรา ในรัฐอุตตรประเทศ ตอนเหนือของอินเดีย
จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ศาลผู้บริโภคอินเดียได้อ่านคำพิพากษาตัดสินให้จตุรเวดีชนะคดี และสั่งให้สถานีรถไฟคืนเงินพร้อมกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ “ผมเข้าร่วมการพิจารณาคดีมามากกว่า 100 ครั้งในคดีนี้” จตุรเวดีในวัย 66 ปีกล่าวกับสำนักข่าว BBC “แต่คุณไม่สามารถประเมินค่าพลังงานและเวลาที่ผมเสียไปกับการสู้คดีในครั้งนี้ได้หรอก”
ศาลผู้บริโภคอินเดียทำหน้าที่ในการจัดการกับข้อร้องทุกข์ของผู้ใช้บริการต่างๆ ในประเทศโดยเฉพาะ แต่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในอินเดียว่า คดีผู้บริโภคมักตามมาด้วยภาระของโจทก์และจำเลยที่หนัก และในบางกรณีอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีในการตัดสินคดีง่ายๆ
จตุรเวดีซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ เดินทางจากมถุราไปยังโมราดาบัด ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง โดยหลังจากที่จตุรเวดีซื้อตั๋วรถไฟจำนวน 2 ใบจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานี จตุรเวดีพบว่าเขาถูกคิดค่าตั๋วเกินราคา โดยตั่วรถไฟมีราคาอยู่ที่ใบละ 35 รูปี แต่หลังจากที่จตุรเวดีจ่ายค่าตั๋วไปด้วยเงิน 100 รูปี เขากลับได้เงินทอนเพียงแค่ 10 รูปี ด้วยการคิดเงินค่าตั๋วของเขาในราคา 90 รูปี ทั้งๆ ที่ราคาจริงคือ 75 รูปี
จตุรเวดีได้บอกกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟว่า เขาถูกคิดเงินค่าตั่วเกิน แต่จตุรเวดีกลับไม่ได้รับเงินคืนในตอนนั้นแต่อย่างใด ด้วยเหตุดังกล่าว เขาจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องร้องต่อศาลผู้บริโภคในมถุรา โดยมีจำเลยเป็นการรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (โครัขปุร) หน่วยงานย่อยของการรถไฟอินเดีย รวมถึงเจ้าหน้าที่จองตั๋วรถไฟ
จตุรเวดีบอกว่าเขาใช้เวลาในการสู้คดีกว่าหลายปี เพราะกระบวนการตุลาการในอินเดียนั้นเชื่องช้า “การรถไฟยังพยายามทำให้คดีนี้ถูกยกฟ้อง โดยอ้างว่าการร้องเรียนการรถไฟควรถูกส่งไปยังศาลรถไฟ ไม่ใช่ศาลผู้บริโภค” จตุรเวดีกล่าว ทั้งนี้ การรถไฟอินเดียอ้างว่า ศาลรถไฟถูกตั้งขึ้นในรูปแบบหน่วยงานกึ่งตุลาการ เพื่อจัดการกับข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางด้วยรถไฟในอินเดีย
“แต่เราใช้คำตัดสินของศาลฎีกาเมื่อปี 2564 เพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องนี้สามารถรับฟังได้ในศาลผู้บริโภค” จตุรเวดีระบุ ก่อนชี้ว่าในบางครั้ง การพิจารณาคดีอาจล่าช้าออกไป เนื่องจากผู้พิพากษาต่างลาพักร้อนหรือลาหยุดเมื่อสูญเสียคนใกล้ชิด
หลังจากการต่อสู้คดีอันยาวนานมากว่า 22 ปี ศาลผู้บริโภคได้สั่งให้การรถไฟอินเดียจ่ายเงินค่าปรับแก่จตุรเวดีจำนวน 15,000 รูปี (ประมาณ 6,600 บาท) ศาลยังสั่งให้มีการคืนเงินค่าตั๋วที่คิดเกินไป 20 รูปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่อปีที่ 12% นับตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2565 ศาลยังสั่งอีกว่า หากค่าปรับและเงินทั้งหมดไม่ถูกจ่ายในเวลา 30 วัน อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นไปเป็น 15%
จตุรเวดีกล่าวว่า ค่าตอบแทนที่เขาได้รับจากคดีนี้นั้นน้อยนิดมาก และไม่สามารถชดเชยความเจ็บปวดทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับเขาได้ ทั้งนี้ ครอบครัวของเขาพยายามห้ามปรามอยู่หลายครั้ง จากการไล่ทวงถามตามคดี โดยครอบครัวของจตุรเวดีให้เหตุผลว่าคดีดังกล่าวเป็นการเสียเวลา แต่จตุรเวดียืนยันว่าตนจะสู้คดีต่อไป จนเขาชนะคดีในครั้งนี้มาได้
“เงินมันไม่สำคัญหรอก นี่เป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และการต่อต้านการทุจริตมาโดยตลอด ดังนั้นมันจึงคุ้มค่า” จตุรเวดีระบุ “นอกจากนี้ เนื่องจากผมเป็นทนายความเสียเอง ผมไม่ต้องจ่ายเงินค่าทนาย หรือแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศาล ซึ่งมันอาจมีราคาแพงมาก”
จตุรเวดีย้ำว่าไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของทางการที่ได้รับการแต่งตั้งมาในลักษณะใดๆ พวกเขา “ไม่สามารถหนีจากการกระทำผิดได้ หากผู้คนพร้อมที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้” จตุรเวดีเชื่อว่า คดีของเขาเองจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทุกคน ที่จะ “ไม่ยอมแพ้แม้การต่อสู้จะดูยาก”
ที่มา: