ไม่พบผลการค้นหา
วันนี้ (28 มิ.ย.) เมื่อ 50 ปีก่อน เกิดเหตุจลาจลสโตนวอลล์ที่จุดประกายให้กลุ่มหลากหลายทางเพศทั่วโลกลุกยืนสู้กับการกดขี่ทางเพศ และแสดงตัวตนออกมาอย่างภาคภูมิใจว่า คนหลากหลายทางเพศก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนอื่น แต่การต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ ไม่ใช่การต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เป็นการสู้ร่วมกันกับการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอื่นๆ ด้วย ในโอกาสนี้ เราจึงควรหันกลับมามองว่า LGBTQ ไทยอยู่ตรงไหนของสังคม

“ไม่เป็นแบบเรา ไม่มีวันเข้าใจหรอก”

นี่คือคำตอบของ LGBTQ หลายคนที่เคยสัมภาษณ์หรือพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่ LGBTQ ไทยเจอ หลายครั้งประโยคนี้ถูกใช้ดูแคลนความรู้ความสามารถของผู้สื่อข่าวผู้หญิงเนิร์ดๆ คนหนึ่ง ที่พยายามเปิดพื้นที่ให้ LGBTQ ได้ทำความเข้าใจกับสังคม ให้คนอื่นมีโอกาสได้เข้าใจ LGBTQ ประโยคนั้นจึงเป็นการปฏิเสธที่จะสื่อสารกับสังคม เพียงเพราะได้ตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกไปแล้วว่า ผู้หญิงหน้าเนิร์ดตรงหน้าที่น่าจะได้รับ “สิทธิพิเศษ” ของการดูเหมือนผู้หญิงตรงเพศ (straight woman) คงไม่มีทางเข้าใจคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

บางครั้งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมใครสักคนจะต้องแสดงตัวก่อนว่า ตัวเองเป็น LGBTQ หรือไม่ และอยู่ในประเภทไหน ถึงจะพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ ทั้งที่ก็มีคนที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQ ที่ไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ(ของคนอื่น) และก็มีคนรักเพศตรงข้าม (straight) ที่เข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากกว่า LGBTQ การมองปราดเดียวไม่ทำให้เรารู้ได้ว่า ใครเป็นเพศไหน มีประสบการณ์เกี่ยวกับเพศอย่างไรบ้าง เรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพมามากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญ กลุ่ม LGBTQ ก็ไม่ควรผูกขาดบทสทนาเกี่ยวกับ LGBTQ ไม่เปิดให้คนอื่นพูดคุยเรื่องนี้

ก่อนที่จะกล่าวหากันว่า เราสนับสนุน straight washing หรือให้คนรักเพศตรงข้ามไฮแจ็กบทสนทนาของ LGBTQ อยากจะเล่าถึงขบวนการต่อสู้เรื่อง LGBTQ นับตั้งแต่จลาจลสโตนวอลล์ เพื่อจะได้มองเห็นภาพเดียวกันว่า LGBTQ ไม่ควรจะแยกตัวเองออกจากคนอื่น การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอื่นๆ เคลื่อนไหวแค่เรื่องของตัวเอง แล้วกันคนอื่นๆ ออกจากประเด็นของตัวเองด้วย


50 ปีจลาจลสโตนวอลล์

Stonewall สโตนวอลล์ LGBTQ

ในยามที่ความหลากหลายทางเพศและการแต่งตัวข้ามเพศยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เวลากลางคืนจึงเป็นเวลาของ LGBTQ ในการพบปะสังสรรค์กันและกลางดึกวันที่ 27 มิ.ย. 1969 เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งหลายในนครนิวยอร์กไปพบปะกันที่บาร์ย่านกรีนิชวิลเลจกันตามปกติ และตำรวจก็พยายามเข้าไปจับกุมและคุกคามกลุ่ม LGBTQ เหมือนคืนก่อนๆ

แต่เมื่อล่วงเข้าวันที่ 28 มิ.ย. แล้ว เหตุการณ์กลับแตกต่างออกไปจากคืนอื่นๆ เพราะกลุ่ม LGBTQ เลือกที่จะร่วมกันต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากการมีปากเสียงฉุดกระชากกันระหว่างตำรวจกับเกย์ เลสเบี้ยน แดรกควีนไม่กี่คนหน้าบาร์สโตนวอลล์อินน์ มวลชนก็มีจำนวนมากขึ้นเป็นร้อยคน ตำรวจก็เรียกกำลังเสริมมาประจัญหน้ากัน เปลี่ยนจากการการจลาจลไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ทั่วสหรัฐฯ และยังเป็นแรงบันดาลใจไปให้กับประเทศอื่นๆ

จลาจลสโตนวอลล์จึงไม่ได้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศทั่วโลก และ 50 ปีหลังจากคืนที่เกิดจลาจลสโตนวอลล์ เราก็ได้เห็นความก้าวหน้าด้านสิทธิ LGBTQ หลายอย่างเกิดขึ้นทั่วโลก การยอมรับความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศก็ดีขึ้นมาก แม้จะยังต้องต่อสู้กันอีกมาก กว่าจะไปถึงจุดที่เรียกว่ามีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง

 

สังคมที่เปิดกว้างก็ยังไม่พอ ถ้ากฎหมายยังไม่เปิดตาม

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเด็น LGBTQ ในสังคมไทย จลาจลสโตนวอลล์ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก และอาจไม่มีอิทธิพลกับการต่อสู้ด้านสิทธิ LGBTQ ในไทยเลยด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันที่มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อมีการยกร่างประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1953) ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มหลากหลายทางเพศในไทยไม่ต้องไปประท้วงในรัฐบาลยกเลิกกฎหมายนั้นเลยด้วยซ้ำ แถมยังยกเลิกก่อนสหรัฐฯ เสียอีก

มาวันนี้ เรามักได้ยินคนบอกว่า “อู๊ยยยย ประเทศไทยเนี่ยเปิดกว้างกว่าหลายประเทศมาก ได้เท่านี้ก็ดีเท่าไหร่แล้ว จะยังเรียกร้องอะไรกันนักหนา” มันก็จริงนะที่ไทยเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากกว่าหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย เมียนมา ซาอุดีอาระเบีย ไนจีเรีย เป็นต้น แต่ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่ายอมรับด้วยความเข้าใจ สิทธิหลายอย่างก็ยังไม่ใกล้เคียงกับคนรักเพศตรงข้าม

แน่นอนว่าการยอมรับของสังคมเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่การมีกฎหมายที่คุ้มครองปกป้องสิทธิ มีกฎหมายที่มองเห็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีศักดิ์ศรีเท่ากับคนอื่นนั้นเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะกฎหมายก็เป็นสิ่งที่กำหนดแนวปฏิบัติและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงคนในสังคมด้วย 

ความสำคัญของกฎหมายอยู่ตรงที่ การเลือกปฏิบัติด้วยอคติทางเพศในระดับปัจเจกหรือองค์กรจะได้รับการแก้ไข ลงโทษ หรือเยียวยาด้วยระบบยุติธรรมของรัฐ แต่การไม่มีกฎหมายคุ้มครองหรือมีกฎหมายที่มองไม่เห็นว่าคนหลากหลายทางเพศมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนอื่น ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยที่มีรัฐเป็นผู้สนับสนุน (State sponsored-discrimination) จลาจลสโตนวอลล์เกิดขึ้นก็เพราะ LGBTQ รู้สึกทนไม่ได้กับการถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐคุกคามอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็โดนค้นตัว เดี๋ยวก็โดนดักจับนอกบาร์ เดี๋ยวบาร์ก็ถูกบุกจับด้วยข้อหาขายเหล้าเถื่อนบ้าง 

อีกตัวอย่างเหตุสลดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยหนึ่งในเมียนมาตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงานเพราะเป็นเกย์ ถามว่าเขาจะไปแจ้งตำรวจหรือฟ้องร้องกับศาลว่าถูกกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติได้อย่างไร ในเมื่อกฎหมายเมียนมายังบอกว่าการรักเพศเดียวกันเป็นความผิดอาญา แม้จะไม่การลงโทษคนด้วยกฎหมายนี้นานแล้วก็ตาม

จ่อซินวิน เกย์ เมียนมา lgbtq

(เกย์เมียนมาฆ่าตัวตาย หลังถูกเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้ง)

การที่ไทยไม่มีกฎหมายกำหนดว่าการเป็นคนหลากหลายทางเพศเป็นความผิดอาญา ก็ไม่ได้หมายความไทยเปิดกว้างแล้ว มีความเท่าเทียมทางเพศกันแล้ว เพราะไทยก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิ LGBTQ หลายอย่าง จะอ้างว่า สังคมไทยก็ยอมรับให้กลุ่ม LGBTQ มีตัวตนในสังคมแล้วไง แต่เธอจะมาเรียกร้องให้ตัวเองแต่งงานเหมือนกับคนอื่นไม่ได้ จะมารับบุตรบุญธรรมร่วมกันไม่ได้ เธอจะมาแต่งตัวข้ามเพศตอนเป็นผู้พิพากษา เป็นครู เป็นแพทย์ไม่ได้นะ แม้เธอจะเป็น ส.ส.ข้ามเพศในรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน เธอจะมาแต่งตัวข้ามเพศได้ยังไง ไม่สุภาพ แม้เธอจะสวยแค่ไหน เวลาขานชื่อเธอ คำนำหน้าก็คือ “นาย” ทั้งหมดนี้มันก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สังคมไทยไม่ได้เปิดเรื่องนี้กันจริงๆ ยังมีกระบวนการที่ทำให้ LGBTQ ในไทยรู้สึกอับอายอยู่หลายครั้ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะไม่หมดไป ถ้าไม่มีกฎหมายอะไรออกมารับรองสิทธิ


การเมืองไทยทำให้ LGBTQ ไม่ก้าวหน้า

การเคลื่อนไหวด้าน LGBTQ ของไทยค่อนข้างแตกต่างออกไปจากสหรัฐฯ และหลายประเทศ อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า เรายังไม่ทันได้เรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกกฎหมายแบนเกย์เลย รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามก็ยกเลิกไปก่อนแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ ในไทยจึงไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นอะไรนัก

อันที่จริงแล้ว การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมทั้งหมดของไทยไม่ได้เข้มแข็งและเข้มข้นอะไรเลย เพิ่งจะมาเห็นบทบาทของภาคประชาสังคมมากขึ้นอย่างจริงจังก็ช่วงหลังพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 และมีความเป็นสถาบันมากขึ้นหลังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี่เอง ในช่วงนี้เองที่กลุ่ม LGBTQ รวมกลุ่มกันได้มากขึ้น การรณรงค์ต่างๆ ก็เริ่มเสียงดังขึ้น มีคนสนใจมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องสุขภาวะทางเพศ เชื้อเอชไอวี การเรียกร้องให้ทหารปฏิบัติกับคนข้ามเพศระหว่างการเกณฑ์ทหารให้ดีขึ้น แล้วการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ก็ทำให้การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมแตกแยกกันไป จนบัดนี้ความร้าวฉานนั้นก็ยังเยียวยาไม่เสร็จ

มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยมาได้ 87 ปี ก่อนเกิดสโตนวอลล์ตั้ง 37 ปี แต่จนถึงวันนี้เรายังมานั่งเถียงกันอยู่เลยว่า การมีประชาธิปไตยเต็มใบดีกว่าเผด็จการอย่างไร ภายในเวลาไม่ถึง 100 ปีมีการรัฐประหาร 13 ครั้ง แทนที่คนไทยจะได้เดินหน้าพูดถึงเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตพลเมือง ได้เรียกร้องสิทธิคนกลุ่มน้อย สิทธิผู้ลี้ภัย สิทธิ LGBTQ เรายังต้องมาเถียงกัน ยังต้องสู้เพื่อประชาธิปไตยตลอด 87 ปีที่ผ่านมา หลายคนจึงรู้สึกว่า “เอาสิทธิของคนส่วนใหญ่ในประเทศให้รอดซะก่อน แล้วค่อยไปคิดเรื่อง LGBTQ”

LGBTQ

แน่นอนว่า เราไม่อาจรอให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบแล้วจึงค่อยเรียกร้องสิทธิ LGBTQ และอื่นๆ เพราะมันอาจไม่มีวันนั้น การขับเคลื่อนเรื่องนี้จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะมีรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย เพราะชีวิตคนเรามันรอไม่ได้ แต่ที่น่าผิดหวังก็คือ นักเคลื่อนไหวด้านสังคม รวมถึงเรื่อง LGBTQ จำนวนหนึ่งเห็นว่า เมื่อไทยมีรัฐบาลเผด็จการนานกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ออกกฎหมายอะไรก็ผ่านง่ายผ่านไว ก็เลยอิงแอบอยู่กับฝ่ายอำนาจนิยม 

เมื่อมีการรัฐประหารก็ออกไปมอบดอกไม้ให้ทหาร ยินดีกับการระบุเรื่องการมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศและคณะกรรมการวินิจฉัยความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ อีกทั้งพยายามผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตให้ผ่านให้ได้ก่อนจะมีการเลือกตั้งแม้จะมีการตัดลดสิทธิที่จำเป็นจำนวนมากออกไป แล้วพยายามแก้ตัวว่า เรื่อง LGBTQ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวด้าน LGBTQ จำนวนหนึ่งเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง ทั้งที่เรื่องนี้ LGBTQ เป็นเรื่องการเมืองมาตั้งแต่สโตนวอลล์แล้ว

แน่นอนว่ามีกลุ่ม LGBTQ อีกฟากที่ไม่เห็นด้วย แต่ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ก็ยังไม่เข้มแข็งมากนัก เพราะการเคลื่อนไหวก็ยังคงแยกแตกออกจากเรื่องสิทธิด้านอื่นๆ ในสังคมเช่นกัน

AP-LGBT-สีรุ้ง-หลากหลายทางเพศ-เกย์-เลสเบียน-คนข้ามเพศ


LGBTQ ต้องมีพันธมิตร

50 ปีหลังจากที่ LGBTQ ในนิวยอร์กตะโกนบอกโลกว่า “มุตตาจะไม่เป็นเหยื่อของพวกแกอีกต่อไป” LGBTQ มีตัวตน มีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น และเราต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนอื่น เราจะพบว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิ LGBTQ จะสำเร็จได้มันมีวิธีการและขั้นตอนที่หลากหลายมากขึ้นกว่าการประจัญหน้ากับตำรวจ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการยอมรับจากประชาชนจำนวนหนึ่ง องค์กรจำนวนหนึ่ง นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง กลุ่มทุนจำนวนหนึ่ง และการจะทำแบบนั้นก็ต้องทำผ่านการให้ความรู้ การล็อบบี้ และการสร้างพันธมิตร (Allies) ในการเคลื่อนไหว

หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวด้าน LGBTQ ของสหรัฐฯเราจะพบว่า LGBTQ อเมริกันมองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันโดยรวม พยายามเข้าไปสร้างพันธมิตรในการต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ พวกเขาจะเข้าร่วมสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สนับสนุนเสรีประชาธิปไตย เขาจะเข้าร่วมการประท้วงในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศโดยตรง ถึงเวลาที่ LGBTQ เรียกร้องสิทธิของตัวเอง องค์กรที่เคลื่อนไหวด้านอื่นๆ ก็มาออกมาร่วมสนับสนุนด้วยเช่น

กลุ่ม LGBTQ จำนวนมากในสหรัฐฯ แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน เพราะมีนโยบายกีดกันกลุ่มหลากหลายทางเพศ กีดกันสิทธิสตรีในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย LGBTQ หลายคนออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านความรุนแรงทางเพศร่วมกับ #MeToo หรือล่าสุด ถ้าใครเข้าไปดูเอ็มวี God Control ของมาดอนนา ผู้เป็น “ขุ่นแม่” ของ LGBTQ จำนวนมาก ก็จะพบว่า มาดอนนาได้ชวนให้คนที่ต้องการเรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวดขึ้น ให้เข้าไปสนับสนุนองค์กรที่เขียนไว้ข้างใต้วิดีโอด้วย หนึ่งในนั้นคือ Gays Against Gun เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ ช่วงปี 1984 ที่สหภาพแรงงานชุดเหมืองแร่ของอังกฤษหยุดงานประท้วงกรณีที่มากาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้นประกาศจะปิดเหมือง นักเคลื่อนไหวด้าน LGBTQ จึงตัดสินใจจะช่วยระดมทุนสนับสนุนครอบครัวของแรงงานเหมืองแร่ แม้สหภาพจะรู้สึกอับอายจะที่รับเงินจำนวนนั้นก็ตาม นักเคลื่อนไหวกลุ่มนั้นก็ตัดสินใจนำเงินนั้นไปช่วยแรงงานโดยตรงเลย ลองไปหาภาพยนตร์เรื่อง Pride มาดูก็ได้ เราก็จะเห็นว่า แม้สหภาพจะไม่อยากรับเงิน แต่สุดท้าย การตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวด้านสังคมการเมืองอื่นๆ ก็ทำให้ LGBTQ มีพันธมิตรเพิ่มขึ้น

การปฏิวัติร่มของฮ่องกงในปี 2014 ก็ถือเป็นช่วงที่ทำให้สังคมฮ่องกงเริ่มยอมรับ LGBTQ มากขึ้นด้วย องค์กรเคลื่อนไหวด้าน LGBTQ ในฮ่องกงก็อยู่ในเครือข่ายการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไปร่วมการปฏิวัติร่มเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงจนมาถึงการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในจีนแผ่นดินใหญ่คราวนี้ด้วย นักร้องที่เปิดเผยตัวว่าเป็นคนหลากหลายทางเพศก็ออกมาร่วมชุมนุมเคียงข้างประชาชน คนฮ่องกงมองเห็นว่ากลุ่ม LGBTQ ในฮ่องกงยืนอยู่ตรงไหนของสังคมฮ่องกง มองเห็นจุดหมายปลายทางร่วมกัน นั่นก็ทำให้หลายคนหันมาเปิดใจฟังกลุ่ม LGBTQ มากขึ้นเหมือนกันว่ามีจุดยืนเรื่องต่างๆ อย่างไร และไปกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมอื่นๆ อย่างไรบ้าง

บางครั้ง การจะได้รับความสนใจจากคนอื่น เราก็ต้องเข้าไปสนใจใส่ใจเรื่องของคนอื่นให้มากขึ้น เมื่อกาารคลื่อนไหว LGBTQ มองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางการเมืองในภาพรวม และเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนที่เคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ ก็มีแนวโน้มจะได้พันธมิตร (allies) กลับมาด้วย การเคลื่อนไหวของ LGBTQ ก็จะไม่เป็นการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวของคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) จำนวนหยิบมืออีกต่อไป เป็นการต่อสู้ของกลุ่มหลากหลายทางเพศและพัมธมิตร (LGBTQ + A) ที่มีจำนวนมากขึ้น มีน้ำหนักมากขึ้น เสียงดังขึ้น