ไม่พบผลการค้นหา
พระมหาไพรวัลย์ ชี้ว่า การสอนธรรมะต้องสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่แสวงหาสิทธิเสรีภาพและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้าน 'พริษฐ์ วัชรสินธุ' เสนอต้องมีระยะห่างระหว่างรัฐกับศาสนาเพื่อไม่ให้แทรกเเซงกัน พร้อมย้ำว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ใช่เสียงข้างมากเป็นใหญ่ แต่ทุกเสียงต้องเป็นใหญ่

ภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. จัดสัมมนา “มุมมองพระพุทธศาสนาสำหรับนักการเมืองรุ่นใหม่” ในหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอำนาจรัฐกับศาสนาพร้อมข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 

1.​ ศาสนาควรเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ควรเน้นพิธีกรรม และจะใช้จำนวนผู้นับถือชี้วัดความศรัทธาไม่ได้ เพราะมีหลายเหตุผลที่ทำให้คนนับถือศาสนาโดยไม่ได้เกิดจากความศรัทธาจริงๆ

2. ระยะห่างระหว่างรัฐกับศาสนจักรที่ต้องไม่แทรกแซงกัน เพราะหากพระมีอิทธิพลทางการเมือง อาจทำให้ความแตกแยกในสังคม และหากอำนาจรัฐหรือการเมืองแทรกแซงศาสนา อาจออกกฎหมายปิดกั้นหรือขัดหลักคำสอน รวมถึงใช้ศาสนาหรือพระที่มีชื่อเสียงเป็นเครื่องมือทางการเมือง

3.​ หากต้องการผลักดันสังคมสู่ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ภาครัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาและให้สิทธิเสรีภาพกับศาสนิกชนทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่ระบบเสียงข้างมากเป็นใหญ่ แต่ทุกเสียงต้องเป็นใหญ่ โดยยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งเลือกร้านอาหาร โดยมีสมาชิก 5 คน ซึ่งผู้เป็นแม่อยากทานเมนูผัก แต่พ่อกับกลูกอีก 3 คน อยากทานเนื้อ หากทั้งครอบครัวไปทานเนื้อตามหลักเสียงข้างมากก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ขณะเดียวกัน หากแม่เป็นใหญ่บังคับทุกคนไปทานผัก ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือ อาจไปร้านอาหารที่มีทั้งเมนูเนื้อและผักให้ทุกคนเลือกรับประทาน จึงเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย 

พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ จากวัดสร้อยทอง กทม. ระบุว่า ชาวพุทธไทยมักนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาด่ากัน อย่างคำว่า"บัวใต้ตม" ทั้งที่หลักการจริงๆ คือการจำแนกอุปนิสัยของคนเพื่อจะได้ใช้อุบายในการสอนให้สอดคล้องเหมาะสม ซึ่งพระมหาไพรวัลย์ ยืนยันด้วยว่า ทุกเรื่องที่พูดผ่านสื่อมวลชนที่มาขอสัมภาษณ์ เป็นประโยชน์กับพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องตัวเอง เพราะเห็นว่าตราบใดที่สื่อมวลชนยังสัมภาษณ์พระหรือให้พื้นที่กับศาสนาพุทธอยู่ ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนายังมีบทบาทกับสังคม

แต่วันไหนที่สื่อฯไม่ถามพระแล้ว ก็แปลว่าพุทธศาสนาหมดบทบาทต่อสังคมไปแล้ว สำหรับศาสนากับความเป็นสมัยใหม่ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมว่า พระชอบสอนชาวบ้านที่มาบริจาคสร้างวัด สร้างศาลาว่าคนที่จนเป็นเพราะกรรมเก่า ที่ชาติก่อนที่ไม่เคยทำบุญ หรือเป็นกระเทยเพราะกรรมเก่า ตลอดจนเรื่องอื่นๆก็โทษกรรมเก่า ซึ่งพระมหาไพรวัลย์ มองว่า ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน ผู้คนจึงไม่อยากฟังพระเทศน์ 

พระมหาไพรวัลย์ ยืนยันว่าสังคมปัจจุบันมุ่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เป็นศีลธรรมทางโลกที่ไปไกลแล้ว จึงต้องทบทวนว่าศีลธรรมทางศาสนาไปไกลแค่ไหน แต่ที่แน่ๆคือจะหยุดอยู่ที่เดิมไม่ได้ เนื่องจากโลกปัจจุบัน คนคาดหวังว่าศาสนาจะส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปัจเจกบุคคลอย่างไร พร้อมแนะนำหนังสือ"ข้ามพ้นศาสนา จริยธรรมเพื่อคนทั้งโลก" ขององค์ทะไลลามะ แห่งรัฐทิเบต ที่ความรักความเมตตาและศีลธรรม ต้องมีต่อมนุษยชาติ โดยไม่เลือกศาสนา รวมถึงต้องมีต่อผู้ที่ไม่นับถือศาสนาในโลกนี้ด้วย

ขณะที่ พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร.กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงพระสงฆ์กับการเมืองว่า พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ อย่างการช่วยนักการเมืองหาเสียง เพราะจะสร้างความแตกแยก แต่หากเป็นเรื่องบ้านเมือง พระก็ควรมีสิทธิอธิบายความในเรืรองต่างๆ โดยยกตัวอย่างการปฏิรูปสงฆ์ที่ไม่มีสัดส่วนพระในคณะกรรมการด้วย จึงเป็นคำถามว่าเรื่องนี้พระควรจะแสดงความเห็นได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องแยกการเมืองกับเรื่องบ้านเมืองให้ชัด