ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการเข้าทวงถามความคืบหน้าการสวบสวนกรณีทุจริตโกงค่าจ้างงานคนพิการต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้นายกฯ แต่งตั้ง คกก.พิเศษเข้ามาสอบสวนหลังผ่านไปแล้ว 2 ปีนับตั้งแต่ออกมาเปิดโปง ผู้ที่ถูกละเมิดยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 ‘ปรีดา ลิ้มนนทกุล’ ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ พร้อมด้วยผู้ดูแลคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิและปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากการถูกโกงหรือหักหัวคิวเงินค่าจ้างงานที่คนพิการต้องได้รับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดินทางมายังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทวงถามความคืบหน้าของการสอบสวนกรณีทุจริตดังกล่าว หลังผ่านมา 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่เครือข่ายได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโกงสิทธิ์คนพิการที่ประเมินว่าสร้างความเสียหายปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่ไม่มีความคืบหน้า

พิการทวงถามสิทธิ์
  • 'ปรีดา ลิ้มนนทกุล' ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ

ปรีดาระบุว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ก็ไม่พบข้าราชการทำความผิด ไม่มีนายกสมาคม ประธานมูลนิธิหรือองค์กรด้านคนพิการคนใดได้รับโทษ ในขณะที่สมาชิกเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการถูกฟ้องแล้ว 8 คดี ทั้งการฟ้องร้องโดยข้าราชการ นายกสมาคม ซึ่งทางเครือข่ายก็ต่อสู้ด้วยการใช้ความจริงขึ้นสู่ศาล โดยมีทั้งคดีที่ชนะและได้รับการยกฟ้องไปเอง หากสิ่งที่สะเทือนใจคือระหว่างนั้นมีผู้พิการที่รอคอยความยุติธรรมได้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย และระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาลก็พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นความผิดปกติของการใช้อำนาจของข้าราชการ พบว่ามีการช่วยเหลือกันแม้ความผิดจะสำเร็จไปแล้ว ตัวเองและเครือข่ายจึงรู้สึกทนไม่ไหวและคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมควรรับรู้ จึงได้นำเอกสารที่ปรีดาเรียกว่าเป็นหลักฐานแสดงถึงการใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชันมาเปิดเผย โดยนายปรีดาระบุว่ามีข้าราชการระดับสูงจาก 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจในทางมิชอบช่วยเหลือผู้กระทำผิดไม่ให้รับโทษโดยเอาสถานประกอบการเป็นเกราะกำบัง ซึ่งทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์ขอยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ได้แก่ 

1. ยืนยันข้อเรียกร้องเดิมให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้มีความยุติธรรม ไม่สนเงินสินบนจากพวกทุจริตมาเป็นผู้สอบสวนข้อเท็จจริง ชี้ผิดถูกเรื่องการทุจริตสิทธิ์คนพิการที่มีความเสียหายเฉียดหมื่นล้านบาทแล้ว โดยยกตัวอย่างกรณีการแต่งตั้ง ‘วิชา มหาคุณ’ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ‘วรยุทธ อยู่วิทยา’ 

2. เร่งแก้ไขช่องว่างของระเบียบปฏิบัติ โดยระบุว่าเคยมีข้อเสนอไปแล้วในเรื่องช่องว่างระเบียบปฏิบัติที่ข้าราชการทุจริตประพฤติมิชอบเปิดทางเอาไว้สำหรับเรียกรับผลประโยชน์ต่างๆ จึงควรเร่งแก้ระเบียบปฏิบัติโดยเร่งด่วน หากไม่รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร ให้เรียกเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการเข้ามาแนะนำ

3. นายกรัฐมนตรีควรบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 เมื่อเกิดเหตุทุกข์ร้อนกับประชาชนควรพิจารณาช่วยเหลือเยียวยา พร้อมย้ำว่านี่ผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมีใครเยียวยาผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการที่ถูกละเมิดสิทธิ์กรณีโกงค่าจ้างงานคนพิการเลย

ปรีดายังได้เรียกการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็น “การทุจริตสามัญประจำชาติ” โดยระบุว่า “ทุจริตสามัญประจำชาติ คือมีการโกงกันทั้งชาติเลยครับ ไม่ว่ากรมไหนกระทรวงไหนก็มีการทุจริตไปหมด ทุจริตสามัญประจำชาติคืออะไรครับ คือมีข้อมูลชัดเจน รู้คนผิด ตั้งกรรมการสอบกันเองภายในกรม กระทรวง และสุดท้ายก็ไม่มีคนผิด แล้วเรื่องก็เงียบ และพวกเราที่ร้องเรียนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนก็ตาม องค์กรอิสระไหนก็ตาม หรือประชาชนที่เดือดร้อนก็ตามก็จะถูกรุมฟ้อง นี่คือสูตรสำเร็จเลยของทุจริตสามัญประจำชาติไทย” 

พิการทวงถามสิทธิ์
  • สมพาศ นิลพันธ์’ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้าน ‘สมพาศ นิลพันธ์’ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาเจรจาและรับเรื่องเรียกร้องจากทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ โดยหลังการพูดคุยหารือกับเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ นายสมพาศระบุว่าจะเร่งนำเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะเสนอแนวทางการสอบสวนเป็น 3 แนวทางเพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณา ได้แก่ 

1. ตั้งคณะกรรมการพิเศษสอบสวนที่มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ 

2. ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้โดยเร่งด่วน 

3. ใช้กลไกกฎหมายที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2550 โดยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวน

พิการทวงถามสิทธิ์พิการทวงถามสิทธิ์

ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีว่าจะเลือกใช้แนวทางใดในการสอบสวน แต่ก็ให้คำมั่นว่าจะระบุข้อกังวลของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการต่อแนวทางที่ 3 ลงไปในรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องจากทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการไม่เชื่อมั่นต่อแนวทางที่ 3 จึงกังวลว่าอาจไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่แน่ชัดจากแนวทางนี้ 

ทั้งนี้ สมพาศระบุว่าจะดำเนินการให้ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นแนวทางใดและแจ้งแก่ทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการให้มารับทราบคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 5 ต.ค. 2563