ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยพิว ซึ่งเป็นสถานบันวิจัยทางวิชาการในสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจว่า แม้ว่าจีนอาจเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของจีนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กำลังสั่นคลอนในประเทศที่มีรายได้สูงและปานกลาง

ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยพิวที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ก.ค.) ยังพบว่ามีความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นคุณต่อจีนโดยรวม โดยผู้ตอบแบบสำรวจโดยเฉลี่ยกว่า 67% แสดงความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับจีน เทียบกับ 28% ที่แสดงความคิดเห็นเชิงบวก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยพิวทำการสำรวจความเห็นของผู้ใหญ่มากกว่า 30,000 คนใน 24 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ เม็กซิโก เยอรมนี ออสเตรเลีย บราซิล อิสราเอล ไนจีเรีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งพบว่าการรับรู้เชิงลบต่อจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ออสเตรเลีย สวีเดน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ยังมีคะแนนการรับรู้เชิงลบต่อจีนที่สูงอย่างเห็นได้ชัด โดย 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามในคำถามปลายเปิดระบุว่า จีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ มากที่สุด เทียบกับ 17% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากรัสเซีย

อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และเม็กซิโก แสดงความคิดเห็นในเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับจีน ซึ่งน่าจะเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่มาบรรจบกัน ตั้งแต่บทบาทในการจัดหาอินเทอร์เน็ต 5G ให้กับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปจนถึงการลงทุนขนาดใหญ่ผ่านโครงการขนาดใหญ่ของจีน โดยเฉพาะโครงการริเริ่มในด้านโครงสร้างพื้นฐานแถบและเส้นทาง หรือ Belt and Road

อินเดียเป็นประเทศที่มีผลการรับรู้เชิงลบต่อจีนโดดเด่นที่สุดในหมู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียสั่นคลอน อันเป็นผลมาจากประเด็นต่างๆ รวมถึงปัญหาพรมแดนที่มีข้อพิพาททอดข้ามเทือกเขาหิมาลัยระหว่างกัน ซึ่งยาว 3,500 กิโลเมตร โดยผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิวพบว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามในอินเดียมีมุมมองเชิงลบต่อจีน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดก็ตาม ซึ่งเป็นการรับรู้เชิงลบต่อจีนของอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 46% ในปี 2562

ปัจจุบัน จีนยังถูกมองว่าเป็นประเทศที่ยังคงมีความเทียบเท่าอันห่างไกลเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ในแง่ของอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จีนได้รับการขนานนามว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลกโดยมีค่าเฉลี่ยจากผลสำรวจ 33% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เทียบกับ 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่าสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก

คะแนนการรับรู้ต่อสาธารณชนของจีนลดลงอย่างหนักโดยเฉพาะในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และสวีเดน ในขณะที่การรับรู้ต่อภาพลักษณ์ของจีนในชาวสหรัฐฯ มีสัดส่วนที่ลดลงเช่นกัน โดยผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิวพบว่า 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐฯ ระบุว่า จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก ลดลงจาก 43% ในปี 2565

จุดที่สดใสจุดหนึ่งของการรับรู้ที่มีต่อจีน คืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน ซึ่งได้รับการขนานนามว่าดีที่สุดในโลก โดย 19% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกระบุว่า จีนมีภาพลักษณ์ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ดี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 51% 

อย่างไรก็ดี การรับรู้โดยรวมที่ตกต่ำส่วนใหญ่ อาจเชื่อมโยงกับการรับมือของจีน ในการฟื้นคืนหลังจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งตกต่ำลงในปี 2563 และอีกครั้งในปี 2565 เนื่องจากข้อจำกัดในการต่อต้านการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ทั้งนี้ ความพยายามของจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของปีนี้ ได้หยุดชะงักลงในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ในขณะที่คำมั่นสัญญาของทางการจีน ที่จะสนับสนุนภาคเอกชนของประเทศ กลับถูกตั้งความกังขาจากนักลงทุนทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน ความพยายามของจีนในการเปลี่ยนรูปโฉมตัวเอง ในฐานะผู้สร้างสันติภาพระดับโลกในปีนี้กลับประสบกับความล้มเหลว แม้ว่าจีนจะก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านอีกครั้ง และเสนอตัวที่จะมีบทบาทคล้ายกันทั้งในความขัดแย้งของยูเครนและปาเลสไตน์

ค่าเฉลี่ยกว่า 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุกับศูนย์วิจัยพิวว่า พวกเขาคิดว่าจีน “ไม่ได้สนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพของโลก” เทียบกับ 23% ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงบวกต่อกิจกรรมทางการทูตของจีน ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 57% ระบุว่า จีนเป็นผู้แทรกแซงกิจการโลก ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่จีนพยายามสร้างว่า พวกเขาจะไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศอื่น

ผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นเชิงลบในลักษณะเดียวกัน เกี่ยวกับความเป็นผู้นำระดับโลกของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน โดยค่าเฉลี่ยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 74% ระบุว่า พวกเขามีความมั่นใจเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยใน “ความสามารถในการทำสิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับกิจการโลก” ของประธานาธิบดีจีน

อย่างไรก็ดี มีการพบคะแนนนิยมต่อจีนที่โดดเด่นอย่างผิดปกติในเคนยา ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามใน 3 ประเทศจากแอฟริกายังให้คะแนนซอฟท์พาวเวอร์ของจีนสูงสุดในหมวดต่างๆ เช่น การทหาร การศึกษา ความบันเทิง เทคโนโลยี และมาตรฐานการครองชีพ โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไนจีเรียโดยเฉลี่ย 69% มองว่าจีนดีที่สุดในโลกหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยในหมวดหมู่เหล่านี้ เทียบกับ 58% ในเคนยาและ 55% ในแอฟริกาใต้

ในทางตรงกันข้าม เกาหลีใต้ อิสราเอล และเยอรมนี มีตัวเลขคะแนนนิยมต่อจีนลดลงเหลือ 27% 33% และ 35% ตามลำดับ


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/7/27/china-faces-faltering-global-image-survey-finds?fbclid=IwAR27f0reF2D2ATrKcRULoNwZB9R437fCI8vFeL6SzE__pSouU5it0r38ams