ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศพร้อมรับมือและกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงประเภทใหม่ หลังหน่วยงานนโยบายกำกับดูแลทางการเงิน หรือ เอฟซีเอ ของสหราชอาณาจักร ประกาศว่าอัตราดอกเบี้ย LIBOR ( London Interbank Offered Rate) จะยุติลง ณ สิ้นปี 2564
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.เผยว่า แนวทางแก้ไขล่าสุดที่คณะทำงานร่วมกันจัดการในปัจจุบันคือการปรับแผนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในประเทศ THBFIX (Thai Baht Interest Rate Fixing) ซึ่งแต่เดิมมีองค์ประกอบของ LIBOR ของสหรัฐฯ หรือ USD LIBOR เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปรับเป็นการใช้เกณฑ์ใหม่อย่าง SOFR ขึ้นมาแทน ภายใต้ชื่อว่า Fallback THBFIX ซึ่งเริ่มใช้จริงตั้งแต่ปลาย 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันสภาพความผันผวนสูงจากการอ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แบงก์ชาติจึงถือโอกาสนี้ในการพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงประเภทใหม่ภายใต้ชื่อว่า 'THOR' (Thai Overnight Repurchase Rate) ซึ่งคำนวณจากธุรกรรมระยะข้ามคืน (Overnight) ในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระหว่างธนาคาร เพื่อสะท้อนภาวะตลาดไทยอย่างแท้จริง โดยปราศจากปัจจัยรบกวนที่ไม่เกี่ยวข้องจากภายนอก
ชญาวดี ชี้ว่า ธปท.เริ่มใช้ THOR มาตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และจะผลักดันให้ขึ้นมาเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหลักให้รวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในปัจจุบัน ยังมีทั้ง BIBOR, Fallback THBFIX และ THOR เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับทั้งสถาบันการเงินและผู้ใช้บริการ
การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ผอ.อาวุโส ตลาดการเงิน ให้น้ำหนักความกังวลไปที่กลุ่มผู้ทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินโดยใช้อัตราอ้างอิง THBFIX แบบเดิม ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท จากสัญญารวมทั้งสิ้น 6.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 20 ล้านล้านบาท พร้อมแนะนำให้บริษัทรายใหญ่เหล่านี้หารือกับสถาบันการเงินเจ้าของสินเชื่อเพื่อเร่งหาทางออก
อย่างไรก็ตาม ชญาวดี ย้ำว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงดังกล่าวเป็นการใช้กันเพื่อธุรกิจอนุพันธ์ซึ่งมักเป็นที่นิยมระหว่างสถาบันการเงินหรือบริษัทจัดการหลักทรัพย์ซึ่งมีความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลหรือจะสร้างผลกระทบในวงกว้างแต่อย่างใด