ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญาพิพากษาคดี 112 สั่งจำคุก 6 ปี ศิลปินวัย 29​ แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเหตุรับสารภาพ ทนายยื่นประกันตัว แต่ศาลอาญามีคำสั่งส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้อง เวลานี้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำแล้ว

28 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 805 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ 'อัฐสิษฎ' (สงวนนามสกุล) ศิลปินวัย 29​ ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังถูกสั่งฟ้องว่าเป็นผู้ทำเพจ BackArt วาดงานศิลปะแนวเสียดสีสังคมจำนวน 2 ภาพ ระหว่างเดือน มิ.ย.- ต.ค. 2564

อัฐสิษฎเดินทางมาฟังคำพิพากษาเพียงคนเดียว โดยเขาต้องเดินทางมาจากจังหวัดนครราชสีมาล่วงหน้า 1 วัน เนื่องจากเขาต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 9 ชั่วโมง จากระยะทางราว 300 กิโลเมตร 

เมื่อเวลา 10.03 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษา โดยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า 

ในคดีนี้จำเลยได้ให้การรับสารภาพ ศาลสั่งให้มีการสืบเสาะ จำเลยได้ให้การต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติว่าได้โพสต์ภาพตามคำฟ้องจริง โดยอ้างว่าโพสต์ตามจินตนาการทางการเมือง

เห็นว่าในความจริงแล้วรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นไปตามที่จำเลยใส่ความ ข้อความและโพสต์ของจำเลยนั้นบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ทำให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทำให้คนที่มาเห็นรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง 

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน และให้ริบคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง, ซิมการ์ด และเมาท์ปากกาวาดภาพ ของกลาง

ผู้พิพากษาในคดีนี้คือ สมชาย ขานสระน้อย และดุษดี พิชยภิญโญ 

หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอัฐสิษฎในระหว่างอุทธรณ์ ส่วนอัฐสิษฎถูกใส่กุญแจมือและถูกควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอฟังคำสั่ง

ต่อมาในเวลา 15.46 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ทำให้ในวันนี้อัฐษสิฎต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงปัจจุบัน (28 ก.พ. 2567) มีผู้ถูกคุมขังในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วถึง 41 คน โดยมีอัฐสิษฎเป็นรายล่าสุด จำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 24 คน และเป็นผู้ต้องขังระหว่างการต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวถึง 29 คน แยกเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 18 คน และคดีข้อหาอื่น ๆ อีก 11 คน

สำหรับคดีนี้มี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง เป็นผู้กล่าวหา ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 เวลา 07.30 น. อัฐสิษฎถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 12 นาย จากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.1 บก. ปอท.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เข้าจับกุมและตรวจค้นในบ้านพักที่จังหวัดนครราชสีมาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2359/2565 ลงวันที่ 4 พ.ย. 2565 และหมายค้นจากศาลจังหวัดพิมายที่ 19/2565 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2565

หลังจากที่ตำรวจได้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ และเมาท์ปากกาวาดภาพของอัฐสิษฎไว้เป็นของกลางในคดีนี้ อัฐสิษฎได้ถูกนำตัวจากจังหวัดนครราชสีมามายังกรุงเทพมหานครในวันเดียวกันนั้นเพื่อทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อหาที่ บก.ปอท. โดยตำรวจได้แจ้งข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ระบุว่า สาเหตุมาจากเพจเฟซบุ๊ก BackArt ได้เผยแพร่ภาพและข้อความที่เข้าข่ายลักษณะบิดเบือน พาดพิง เสียดสี ด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และจากการสืบสวนพบว่า อัฐสิษฎเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว 

ในชั้นจับกุมและสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม อัฐสิษฎให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ได้รับว่าเป็นผู้วาดและเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว โดยไม่ได้มีเจตนาพาดพิงสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอัฐสิษฎต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนอนุญาตให้ประกันระหว่างสอบสวน วงเงินประกัน 90,000 บาท แต่เนื่องจากเขาไม่สามารถติดต่อครอบครัวได้ เพราะโทรศัพท์ถูกตำรวจยึดไป อัฐสิษฎจึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนครอบครัวมายื่นประกันเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565      

ต่อมาวันที่ 31 ม.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา โดยสาระสำคัญของคำฟ้องมีดังนี้ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564 ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 ต.ค. 2564 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ BackArt โพสต์ภาพวาดและข้อความว่า “ออกแบบคาแรคเตอร์มือปืนที่เก่งที่สุดในโลก….จอห์นวิคยังต้องกราบ” อัยการระบุว่า เมื่อตีความและอ่านออกเสียงประกอบภาพย่อมต้องนึกถึงรัชกาลที่ 9 อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ

และเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2564 ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 ต.ค. 2564 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ BackArt โพสต์ภาพวาดคล้ายชายกำลังกัดกินแผนที่ประเทศไทย และข้อความ “ทางออก ประเทศไทย?” อัยการระบุว่า จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนที่ได้เห็นภาพและอ่านข้อความมีความรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 กัดกินประเทศไทย อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ

ภายหลังศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี 

เดิมศาลมีกำหนดนัดสืบพยานจำนวน 4 นัด ระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค. 2567 แต่ในนัดสืบพยานนัดแรก อัฐสิษฎได้เปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะรายงานต่อศาลก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้