ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตามที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
โดย นพ.ระวี อภิปรายว่า กรณีที่คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. มีมติต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็มอีก 30 ปี ใน 3 โครงการ เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท 137,000 ล้านบาท โดยมีข้อเสนอให้รัฐดำเนินการเอง หรือประมูลสัญญาสัมปทานใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐและประชาชนนั้น เพราะหากการทางพิเศษต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีอีเอ็มอีก 30 ปี การทางพิเศษฯจะมีรายได้อยู่ที่ 326,856 ล้านบาท แม้จะแลกกับการไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย 137,089 ล้านบาท แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจมีการแก้สัญญาหรือจ่ายค่าเสียหายในอนาคต
“แต่หากไม่ต่อสัญญากับบีอีเอ็มแล้วให้การทางพิเศษฯบริหารจัดการเองก็จะมีรายได้ถึง 651,612 ล้านบาท ซึ่งหักจากการจ่ายค่าเสียหายแล้ว และไม่มีความเสี่ยงต้องจ่ายค่าเสียหายอีกในอนาคต อีกทั้งการบริหารจัดการพื้นที่จะเป็นของการทางพิเศษฯทั้งหมด ดังนั้น หากไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับบีอีเอ็มจะเป็นการลดภาระให้กับประชาชนได้ เพราะหากต่อสัญญากับบีอีเอ็มค่าทางด่วนจะขึ้น 10 บาททุก 10 ปี แต่หากการทางพิเศษฯบริหารจัดการเองก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าทางด่วน และไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วนระหว่างทางซ้ำ สามารถเก็บค่าทางด่วน 30 บาท รวดเดียวทั้งเส้นทางได้ นี่จึงทำให้ผมเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากรณีนี้ เพราะสัญญานี้มีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท จึงควรเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมโดยการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาข้อมูลจากทุกฝ่ายให้รอบคอบ เพราะมิเช่นนั้น รัฐบาลจะรับเผือกร้อนด้วยตนเอง หากมีข้อมูลชัดเจนแบบนี้ แล้วรัฐบาลยังจะต่อสัญญาสัมปทานให้บีอีเอ็มอีก 30 ปี ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน ก็จะนำเรื่องนี้ไปยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอนเพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชนให้พอดีกัน” นพ.ระวี กล่าว
เพื่อไทย ชี้ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวบีทีเอส ส่อไม่โปร่งใส
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กรณีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อเจรจาขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสออกไปอีก 40 ปี ทั้งๆที่ยังเหลือเวลาสัมปทานเดิมในช่วงสายหลักหมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน อีก 10 ปี และเหลือสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า อีกถึง 23 ปีนั้น ถือว่า ส่อความไม่โปร่งใสอย่างยิ่งและไม่เปิดผู้ให้บริการรายอื่นเข้ามาแข่งขัน เพราะเส้นทางการเดินรถที่บีทีเอสได้รับสัมปทานอยู่นั้น คือหัวใจของคน กทม. ผ่านใจกลางธุรกิจ และผู้อยู่อาศัยของชาวกทม.อย่างหนาแน่น การจะพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานยาวนานถึง 40 ปี แต่ความเดือดร้อนของพี่น้องกทม.จากการให้บริการของบีทีเอสมีอยู่มาก ทั้งความเดือนร้อนจากแออัดของขบวนรถในช่วงเร่งด่วน และค่าโดยสารที่แพงมากถึงขนาดติดอันดับโลก จึงอยากให้สภาตั้ง กมธ.ขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะมีการต่อสัญญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้านต่างอภิปรายสนับสนุนญัตติเพื่อให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาศึกษากรณีดังกล่าว อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การให้บริการด้านการคมนาคม เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ก็เป็นเรื่องธุรกิจด้วย เพราะมีการลงทุนมหาศาล ซึ่งในต่างประเทศเมื่อเก็บเงินจนคุ้มทุนแล้วก็เปิดให้บริการใช้ฟรีโดยไม่คิดค่าบริการ แต่กรณีของประเทศไทย มีการให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ลงทุน และกรณีนี้ก็มีการเก็บเงินจนคุ้มทุนแล้ว รัฐก็ไม่ควรต้องต่อสัมปทานให้เอกชนอีก ดังนั้น กรณีที่รัฐจะต่อสัญญาให้เอกชนต่อไปอีก 30 ปี โดยมีเงื่อนไขจากสัญญาครั้งที่แล้วว่า ถ้าไม่ต่อสัญญาให้รัฐจะต้องจ่ายค่าโง่จากการผิดสัญญาเป็นจำนวน137,000 ล้านบาท ถามว่า ถูกต้องหรือไม่ เพราะเรื่องค่าโง่มักจะมาพร้อมกับการทำสัญญาที่ส่อไปในทางทุจริตตั้งแต่แรก จึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวก่อนที่รัฐจะดำเนินการ ด้าน นพ.ระวี ในฐานะเจ้าของญัตติจะลุกขึ้นขอบคุณที่ที่ประชุมที่ร่วมกันรักษาผลประโยชน์ประชาชน
โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 39 คน เพื่อศึกษาต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง