วันนี้(24 ต.ค.62) ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการจัดพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธานและสักขีพยาน
การลงนามวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ 1. สัญญาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และ สัญญาที่ 2 บันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
ซีพี ยัน เข้าพื้นที่ก่อสร้างใน 1 ปี หลัง รฟท. ออก NTP เตรียมหาพันธมิตรระดมทุนเพิ่ม
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทฯเตรียมการไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพื่อร่วมประมูลโครงการนี้ หลังประมูลยาวนานกว่า 11 เดือน มีการเจรจาอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของสัญญาแนบท้ายมีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจน ยืนยันว่าจะสามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายใน 12 เดือน หรือ ไม่เกิน 24 เดือน หลังจากที่การรถไฟฯ มีการออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) โดยส่วนการแบ่งงานภายในกลุ่มพันธมิตร ยืนยันว่า แต่ละบริษัทมีความชำนาญในแต่ละด้านอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละพาร์ทเนอร์ถือว่ามีความเข้มแข็ง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าตัวเลขเงินทุนของแต่ละบริษัทจะเป็นสัดส่วนมากน้อยเพียงใด
ลงทุนมักกะสันกว่า 1.4 แสนล้าน
ส่วนการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน นายศุภชัย ระบุว่า ได้เตรียมแผนที่จะเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯไว้แล้ว โดยจะมีแผนการก่อสร้างโครงการบนสถานีเป็นเรียลเอสเตท ซึ่งจะออกแบบรองรับนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ โดยจะมีทั้งในส่วนของรีเทล โรงแรม รวมถึงศูนย์วิจัยทางการพัฒนารถไฟด้วย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาพื้นที่มักกะสันประมาณ 140,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในส่วนของแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการนี้ นายศุภชัย ระบุว่า จะเป็นเงินกู้จากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีทั้งจากจีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้จะมีการหาพันธมิตรเข้ามาเพิ่มเติมด้วย รวมถึงการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุนในอนาคตอีกด้วย แต่ในส่วนของซีพี จะถือหุ้นประมาณร้อยละ 51 เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินโครงการ
รฟท.ห่วงแผนส่งมอบพื้นที่ รอทุกอย่างพร้อมเปิดสัญญาแน่
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ในส่วนของการส่งมอบพื้นที่ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นหลังจากนี้ แต่ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้ได้ทันตามกรอบระยะเวลากำหนดทั้ง 3 ช่วง ตามที่ กพอ.อนุมัติก่อนหน้านี้
ส่วนรายละเอียดในร่างสัญญาที่ได้มีการลงนามในครั้งนี้ นายวรวุฒิ ระบุว่า มีขั้นตอนอยู่ ขอให้ใจเย็นๆ รอให้ คณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นผู้แถลงในรายละเอียด ยืนยันว่า ร่างสัญญาเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นไปตาม Request for Proposal (RFP) ที่เป็นสัญญาผู้จ้างกับผู้รับจ้างมีการระบุเอาไว้อย่างแน่นอน ส่วนแนวทางเวนคืนที่ดินคาดว่าจะนำเสนอ ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า