ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.กลุ่ม LGBT พรรคอนาคตใหม่ นำโดย 'ณธีภัสร์-ธัญญ์วาริน' วอนพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ ร่วมโหวตเห็นชอบตั้ง กมธ. ด้าน กมธ.ร่างข้อบังคับฯ แจงเห็นด้วยในหลักการ แต่เป็นไปได้ยาก เหตุ'บุคลากร-งบประมาณ'ไม่เพียงพอ ยันอยู่รวม กมธ. เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุฯ ครอบคลุมแล้ว แนะแยกตั้งอนุ กมธ.

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กลุ่ม LGBT แถลงถึง การผลักดันการตั้งให้ที่ประชุมสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร ด้านความหลากหลายทางเพศ โดยระบุว่า ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่เคยเสนอนโยบายความหลากหลายทางเพศร่วมลงมติเห็นชอบตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าวก่อนมีการโหวตลงมติวันที่ 21 ส.ค.นี้ ในการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 90 ซึ่งอนาคตใหม่มีความจริงใจที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะปัญหาเรื่องความกลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับการแก้ไข

ที่ผ่านมามีปัญหาที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังพบกับการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน ไม่ได้รับความเท่าเทียมด้านการแต่งงาน การตั้ง กมธ.ชุดนี้ อาจจะเป็นการเพิ่มงบประมาณแผ่นดิน แต่ปัจจุบันมีคนที่มีความหลากหลายทางเพศกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศ หากคิดเป็นค่าใช้จ่ายก็ตกคนละ 2 บาทเท่านั้น ตนคิดว่าสภาต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก 

ทั้งนี้ การพิจารณาข้อร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 90 เกี่ยวกับ กมธ.วิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ข้อยุติ โดย กมธ.วิสามัญยกร่างข้อบังคบฯ ได้กำหนดให้ กมธ.สามัญมีทั้งหมด 35 คณะ ซึ่งส.ส.อนาคตใหม่ กลุ่ม LGBT นำโดย 'ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 'ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้แปรญัตติขอให้มี กมธ.สามัญ 36 คณะ โดยให้เพิ่ม กมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศขึ้นมาอีกหนึ่งคณะ โดยแยกออกมาจาก กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ

แม้ ส.ส.แต่ละพรรคจะเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังติดข้อจำกัดหลายด้าน ตามที่ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.วิสามัญยกร่างข้อบังคับ ชี้แจงว่า หากจะเพิ่ม กมธ.ขึ้นอีก 1 คณะ ก็ต้องไปยุบหรือควบรวม กมธ.ชุดอื่น ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะมีการยุบหรือเพิ่มเติมกันมาเยอะแล้ว ซึ่งข้อจำกัดหลักมีอยู่ 2 ข้อคือ 1..ปัจจัยสนับสนุน คือ งบประมาณ บุคลากร ซึ่ง กมธ.ทั้ง 35 คณะถือว่า ใช้ทรัพยากรพอสมควรแล้ว 

2. กมธ.กิจการเด็กฯ รวมถึงภารกิจครอบคลุมอำนาจหน้าที่ด้านความหลากหลายทางเพศตามที่ผู้แปรญัตติเสนอแล้ว และการพิจารณาศึกษาก็สามารถแยกเป็นอนุ กมธ.เป็นการเฉพาะได้ อีกทั้งหากแยกด้านความหลากหลายทางเพศออกมาก็อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มอื่นได้ จะมีคำถามว่า กลุ่มชาติพันธ์ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ทำไมไม่ตั้งมารองรับเป็นการเฉพาะเช่นกัน