ไม่พบผลการค้นหา
ตรวจการบ้าน 3 เดือนรัฐบาล ชี้เน้นรักษาหน้า สร้างฝัน มุ่งมั่นแต่ไม่รอบรู้การบริหารราชการทำให้นโยบายหยุดชะงัก แนะแก้โครงสร้างราคาพลังงาน

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ 'ตรวจการบ้านรัฐบาลเศรษฐา ประเมินผลงานรัฐบาล 3 เดือน' นับจากวันที่ 2 ก.ย. 2566 โปรดเกล้าตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 2 ธ.ค. 2566 ครบรอบ 3 เดือนรัฐบาลการนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

7 ด้านปฏิรูปไม่คืบ

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) หยิบยกภาพรวมของ 7 ประเด็นวิกฤต ที่รัฐบาลยังไม่ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และสืบเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมา ประกอบด้วย 

1.ปฏิรูปการเมือง ยุติความขัดแย้ง 2.ปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดโอกาสใหัประชาชน ไม่เอื้อกลุ่มธุรกิจหรือทุนใหญ่ 3.ปฏิรูประบบยุติธรรม และวงการตำรวจให้มีความเป็นธรรมในการพิทักษ์สันติราษฎร์ 4.ปฏิรูปการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไม่กีดกันประชาชนออกจากระบบการศึกษา รวมถึงเหตุความรุนแรงในรั้วสถานศึกษา  

5.ปฏิรูประบบรัฐสวัสดิการและสุขภาพ ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของชาติในมิติใหม่ 6.ปฏิรูปความมั่นคง ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ยังมีการใช้งบประมาณไปกับการสร้างแสนยานุภาพทางการทหารอย่างน่าเป็นห่วง และ 7.ปฏิรูประบบราชการ ดังที่ปรากฏกรณีการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่มีเหตุผลชัดเจน อาจซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เน้นรักษาหน้า

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะมีผลงานในเวลาเพียง 3 เดือน เพราะมีปัญหาสะสมจากรัฐบาลที่แล้วมาจำนวนมาก แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงมีความจำเป็นให้รัฐบาลมีโอกาสปรับปรุง เพราะถือว่าการวิจารณ์คือการเอาใจช่วย

สมชัย ระบุว่า รัฐบาลบริหารงานในลักษณะ 'เบญจลักษณ์" 1.รักหน้ายิ่งชีพ 2.มุ่งมั่นแต่ไม่รอบรู้ 3.สร้างความฝัน รอวันพังทลาย 4.เก่งเปิดตัวสร้างอีเวนท์ เอาเรื่องดีๆ เข้าตัว และ 5.แก้ปัญหาแบบผ้าเอาหน้ารอด แต่ไม่ยั่งยืน ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตนเองไม่อยากให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลปัจจุบัน

สมชัย กล่าวต่อไปว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยปล่อยมือจากพรรคก้าวไกล ทำให้ขาดความเชื่อถือจากประชาชน จึงต้องดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ให้ได้ แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่ส่งผลเสียก็ตาม และรัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจหลายเรื่อง ทว่ามีปัญหาติดขัดในทางปฏิบัติ ซึ่งนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะรัฐบาลยังไม่รอบรู้เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเพียงพอ แตกต่างจากรัฐบาลไทยรักไทยในอดีต

สมชัย กล่าวด้วยว่า นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมักมีปฏิทินล่วงหน้า คือพยายามสร้างความฝันให้ประชาชนต้องรอคอย และรู้สึกว่ามีอนาคต แต่ท้ายสุดทุกอย่างจะถูกเลื่อนออกไปเพราะขาดการเตรียมการ และรัฐบาลมักพูดก่อนว่าจะทำ แต่ยังไม่ทันทำ เช่น เรื่องแลนด์บริดจ์

แนะกล้าสู้ทุนพลังงาน

พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ กล่าวถึงมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ที่ลดราคาพลังงานลงได้ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่มีแนวทางระยะบาว แต่การลดราคาสินค้ายังบกพร่อง เพราะนับแต่ยุครัฐบาลประยุทธ์เข้ามา กลุ่มทุนพลังงานก็เริ่มเข้ามามีบทบาทสูงขึ้น ซึ่งเบียดบังชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

