ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอินเดียตัดสินให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจสอบว่ามัสยิดโบราณที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทางตอนเหนือของประเทศ ว่าสร้างทับวัดฮินดูหรือไม่ หลังจากกลุ่มชาวฮินดูฝ่ายขวาจัดกล่าวหาว่า มัสยิดกยานวาปีในเมืองพาราณสี สร้างขึ้นบนยอดวิหารฮินดูในช่วงสมัยการปกครองของราชวงศ์โมกุล

มัสยิดกยานวาปีในเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นเขตที่ นเรทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นตัวแทนในรัฐสภา เป็นหนึ่งในมัสยิดหลายแห่งในรัฐอุตตรประเทศ ที่กลุ่มฮินดูฝ่ายขวาจัดอ้างว่าสร้างขึ้นบนยอดวัดฮินดู ที่ถูกทำลายลงในช่วงที่การปกครองของราชวงศ์โมกุลที่รุ่งเรือง ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 18

ข้อพิพาทเกี่ยวกับมัสยิด ซึ่งอยู่ติดกับวัดกาสีวิศวะนาต อันเป็นศาสนสถานของชุมชนชาวฮินดู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ 80% ของอินเดีย ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อินเดียมีประชากรชาวมุสลิมคิดเป็นเกือบ 14% ของจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคน

เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ส.ค.) วิษณุ ศังกร เชน ทนายความที่เป็นตัวแทนของชาวฮินดูฝ่ายขวาจัดผู้ยื่นคำร้องกล่าวว่า ศาลสูงอัลลาฮาบัดในรัฐอุตตรประเทศ อนุญาตให้สำนักงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียดำเนินการสำรวจโครงสร้าง โดยไม่สร้างความเสียหายใดๆ แก่ตัวอาคารมัสยิด “การสำรวจทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม” Live Law เว็บข่าวออนไลน์สำหรับข่าวกฎหมายของอินเดีย รายงานอ้างคำพูดของ ปริทินเกอร์ ทิวาการ์ หัวหน้าผู้พิพากษา 

ทั้งนี้ ชาวมุสลิมผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการสำรวจกล่าวว่า การสำรวจดังกล่าวจะทำให้โครงสร้างมัสยิดเสียหาย โดย คาลิด ราชิด ชาวมุสลิมผู้ยื่นคำร้องคัดค้านกล่าวว่า คณะกรรมการมัสยิดมีตัวเลือกในการอุทธรณ์คำตัดสินของศาลสูงสุดของอินเดียเมื่อวันพฤหัสบดี “เราหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม เนื่องจากมัสยิดมีอายุ 600 ปี และชาวมุสลิมละหมาดที่นั่นมานาน” ราชีดกล่าวกับผู้สื่อข่าว

การสำรวจทางโบราณคดีของหน่วยงานของทางการอินเดีย เริ่มทำการสำรวจมัสยิดเมื่อเดือนที่แล้ว แต่โครงการถูกระงับโดยศาลสูงสุดเพื่อให้เวลาในการอุทธรณ์ โดยก่อนหน้านี้ มีหญิงชาวฮินดู 5 คน ยื่นคำขออนุญาตจากศาลเพื่อประกอบพิธีกรรมของชาวฮินดูในพื้นที่ส่วนหนึ่งของมัสยิด โดยพวกเธออ้างว่าครั้งหนึ่งในอดีต เคยมีวัดฮินดูตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

เกิดการโต้เถียงกันเรื่องโครงสร้างวัตถุบางอย่าง ที่ถูกอ้างว่าเป็นศิวลึงค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพพระศิวะในศาสนาฮินดู โดยชาวมุสลิมกล่าวว่าโครงสร้างดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของน้ำพุในวูซูคานา อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่บรรดาผู้ศรัทธาชาวมุสลิมใช้ ในการทำพิธีชำระล้างก่อนที่จะทำการละหมาด

อันจูมาน อินเทซีเมีย คณะกรรมการมัสยิด ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมที่บริหารมัสยิดกยานวาปี โต้แย้งว่าการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ต่อโครงสร้างมัสยิด ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอินเดียปี 2534 ที่คุ้มครองศาสนสถาน โดยตัวกฎหมายระบุว่าลักษณะของศาสนสถานทั้งหมด ยกเว้นมัสยิดรามจันทร์มาภูมิ-บาบรีในอโยธยา จะต้องคงไว้ตามเดิม นับตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2490 และการดัดแปลงสถานที่ดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

มัสยิดบาบรีมัสจิด ซึ่งสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในเมืองอโยธยา เมืองแห่งวัดฮินดูในรัฐอุตตรประเทศ ถูกทำลายลงในปี 2535 โดยฝีมือของกลุ่มผู้เคร่งศาสนาฮินดูขวาดจัดสุดโต่ง ซึ่งอ้างว่ามัสยิดดังกล่าวตั้งอยู่บนจุดประสูติของพระราม ทั้งนี้ การรื้อถอนมัสยิดดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการจลาจลทางศาสนาครั้งใหญ่ทั่วอินเดีย และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 2,000 คน

ในปี 2562 ศาลสูงสุดอินเดียตัดสินเป็นคุณแก่วัดฮินดู ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ขัดแย้งทางศาสนา และสั่งให้มีการมอบที่ดินทดแทนให้กับชาวมุสลิมเพื่อสร้างมัสยิดใหม่ ทั้งนี้ กลุ่มชาตินิยมชาวฮินดูเรียกร้องให้มีการสร้างวัดใหม่ในพื้นที่อโยธยาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มชาวฮินดูภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลฝ่ายขวาของโมดี กำลังสร้างวัดฮินดูในพื้นที่ขัดแย้งกับชาวมุสลิมในขณะนี้ นอกจากนี้ ในปี 2563 โมดียังได้วางศิลาฤกษ์ของวัดฮินดูด้วยตัวเอง ซึ่งน่าจะเปิดตัวขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.ปีหน้า


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/8/3/india-court-allows-survey-of-historic-mosque-to-see-if-it-stands-on-temple?fbclid=IwAR1dgSYhnbOnjru3KxmmaqOOqrU5XgD78DuJRjiB41rIssg-YiNr04DOObI