ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดบันทึกการต่อสู้คดี 112 ของอานนท์ นำภา ครั้งแรกที่จะถูกพิพากษาในวันที่ 26 ก.ย. เหตุปราศรัยถึง ร.10 เมื่อ 14 ต.ค. 2563 เจ้าตัวเผย รู้ตัวว่าติดคุกแน่ แต่ไม่เคยเห็นใจที่ได้ชุมนุม และไม่ได้พาใครไปตาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 'อานนท์ นำภา' ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม ม็อบ 14 ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 

คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ซี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ในวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในเหตุวันชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่คดีของพริษฐ์ ปนัสยา และแกนนำ รวม 8 คน ถูกแยกฟ้องไปอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงดุสิต เนื่องจากมีข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขัดขวางจราจร ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสืบพยานในช่วงปลายปี 2566 นี้

คดีนี้อานนท์ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สั่งฟ้องตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2564 ขณะที่อยู่ในระหว่างคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยอัยการบรรยายฟ้อง มีใจความสำคัญระบุว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 อานนท์ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนผ่านทางเฟซบุ๊กของตนเอง ให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านแมคโดนัลด์ โดยในการจัดการชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และเมื่อมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล อานนท์กับพวกก็ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลการชุมนุมในพื้นที่นั้น ๆ 

ทั้งมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมและฟังปราศรัยเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 คน โดยยืนกันอยู่เต็มถนนราชดำเนิน ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้รถยนต์สัญจรผ่านไปมาได้ อีกทั้งเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าแจ้งกับจำเลยและพวกให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย และไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด จำเลยพวกได้รับทราบคำสั่งแล้ว แต่ไม่ยุติการชุมนุม 

อัยการยังบรรยายฟ้องว่า อานนท์และพวกได้ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ นำกระถางต้นไม้ที่วางประดับโดยรอบฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทำให้เกิดความเสียหายของกิ่งไม้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 รายการ รวมเป็นมูลค่า 273,700 บาท 

ขณะที่อานนท์ยืนยันว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดก็เพื่ออยากเห็นสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในประเทศนี้ การพูดออกไปเช่นนั้นมีเพียงเจตนาเดียวคือต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของแกนนำม็อบที่จะทำได้ 

อานนท์ย้ำด้วยว่า การออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ก็คุ้มค่าแล้วในการที่จะไม่พาใครไปตาย ในฐานะแกนนำ 

อ่านฉบับเต็มที่ : https://tlhr2014.com/archives/59835?fbclid=IwAR2b6Y5DWanmV3KCEw2REOsnOK5o8UO4oCyxXRny6CT15ProFEBRHNr9Yp8