อีกทั้งรัฐบาลยังไม่เริ่มปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละรัฐบาลไม่กล้าแตะ รวมถึงรัฐบาลยังหลงทางในการดำเนินนโยบาย ทำให้ประชาชนหวังลมๆ แล้งๆ เสนอว่าแทนที่จะแจกเงินดิจิทัล น่าจะทุ่มเงินมาช่วยลดค่าประกันสังคมลง

สำหรับราคาไฟฟ้า รัฐบาลทุกยุคได้ทำความผิดรัฐธรรมนูญ เพราะในปี 2551 ได้มีมติคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ให้โรงงานปิโตรเคมีใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้ก่อนประชาชน จนเหลือไม่เพียงพอและต้องนำเข้า เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับค่าพลังงานแพง แต่ไม่มีรัฐบาลใดกล้ายกเลิก สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มทุนพลังงาน เช่นเดียวกับพลังงานทางเลือก เช่น รัฐบาลยังไม่เคยออกกองทุนพลังงานโซลาร์เซลล์ หรืออาจเกรงว่าการซื้อขายและนำเข้าก๊าซธรรมชาติจะลดลงหรือไม่

ฝาก 10 การบ้านด้านนโยบาย

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึง 10 ประเด็นที่ส่งมอบเป็นการบ้านให้รัฐบาลเศรษฐา ประกอบด้วย

1.ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ตามที่รับปากกับประชาชน แม้ว่าจะลดค่าครองชีพ แต่ปัญหาทางโครงสร้างยังไม่ถูกแก้ไข และรัฐบาลถูกครหาว่าอยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มทุนผูกขาดและกลุ่มการเมืองเก่า

2.นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ได้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ มีแนวโน้มไม่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา นโยบายนี้เป็นเพียงแนวคิดประชานิยมที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจชั่วคราวแต่ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนคืนกลับไปยังกลุ่มทุนและเจ้าสัวที่ผูกขาด อาจไม่เกิดเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบตามที่คาดหวัง

3.รัฐบาลยังไม่แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทางโครงสร้างภายในประเทศ เพื่อรองรับความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศ รัฐบาลควรออกกฎหมายควบคุมการสะสมความมั่งคั่งที่กระจุกตัว แก้ปัญหาการผูกขาดตลาด 

4.การแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน มติ ครม. ที่ลดค่าไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับหนี้จนเสี่ยงต่อการล้มละลาย หรือนี่เป็นนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแอบแฝงของรัฐบาล โดยปล่อยให้ล้มละลายเพื่อให้เอกชนเข้าหาผลประโยชน์แทนเหมือนกับการบริหารจัดการการบินไทยในอดีตที่มีการคอร์รัปชั่นภายในมโหฬาร

5.การแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรและแรงงาน มีนโยบายเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ได้ แต่นโยบายนี้อาจจะทำให้โฉนดที่ดินของเกษตรกรเปลี่ยนไปอยู่ในมือนายทุนมากขึ้นหากไม่มีมีนโยบายรองรับและป้องกัน

6.รัฐบาลใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน แต่ยังไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนให้มาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นได้ เนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในการใช้อำนาจ ภาพลักษณ์ตำรวจไทย

7.ในด้านการเมือง รัฐบาลยังไม่ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง รวมถึงการยกเลิกคำสั่ง คสช. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างปกติ เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน แต่ต้องใช้เวลาทั้งอายุรัฐบาล

8.รัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินการนิรโทษกรรมคดีการเมืองของประชาชนจากผลพวงการชุมนุมทางการเมืองในอดีตเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ 

9.รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายทางการศึกษาน้อยมาก นอกจากเน้นการนำเสนอพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า แต่ไม่มีนโยบายด้าน Civic Education แก่พลเมือง

10.ในด้านการต่างประเทศ ยังไม่เป็นเอกภาพและไม่สามารถบูรณาการอย่างเป็นระบบได้ โดยเฉพาะกรณีคนไทยถูกจับเป็นตัวประกันที่เมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ไม่มีแม้กระทั่งการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคงแต่อย่างใด